หัวหน้าพรรคคนไทย ชี้ ออก ม.44 เว้นบางมาตราใน พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว สะท้อนความสะเพร่าฝ่ายกฎหมาย - เนติบริกร ทำ คสช. ต้องขายขี้หน้าอีกครั้ง
วันนี้ (2 ก.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชะลอการบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 หลายมาตราที่เกี่ยวข้องการเอาผิดทั้งแรงงานและนายจ้าง รวมถึงบทลงโทษค่าปรับที่รุนแรง ออกไปอีก 120 วัน หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า เพียงไม่กี่วันที่กฎหมายออกมาได้ว่าสร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับผู้ประกอบการ และแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก จึงมีการใช้อำนาจมาตรา 44 หักล้างกฎหมายที่เพิ่งประกาศใช้ โดยอ้างว่าเพื่อให้ทุกฝ่ายปรับตัวนั้น สะท้อนว่า การเขียนและประกาศใช้ พ.ร.ก. ครั้งนี้ ขาดการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้าน เป็นการเขียนกฎหมายแบบคิดเองเออเอง จนทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ หรือเศรษฐกิจอย่างมากในเวลาเพียงไม่กี่วัน
นายอุเทน กล่าวต่อว่า เข้าใจดีที่รัฐบาลต้องเร่งออก พ.ร.ก. แรงงานต่างด้าว เพื่อหวังเอาใจทางสหรัฐอเมริกา ทั้งในการปรับสถานะประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ให้อยู่ในระดับที่ดีขึ้น หรือเพื่อภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก เพราะนายกฯไทยมีกำหนดการไปเยือนสหรัฐฯในเร็วๆ นี้ แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่า ทั้งในส่วนของรายงานค้ามนุษย์ก็ไม่ดีขึ้น เนื่องจากการประกาศใช้กฎหมายอย่างเร่งรีบ กระชั้นจนเกินไป จึงไม่มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว กลับมีผลกระทบในภาคธุรกิจ จนต้องใช้มาตรา 44 ซ้อนมาอีก กลายเป็นเล่นตลกให้นานาชาติหัวเราะ เมื่อเป็นเช่นนี้นายกฯก็ต้องเตรียมคำอธิบายในการเดินทางไปเยือนสหรัฐฯให้ดี ในเรื่องแนวนโยบาย และ พ.ร.ก. นี้ ที่สำคัญ เรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในยุค คสช. ทั้งการออกคำสั่ง คสช. ยกเลิกคำสั่ง คสช. เอง หรือการออกมาตรา 44 เพื่อล้มล้างเนื้อหาตัวบทกฎหมายที่ คสช. เป็นผู้บัญญัติขึ้นเอง กลับกลายเป็นว่าคนที่มีอำนาจและเวลาจนเหลือล้น กลับนำอำนาจเหล่านั้นที่มีผลกับประเทศ และคนส่วนรวมมาใช้ราวกับเป็นของเล่น หรือเครื่องทดลอง จึงต้องโทษทั้งคนให้นโยบาย และผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะพวกเนติบริกร พวกนักกฎหมายประเทศไทย ที่รับผิดชอบในการออกร่างและออกตัวบทกฎหมาย ที่ทำให้ คสช. ต้องขายหน้า เสื่อมศรัทธาอีกครั้ง
“อยากฝากถึงรัฐบาล คสช. รวมทั้งสภาตรายางอย่าง สนช. ว่า อย่าออกคำสั่ง หรือกฎหมาย อย่างไม่รอบคอบ และสะเพร่าแบบนี้อีก การกำหนดเวลาเริ่มใช้กฎหมายและรายละเอียดต่างๆ ควรคำนึงถึงผลกระทบของคนปฏิบัติบ้างว่า มีเวลาพอไหมและจะมีผลลัพธ์อย่างไร” นายอุเทน กล่าว