xs
xsm
sm
md
lg

รุมสับ“รถไฟไทย-จีน”เจ๊งชัวร์ “มาร์ค” ห่วงซ้ำรอย “โฮปเวลล์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน 360 - "สมคิด"ยันรถไฟไทย-จีน ไม่เสียประโยชน์ในแผ่นดินตัวเอง แจงแผนลงทุนรัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน “นักวิชาการจุฬาฯ” ชำแหละขาดยุทธศาสตร์-ไร้แผนงาน เชื่อมีแต่เจ๊งกับเจ๊ง “มาร์ค” ห่วงซ้ำรอย “โฮปเวลล์”

วานนี้ (22 มิ.ย.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช ในงานจัดงานสัมมนาผู้ลงทุนในตลาดทุนระดับนานาชาติ “Thailand’s Big Strategic Move” ที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ-โคราชเท่านั้น แต่ต้องการเชื่อมต่อไปกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road หรือโอบีโออาร์ ) ของจีน ซึ่งจะมีการเชื่อมต่อการขนส่งด้วยรถไฟไปถึงมาเลเซีย และต้องเชื่อมต่อกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งของอนุภูมิภาคด้วย ทั้งนี้ในความคิดรัฐบาลไม่ใช่แต่เชื่อมจีนแต่เราต้องการเชื่อมโลก พร้อมยืนยันว่า เนสไม่ได้ยกผลประโยชน์ให้กับจีนแต่อย่างใด โครงการที่เกิดขึ้นมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท สัดส่วน 4 หมื่นล้านบาท ที่ให้วิศวกรจีนเข้ามากำเนินการได้ เป็นงานระบบราง รวมทั้งการจ้างที่ปรึกษาและการออกแบบ ขณะมูลค่า 1.4 แสนล้านบาทจะให้คนไทยทำ ทั้งนี้ ที่ดินทั้งสองข้างก็ยังเป็นแผ่นดินไทย เราจะทำอะไรบนแผ่นดินเราก็ได้ จะให้ใครเข้ามาร่วมลงทุนก็ได้เพื่อที่สามารถที่จะพัฒนาพื้นที่ได้ในอนาคต

“รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจขับเคลื่อนโครงการนี้ให้ได้ เพราะอนาคตข้างหน้า การเชื่อมต่อในโครงการโอบีโออาร์ของจีนจะมีกว่า 30 ประเทศร่วม ถ้าไม่มีไทยเราจะพูดได้อย่างไรกว่าเป็นศูนย์กลางอาเซียน เป็นศูนย์กลางซีแอลเอ็มวีที ดังนั้น เราต้องชั่งระหว่างต้นทุนและกำไร” นายสมคิดกล่าว

** “เวทีจุฬาฯ” ชำแหละเละ

วันเดียวกัน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีจัดเวทีจุฬาฯเสวนา ครั้งที่ 7 เรื่อง รถไฟไทย-จีน : ใครได้ ใครเสีย โดยมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เป็นวิทยากร โดย นายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันการขนส่ง จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการนี้ใช้เงินจำนวนมาก การตัดสินใจจะต้องไม่ฉาบฉวย เพื่อสร้างภาพหรือกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้าเท่านั้น แล้วถ้าดูประวัติศาสตร์เรื่องรถไฟความเร็วสูงของเราคิดกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เริ่มจริงๆ สมัยปลายรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็มีการคุยกับจีน จนถัดมาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการพูดคุยตกลงกับจีน จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน เห็นได้ว่าโครงการนี้มีการสานต่อมา 3 รัฐบาล ซึ่งมีการเปลี่ยนสาระสำคัญของโครงการตลอดเวลา ปัญหาของเราคือ การมองรถไฟความเร็วสูง เรามองทีละโครงการ ยังไม่มีภาพบูรณาการทุกระบบที่กำลังทำด้วยกัน แล้วข่าวที่ออกมาสับสนไปหมด ซึ่งตามยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์ อย่าดูแยกส่วนกับโครงการอื่น เราพบว่าบนสายทางเดียวกัน อย่างกรุงเทพฯ-โคราช ที่ต้องทำแน่นอนคือ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง และเมื่อไม่นานรัฐบาลอนุมัติมอเตอร์เวย์ ทำให้เส้นทางนี้มีการทับซ้อน 3 โครงการ ถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ แล้วหลังจากลงจากรถไฟความเร็วสูงแล้ว เรายังต้องไปต่อรถขนส่งสาธารณะที่ต้องเชื่อมต่อกันอีก เป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ต้องมองทั้งหมด

ขณะที่ นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง จะต้องมีการระบุในสัญญา ต้องมีมิติด้านกฎหมาย สิ่งที่อยากจะฝากถ้ารถไฟความเร็วสูงจะเกิดขึ้นจริงๆ และมีสิ่งที่เราเรียกร้องคือ การทำสัญญากับจีนนั้นต้องมีความชัดเจน เนื่องจากระบบการปกครองเขาไม่เหมือนเรา สมมุติว่าเราทำสัญญาแล้วพอถึงเวลาเขาเปลี่ยนผู้นำท้องถิ่นคนใหม่เขาเปลี่ยนกฎใหม่ ไม่เอาของเดิมก็ได้ หรือที่เขาตีความออกมาแล้วไม่เหมือนกับเรา ดังนั้นการทำสัญญาต้องชัดเจนและลงรายละเอียดอย่างแม่นยำ ถ้าเกิดการเบี่ยงหรืออ้างว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องขอให้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อประชาคมโลก ก็อยากให้ทั้งรัฐบาลและนักวิชาการช่วยกัน ให้รู้เท่าทันจีน

ด้าน นางนวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า โครงการนี้มีข้อมูลค่อนข้างสับสน ทางเศรษฐศาสตร์โครงการนี้คุ้มค่าคุ้มทุนหรือเปล่าแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1.คุ้มค่าทางการเงินหรือเปล่า 2.คุ้มค่าคุ้มทุนทางเศรษฐกิจและสังคมหรือเปล่า หากมองโดยรวมแล้วอาจได้ประโยชน์มากกว่า เช่น ทางจิตใจ ทางสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมต่างๆ ถึงไม่คุ้มค่าทางการเงิน แต่เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำ ในการประเมินเหล่านี้ต้องประเมินที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน ที่ต้องมองตัวเงินด้วย สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อไหร่ที่ไม่มีความคุ้มค่าทางการเงินก็เสี่ยงจะเจ๊ง จะไม่ยั่งยืน อย่างเช่น แอร์พอร์ตลิงค์ เป็นต้น

''จากแผนงานเท่าที่ประกาศในปัจจุบัน มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง ไปถึงโคราชยังไม่ได้คิดว่าจะไปที่อื่นต่อยังไง ไม่มีระบบสาธารณะภายในท้องถิ่นรองรับเพิ่มเติม'' นางนวลน้อย ระบุ

** เตือนจะซ้ำรอย “โฮปเวลล์”

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกฯ กล่าวถึงกรณีการใช้ มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ว่า ในกรณีรถไฟไทยจีน ตนย้ำอีกครั้งว่า ที่ทำอยู่ขณะนี้ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ถ้าเราพูดถึงรถไฟไทยก็ต้องเร่งทำรถไฟรางคู่ลงทุนเพื่อการขนส่ง และโดยสารที่ดีขึ้น ซึ่งโครงการรถไฟไทย-จีนที่เริ่มในสมัยที่ตนเป็นรัฐบาล เป็นแนวคิดสร้างรถไฟภูมิภาค คือ จะวิ่งจากประเทศจีนตอนใต้ ไปถึงประเทศสิงคโปร์ แนวทางที่เหมาะสม คือ ให้ทุกฝ่ายทั้งประเทศจีน และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนร่วมทุน และร่วมรับผิดชอบบริหารด้วยกัน ไม่ใช่แค่ว่า เราอยากมีรถไฟ แล้วเอาใครก็ได้มาสร้าง เพราะว่า รถไฟต้องเชื่อมกันหมดทั้งภูมิภาค แต่ไม่ทราบเหตุใด รัฐบาลทำโครงการนี้เหมือนว่า เป็นของไทยโดยให้ต่างชาติมาสร้างจึงติดขัดทางข้อกฎหมาย ที่สำคัญ คือ การจัดซื้อจัดจ้างกลายเป็นว่า ไม่มีกฎกติกาใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากการพิจารณาตามดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

"ระยะทางแค่ 3.5 กิโลเมตร ที่บ้านกลางดง ถามว่าใครจะไปโดยสาร และยังไม่รู้ว่าจะเป็นแบบลอยฟ้าหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น