xs
xsm
sm
md
lg

ศาสตร์พระราชาแห่งวิทยาการข้อมูล

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


วิทยาการข้อมูล (Data science) เป็นศาสตร์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ โดยเป็นบูรณาการแห่งสถิติศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ และความรู้ในศาสตร์อื่นๆ เพื่อนำข้อมูลมาสร้างองค์ความรู้ที่นำไปสู่การปฏิบัติหรือนโยบายในศาสตร์สาขานั้นๆ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ และทรงใช้ข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำมาสู่การพัฒนาประเทศทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามเป็นพระราชปณิธานสูงสุดตลอดรัชสมัย

หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าทรงให้ความสำคัญกับข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ อดีตองคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เขียนไว้ในบทความ “พระมหากษัตริย์นักคิด...นักปฏิบัติเพื่อความสุขของประชาชน” ความว่า

“ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า “ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร” เป็นที่ประจักษ์ว่าทรงมองการเป็นพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องของงาน เป็นพระราชภาระ ที่จะสนองความต้องการของราษฎร เพื่อราษฎรจะได้ดำรงชีวิต อย่างมีความสุขและการที่จะทรงงานให้ได้ผลตรงเป้าหมายได้นั้น ต้องทราบว่าประชาชนต้องการอะไร” (จาก สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, 2556, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับคณะองคมนตรี, กรุงเทพ: บริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด. หน้า179)

ทรงให้ความสำคัญกับสถิติศาสตร์ในฐานะของศาสตร์ที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ เมื่อเจ็ดสิบปีก่อน มีพระมหากษัตริย์หนุ่มพระองค์หนึ่งซึ่งไม่ได้มีพระประสงค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ แต่การเสด็จสวรรคตของพระเชษฐาธิราชทำให้ พระอนุชาพระองค์น้อย ซุกซน มีชีวิต ชีวา สนุกสนาน สะพายกล้องตามพี่ชายตลอดเวลากลับต้องขึ้นมาเป็นยุวกษัตริย์ จากเจ้าฟ้าผู้ทรงร่าเริงเมื่อต้องทรงรับพระราชภาระอันหนักอึ้งทำให้ต้องทรงเตรียมพระองค์มากมาย ทรงเคร่งขรีม เอาจริงเอาจัง ทำให้ต้องทรงเปลี่ยนแผนการเรียนที่มหาวิทยาลัยโลซานน์จากนักศึกษาวิทยาศาสตร์มาทรงพระอักษรวิชารัฐศาสตร์แทนเพื่อเตรียมพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ความจำเป็นในการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ทรงงานอย่างหนัก เอาจริงเอาจัง ศึกษาหาความรู้อย่างหนักและพระปรีชาสามารถในศิลปวิทยาการต่างๆ ได้ปรากฏชัดในการพัฒนาประเทศในภายหลังการเสด็จกลับนิวัติพระนครหลังทรงสำเร็จการศึกษาได้ทรงงานอย่างหนักโดยเฉพาะการเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นธุรกันดาร ตลอดรัชสมัยแห่งการทรงงานเป็นการทรงงานบนหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา

เมื่อเสด็จต่างจังหวัด ทรงใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลล่วงหน้าก่อนเสด็จพระราชดำเนิน ทรงถือแผนที่ในพระหัตถ์ แทบจะตลอดเวลา ทำให้ทรงทราบข้อมูลของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยเป็นอย่างดี ทรงถ่ายรูป และหลายครั้งทรงแก้ไขข้อมูลบนแผนที่ที่ทำไว้ไม่ถูกต้อง เมื่อเสด็จประทับบนเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งก็ทรงทอดพระเนตรและตรวจสอบ หากไม่ถูกต้องจะทรงส่งข้อมูลให้หน่วยราชการเช่น กรมแผนที่ทหารไปดำเนินการแก้ไข ในทางสถิติศาสตร์นั้นการทำความสะอาดข้อมูล (Data cleaning) มีความจำเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงทำเช่นนั้นมาโดยตลอด เช่น ทรงสอบถามความถูกต้องของแผนที่กับพระสหายแห่งสายบุรีเมื่อเสด็จพรุแฆแฆ ที่ปัตตานี เป็นต้น บรรดานักสถิติต่างทราบกันดีว่าเมื่อใส่ข้อมูลที่ไม่สะอาดเข้าไป วิเคราะห์ดีใช้แบบจำลองดีอย่างไรก็ได้แบบจำลองขยะออกมาเช่น (Garbage-in, Garbage out (GIGO) model)

เมื่อประเทศไทยเริ่มเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ซึ่งเมื่อเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ประเทศไทยยังไม่มีระบบสถิติทางการ (Official Statistics) ที่ดีเพียงพอ การเขียนแผนดังกล่าวจึงอาศัยวิจารณญาณและมโนของผู้เชี่ยวชาญเอง เมื่อนำแผนพัฒนาดังกล่าวถวายให้ทอดพระเนตร ไม่ทรงโปรดเลย และทรงดำริที่จะพัฒนาระบบสถิติให้กับประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำริว่าประเทศต้องมีการบริหารการพัฒนา ต้องใช้ข้อมูลสถิติในการวางแผนพัฒนาประเทศ ต้องเอาสถิติมาไว้ใช้ประเมินผล วิเคราะห์นโยบาย กำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับวิชาสถิติเพื่อนำความรู้วิชาสถิติไปเป็นพื้นฐานในการวางแผนและการพัฒนาประเทศ โดยทรงสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยที่สำนักงานสถิติกลาง ได้แยกส่วนราชการออกจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ สังกัดอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2506 ทรงตราพระราชบัญญัติสถิติ พุทธศักราช 2508

ต่อมาทรงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาบุคลากรด้านสถิติและสถิติศาสตร์ศึกษา (Statistical Education) ไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้วงวิชาการสถิติมีความเข้มแข็งทางวิชาการ ดังที่ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ท่านแรกได้บันทึกไว้ว่า

“เวลานั้นประเทศไทยกำลังตื่นตัวที่จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานดำริแก่ประธานกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ คือ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ (ประธานองคมนตรีในขณะนั้น—ผู้เขียน) ม.ล. เดช ท่านก็บอกผมว่าในหลวงมีพระราชดำริ ในการพัฒนานั้นต้องใช้ข้อมูล ใช้สถิติมาก และถ้ามีการตั้งสถาบันขึ้นมาสอนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นการให้วิชาในการสร้างคนเตรียมไว้เพื่อจะส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเมืองเป็นไปได้ดีเร็วขึ้น”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นธุระในการติดต่อกับ Dr. David Rockefeller จาก Rockefeller Foundation ด้วยพระองค์เอง โดยทรงขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ (Dr. Stacey May) จากสหรัฐอเมริกามาช่วยพัฒนาบุคลากรทางสถิติและระบบสถิติในสำนักงานสถิติแห่งชาติ พร้อมกับให้มาช่วยจัดตั้งคณะสถิติประยุกต์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (ทั้งนี้หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกที่ทรงติดต่อกับ Dr. John D. Rockefeller บิดาของ Dr. David Rockefeller ด้วยพระองค์เองเพื่อให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์มาพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษา (Medical Education) ในประเทศไทย ซึ่งทาง Dr. John D. Rockefeller ได้ส่ง Dr. Aller G. Ellis มาสอนที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและต่อมา Dr. Aller G. Ellis ได้เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านที่สามด้วย)

ในส่วนของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่พระทัยในกิจการสำมะโน (Census) ประชากรเป็นอย่างยิ่ง ทรงเห็นคุณค่าของการใช้ข้อมูลจากการสำมะโนเพื่อวางแผนและประเมินผลการพัฒนาประเทศเป็นอย่างดี และทรงรับเป็นธุระใส่ใจในรายละเอียดของการทำสำมะโนประชากรโดยโปรดเกล้าให้ข้าราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานพระราชดำริและคำแนะนำต่างๆ ในการสำมะโนประชากรมาโดยตลอด เช่น เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2523 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 8 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และเมื่อวันพุธที่ 19 เมษายน 2543 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 10 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

ที่น่าประทับใจที่สุดคือ ทรงให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามสำหรับการสำมะโนประชากรด้วย ทั้งๆ ที่คนทั่วไปที่อยู่ในย่านหรูหรา โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมราคาแพงในกรุงเทพมหานคร กลับไม่ให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามของสำนักงานสถิติแห่งชาติเท่าที่ควร แต่พระเจ้าแผ่นดินของไทยกลับทรงสละเวลาตอบแบบสอบถามเหล่านี้ ด้วยทรงเห็นความสำคัญยิ่งของระบบสถิติในการพัฒนาประเทศ

ในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทรงใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ทในการค้นคว้าหาข้อมูลอย่างผู้เชี่ยวชาญ ทรงประดิษฐ์ฟอนต์ไทยและตัวอักษรเทวนาครีให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสใช้ ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างลึกซึ้ง ทรงวาด infographic อธิบายการทำฝนหลวง และทรงปรุงการ์ด สคส. อวยพรปีใหม่พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยต่อเนื่องมาทุกปี

โครงการพระราชดำริกว่าสี่พันโครงการนั้นอาศัยการวิเคราะห์และการวิจัย ใช้ความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลอย่างเต็มเปี่ยมเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่มั่นใจว่าได้ผลก่อนที่จะนำไปปฏิบัติจริง โครงการพระราชดำริโครงการหนึ่งที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและการวิจัยมากที่สุดโครงการหนึ่งคือโครงการหลวง (Royal Project) โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกพืชเมืองหนาวและการเลี้ยงสัตว์จากเมืองหนาวเช่นปลาเทราท์ มีการจัดตั้งสถานีวิจัยโครงการหลวง และสถานีเกษตรหลวงมากมาย การค้นคว้าวิจัยดังกล่าว รวมไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการวิจัยตลาด ผลสำเร็จจากการวิจัยทำให้โครงการหลวงมีความก้าวหน้ามาก ทำให้แก้ปัญหาการปลูกฝิ่นและการทำไร่เลื่อนลอยบนพื้นที่สูง ทำให้คนไทยได้บริโภคสินค้าคุณภาพสูงและทดแทนการนำเข้าได้มหาศาล

พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แตกต่างจากพระราชวังของพระมหากษัตริย์อื่นๆ ทั่วโลก สวนจิตรลดาเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งขึ้น มีทั้งการเลี้ยงโคนม ทำนา ปลูกต้นยางนา ปลูกป่า ทดลองทำโรงสี ทดลองทำนมผงอัดเม็ด ผลิตถ่านชีวภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ทรงทดลองจนกว่าจะทรงมั่นพระทัยว่าได้ผลดีจริง นำไปใช้งานได้จริง จึงทรงเผยแพร่ต่อไป ความใส่พระทัยในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ นั้นแสดงให้เห็นเด่นชัดตลอดพระชนม์ชีพ บางโครงการทดลองใช้เวลาทดลองยาวนานสิบสามถึงสิบสี่ ปี เพื่อให้มั่นใจว่าทำแล้วได้ผลจริง เช่น การทำฝนหลวงหรือฝนเทียมก่อนที่จะนำไปสร้างต้นแบบหรือขยายผลให้ความรู้แก่ประชาชนที่จะทำต่อเองได้ ทรงต้องมั่นใจผลของการทดลองว่าได้ผลจริงก่อนเผยแพร่หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประชาชน

ศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับ คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ Data Science Thailand ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ โดยการจัดการสัมมนาเฉลิมพระเกียรติในหัวข้อ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับสถิติศาสตร์ สถิติศาสตร์ศึกษา และ วิทยาการข้อมูล” ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถนนเสรีไทย บางกะปิ กรุงเทพ วันที่ 27 มิถุนายน 2560 ในเวลา 09.00 – 12.00 น. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีวิทยากรและหัวข้อการบรรยายจากวิทยากรที่เคยทำงานถวายและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านดังนี้

“การใช้ข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” โดย คุณสุวัฒน์ เทพอารักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

“แกล้งดิน ข้อมูลจากการทดลองของพระราชาเพื่อประชาชน” โดย ดร.พิสุทธิ์ วิจารสรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิน สำนักผู้เชี่ยวชาญดิน กรมพัฒนาที่ดิน และที่ปรึกษามูลนิธิชัยพัฒนา

“ข้อมูล จส.100 กับการทรงงานด้านจราจรและน้ำท่วมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” โดย คุณหญิงสุวิมล ผึ่งประเสริฐ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทแปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น และสถานีวิทยุ จส.100

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้แผนที่อย่างไร” โดย พล.ต.กฤษณ์ บัณฑิต รองเจ้ากรมแผนที่ทหาร

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับวงวิชาการสถิติศาสตร์และสถิติศาสตร์ศึกษา”โดย อ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ผู้อานวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

ทั้งหมดนี้เป็นงานที่เปิดให้กับบุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (Walk-In ลงทะเบียนหน้างานได้เลย) ครูอาจารย์สามารถนำนักเรียนนักศึกษามาร่วมฟังเป็นหมู่คณะได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://as.nida.ac.th/gsas/news-events-highlights/2nd-nida-business-analytics-data-sciences/ สำหรับงาน the second NIDA Business Analytics and Data Science Contest/Conference. ซึ่งจะจัดต่อในภาคบ่ายของวันที่ 27 และในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ทั้งวัน

กำลังโหลดความคิดเห็น