วิกฤตในตะวันออกกลางยังไม่คลี่คลาย มีสงครามยืดเยื้อในหลายพื้นที่ นอกจากยังห่างไกลจากสันติภาพแล้ว แววของความรุนแรง ความขัดแย้งจะมากกว่าเดิม โดยมีมหาอำนาจเข้ามาร่วมเล่นเกม โดยมุ่งหวังกอบโกยผลประโยชน์อย่างเต็มที่นั่นเอง
ขาใหญ่เจ้าประจำคือสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายหนึ่งมีพันธมิตรจากยุโรปและในตะวันออกกลางเป็นพวก แบ่งแยกด้วยเชื้อชาติและนิกายหลักของศาสนาอิสลามคือสุหนี่และชีอะห์ พร้อมทุกเมื่อในการฟาดฟันเข่นฆ่าด้วยอาวุธนอกคำสอนของศาสดา
สหรัฐฯ พร้อมตักตวงผลประโยชน์ทุกอย่างจากความขัดแย้ง สมกับคำประกาศของผู้นำ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” เพียงแต่ไม่บอกว่า “ใครจะเป็นจะตายก็ช่างหัวมัน” เป็นนักตกปลาในน้ำขุ่นอันดับหนึ่งของโลก ทำแบบไม่อายด้วย
ศีลธรรม จรรยา ในการเมืองระหว่างประเทศ การช่วงชิงผลประโยชน์ ทำให้สหรัฐฯ ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ ดังเช่นการขายอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียมูลค่ารวมกันมากถึง 110 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการสมประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
ซาอุดีอาระเบียยังมีเงินดอลลาร์สหรัฐจากการขายน้ำมันอยู่มาก ไม่อยากให้เสียเปล่าเพราะเงินดอลลาร์ถูกพิมพ์ออกมาตามความต้องการของสหรัฐฯ ไม่มีอะไรหนุน ถ้ามีวิกฤตด้านเศรษฐกิจ ดอลลาร์อาจมีปัญหาค่าเงินก็ได้ จีนก็ใช้แต่เงินหยวน
การได้อาวุธทันสมัยจากสหรัฐฯ ถือว่าเป็นความจำเป็น ส่วนหนึ่งถูกใช้ไปในสงครามรุกรานเยเมน เพื่อนบ้านตอนใต้ สิ้นเปลืองไปไม่น้อย ดังนั้นจึงต้องซื้อเพิ่มเติมด้วยอาวุธรุ่นใหม่ หลังจากโละของเก่าในคลังอาวุธในสงครามกับเยเมนแล้ว
สหรัฐฯ ก็ได้สมประโยชน์ ได้ขายอาวุธล็อตใหญ่ให้ซาอุฯ ซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรสำคัญ และเมื่อซาอุฯ มีท่าทีเป็นมิตรกับอิสราเอลมากกว่าที่เป็นอยู่ก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯ เห็นความสำคัญของซาอุฯ แม้จะเป็นเผด็จการ ไร้ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนก็ตาม
การขายอาวุธได้เงินกว่า 1 แสนล้านเหรียญ เท่ากับว่าสหรัฐฯ ได้เงินก้อนใหญ่จากสินค้าส่งออก แต่เป็นอาวุธแทนสินค้าทั่วไป เป็นเงินมาเสริมพลังด้านการเงินและประสบผลสำเร็จในการขายอาวุธในตลาดโลก แย่งชิงสัดส่วนการตลาดจากคู่แข่ง
แม้ซาอุฯ จะเป็นหัวหอกของประเทศในบริเวณอ่าวเปอร์เซียในการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและด้านอื่นๆ กับกาตาร์ สหรัฐฯ ก็ยังตักตวงผลประโยชน์จากการขายเครื่องบินรบให้กาตาร์มูลค่ากว่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำโดยไม่รู้สึกอาย
สหรัฐฯ เองเป็นต้นตอที่ทำให้ซาอุฯ และพวกตัดสัมพันธ์กับกาตาร์ แถมให้ท้ายซาอุฯ ไม่ไยดีต่อคำขอของกาตาร์ให้พิจารณาผ่อนปรนหรือเจรจาปรองดอง ทำให้กาตาร์ต้องหันไปหารัสเซีย ผูกมิตรสัมพันธ์กับอิหร่าน ตุรกี ซึ่งแบ่งค่ายภายใต้รัสเซีย
เมื่อซาอุฯ เป็นหัวโจกของกลุ่มประเทศในย่านอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐฯ ก็ยิ่งชอบเมื่อซาอุฯ ตั้งป้อมเป็นปฏิปักษ์กับอิหร่าน ซึ่งนับถือนิกายชีอะห์และสนับสนุนกบฏฮูตีในเยเมน ทำให้การสู้รบเข้าสู่บทโหดเหี้ยม เยเมนอยู่ในสภาพบ้านแตกคนอดอยาก
ล่าสุด สหรัฐฯ เร่งกระชับความสัมพันธ์กับซาอุฯ ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม เมื่อราชวงศ์ผู้ปกครองประเทศได้ประกาศเปลี่ยนตัวรัชทายาทจากหลานของกษัตริย์องค์ปัจจุบันเป็นลูกชายของตนเอง สร้างความประหลาดใจให้คนซาอุฯ ในความพลิกผัน
แน่นอน เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ กษัตริย์ ซัลมาน บิน อับดุล อาซิส ได้ตัดสินพระทัยเลือกราชบุตรคือ เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ปัจจุบันอายุเพียง 31 ปี ให้เป็นองค์รัชทายาทผู้จะสืบทอดตำแหน่งกษัตริย์เมื่อถึงวาระ
ขณะนี้รัชทายาท บิน ซัลมาน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และเป็นผู้รับผิดชอบในการทำสงครามในเยเมน นอกเหนือจากบทบาทสำคัญด้านอื่นๆ ก่อนที่กษัตริย์ซัลมานได้ประกาศเปลี่ยนแปลงองค์รัชทายาท
ความพลิกผันได้สร้างความพิศวงต่อคนที่เฝ้าติดตามความเป็นไปในราชวงศ์ของซาอุฯ เพราะการเปลี่ยนตัวรัชทายาทจากหลาน คือ โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ มาเป็นราชบุตรย่อมสร้างความคาดหมายในบทบาทและนโยบายของประเทศซาอุฯ
โมฮัมเหม็ด บิน นาเยฟ วัย 57 ปี ไม่ได้เสียเฉพาะสถานภาพองค์รัชทายาท แต่ยังต้องเสียสิทธิผลประโยชน์ต่างๆ ไปพร้อมกับตำแหน่งด้วย ทั้งยังต้องแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อรัชทายาทองค์ใหม่ซึ่งมาแทนตัวเองด้วย แต่ก็ไม่แสดงอาการ
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้เคยเดินทางไปพบประธานาธิบดีทรัมป์ที่ทำเนียบขาวก่อนหน้านี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญในราชวงศ์ซาอุฯ เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม จึงต้องมีท่าทีแข็งกร้าวกับอิหร่าน เยเมน และกาตาร์
นี่จะเป็นทิศทางใหม่ของซาอุฯ เมื่อผู้จะมาเป็นกษัตริย์มีแนวนโยบายอย่างนี้ สหรัฐฯ ก็ต้องเฝ้าระวังรักษาความสัมพันธ์อย่างดี เมื่อเป็นอย่างนี้โอกาสที่กาตาร์จะได้คืนดีกับกลุ่มที่ไม่ยอมคบด้วยขณะนี้จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเสียแล้ว รวมทั้งอิหร่านเช่นกัน
ว่าที่กษัตริย์จะยังคงท่าทีแข็งกร้าวกับอิหร่าน และยิ่งไม่มีผู้มีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ คอยเหนี่ยวรั้งไว้ ย่อมทำให้เร่งแสดงออกถึงความพร้อมในการเป็นผู้นำ อายุเพียง 31 ปี จะอยู่ในสภาพถูกกดดันโดยวิกฤตในภูมิภาคแน่นอน
เป็นที่คาดหมายว่ารัชทายาท บิน ซัลมานจะมุ่งปรับภาคเศรษฐกิจของซาอุฯ ให้ทันสมัย ลดการพึ่งพาน้ำมันเป็นรายได้หลักของประเทศ แต่ยังคงยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยและให้สตรีมีสิทธิมากกว่าเดิม รวมทั้งการขับรถยนต์