xs
xsm
sm
md
lg

วิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชต่อวงวิชาการสถิติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อเจ็ดสิบปีก่อน มีพระมหากษัตริย์หนุ่มพระองค์หนึ่งซึ่งไม่ได้มีพระประสงค์จะเป็นพระมหากษัตริย์ แต่การเสด็จสวรรคตของพระเชษฐาธิราชทำให้ พระอนุชาพระองค์น้อย ซุกซน มีชีวิต ชีวา สนุกสนาน สะพายกล้องตามพี่ชายตลอดเวลากลับต้องขึ้นมาเป็นยุวกษัตริย์ จากเจ้าฟ้าผู้ทรงร่าเริงเมื่อต้องทรงรับพระราชภาระอันหนักอึ้งทำให้ต้องทรงเตรียมพระองค์มากมาย ทรงเคร่งขรีม เอาจริงเอาจัง ทำให้ต้องทรงเปลี่ยนแผนการเรียนที่มหาวิทยาลัยโลซานน์จากนักศึกษาวิทยาศาสตร์มาทรงพระอักษรวิชารัฐศาสตร์แทนเพื่อเตรียมพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ความจำเป็นในการเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทำให้ทรงงานอย่างหนัก เอาจริงเอาจัง ศึกษาหาความรู้อย่างหนักและพระปรีชาสามารถในศิลปวิทยาการต่างๆ ได้ปรากฏชัดในการพัฒนาประเทศในภายหลัง

การเสด็จกลับนิวัติพระนครหลังทรงสำเร็จการศึกษาได้ทรงงานอย่างหนักโดยเฉพาะการเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นธุรกันดาร ทำให้ทรงทราบข้อมูลของพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยเป็นอย่างดี ทรงถ่ายรูป ทรงถือแผนที่ในพระหัตถ์ หลายครั้งทรงแก้ไขข้อมูลบนแผนที่ที่ทำไว้ไม่ถูกต้อง

เมื่อประเทศไทยเริ่มเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชดำริว่าประเทศต้องมีการบริหารการพัฒนา ต้องใช้ข้อมูลสถิติในการวางแผนพัฒนาประเทศ ต้องเอาสถิติมาไว้ใช้ประเมินผล วิเคราะห์นโยบาย กำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับวิชาสถิติเพื่อนำความรู้วิชาสถิติไปเป็นพื้นฐานในการวางแผนและการพัฒนาประเทศ โดยทรงสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยที่สำนักงานสถิติกลาง ได้แยกส่วนราชการออกจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ สังกัดอยู่ในสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2506 ทรงตราพระราชบัญญัติสถิติ พุทธศักราช 2508

ต่อมาทรงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาบุคลากรด้านสถิติและสถิติศาสตร์ศึกษา (Statistical Education) ไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้วงวิชาการสถิติมีความเข้มแข็งทางวิชาการ ดังที่ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ท่านแรกได้บันทึกไว้ว่า

“เวลานั้นประเทศไทยกำลังตื่นตัวที่จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานดำริแก่ประธานกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ คือ ม.ล.เดช สนิทวงศ์ (ประธานองคมนตรีในขณะนั้น—ผู้เขียน) ม.ล. เดช ท่านก็บอกผมว่าในหลวงมีพระราชดำริ ในการพัฒนานั้นต้องใช้ข้อมูล ใช้สถิติมาก และถ้ามีการตั้งสถาบันขึ้นมาสอนวิชาเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เน้นการให้วิชาในการสร้างคนเตรียมไว้เพื่อจะส่งเสริมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การเมืองเป็นไปได้ดีเร็วขึ้น”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นธุระในการติดต่อกับ Dr. David Rockefeller จาก Rockefeller Foundation ด้วยพระองค์เอง โดยทรงขอให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติ (Dr. Stacey May) จากสหรัฐอเมริกามาช่วยพัฒนาบุคลากรทางสถิติและระบบสถิติในสำนักงานสถิติแห่งชาติ พร้อมกับให้มาช่วยจัดตั้งคณะสถิติประยุกต์ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (ทั้งนี้หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนกที่ทรงติดต่อกับ Dr. John D. Rockefeller บิดาของ Dr. David Rockefeller ด้วยพระองค์เองเพื่อให้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์มาพัฒนาแพทยศาสตร์ศึกษา (Medical Education) ในประเทศไทย ซึ่งทาง Dr. John D. Rockefeller ได้ส่ง Dr. Aller G. Ellis มาสอนที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและต่อมา Dr. Aller G. Ellis ได้เป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านที่สามด้วย)

ทั้งนี้สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (National Institute of Development Administration) สถาบันระดับบัณฑิตศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2509 ด้วยความช่วยเหลือจาก กรมวิเทศสหการ มูลนิธิฟอร์ด และ Midwest University Consortium for International Affairs (MUCIA) โดยโอนคณะรัฐประศาสนศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานฝึกอบรมส่วนหนึ่งของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และงานสอนระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยการสถิติปฏิบัติและงานอบรมทางด้านสถิติศาสตร์ของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาสังกัดสำนักงานสถิติแห่งชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งของคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA เคยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาสถิติซึ่งขาดแคลนแสนสาหัสในสมัยนั้น ก่อนจะเลิกไปในภายหลัง เหลือแต่ระดับปริญญาโทและเอก)

การเรียนการสอนคณะสถิติประยุกต์ ในระยะแรกเรียนในบริเวณ บ้านสุริยานุวัตรของ มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) ผู้แต่งตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของประเทศไทยชื่อทรัพยศาสตร์ และในขณะนั้นเป็นที่ตั้งของสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ซึ่งต่อมาแยกมาเป็นสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในบริเวณสะพานขาว

คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อาจจะเป็นคณะเดียวในประเทศไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระราชธุระในการติดต่อเพื่อก่อตั้งด้วยพระองค์เอง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่วงวิชาการสถิติศาสตร์ในประเทศไทย ความห่วงใยในสถิติศาสตร์ศึกษา (Statistical Education) นั้นเป็นสิ่งที่คณาจารย์ในคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ต่างทราบกันดีว่าอยู่ในสายพระเนตรเสมอมา ทั้งนี้พระราชดำริเรื่องการประยุกต์ใช้สถิติศาสตร์ในการวิเคราะห์/ประเมินโครงการเพื่อการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและประเทศชาตินั้นคงฝังแน่นในพระราชหฤทัยดังที่ได้ทรงมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2513 ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ความว่า “…เดิมทีเดียวข้าพเจ้าตั้งข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไว้ว่า ในการทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่างๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ…”

ในส่วนของสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงใส่พระทัยในกิจการสำมะโน (Census) ประชากรเป็นอย่างยิ่ง ทรงเห็นคุณค่าของการใช้ข้อมูลจากการสำมะโนเพื่อวางแผนและประเมินผลการพัฒนาประเทศเป็นอย่างดี และทรงรับเป็นธุระใส่ใจในรายละเอียดของการทำสำมะโนประชากรโดยโปรดเกล้าให้ข้าราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานพระราชดำริและคำแนะนำต่างๆ ในการสำมะโนประชากรมาโดยตลอด เช่น เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2523 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 8 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 9 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และเมื่อวันพุธที่ 19 เมษายน 2543 โปรดให้เข้าเฝ้ารายงานผลการสำมะโนครั้งที่ 10 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น

เมื่อไม่นานมานี้ คณาจารยมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวและข้าราชการสำนักงานสถิติแห่งชาติของลาว ได้เดินทางมาที่คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เพื่อขอความช่วยเหลือและความร่วมมือทางวิชาการด้านสถิติศาสตร์ เนื่องจากทางธนาคารโลกเล็งเห็นความจำเป็นที่ประเทศลาวต้องมีการพัฒนาระบบสถิติของประเทศและพัฒนาสถิติศาสตร์ศึกษาไปด้วยในเวลาเดียวกัน ทางลาวนั้นทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อวงวิชาการสถิติและสถิติศาสตร์ศึกษาจึงได้เดินทางมาที่คณะตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พวกเราได้แต่นึกในใจว่าถ้าหากไม่มียุวกษัตริย์หนุ่มเมื่อห้าสิบปีก่อนนั้นประเทศไทยเราจะพัฒนาไปทางไหน พระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์กว้างใกลก่อนกาลเวลามากเหลือเกิน คณาจารย์และข้าราชการลาวกล่าวว่าประเทศไทยโชคดีเหลือเกินที่มีพระเจ้าอยู่หัว ทำไมถึงทรงเห็นการณ์ไกลเช่นนี้หนอ เราเองก็คิดเช่นเดียวกับคณาจารย์และข้าราชการลาว

ทางคณะได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวและได้ส่งผมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.กาญจ์นภา อมรัชกุล ไปเป็นวิทยากรอบรมคณาจารย์ผู้สอนสถิติที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เป็นเวลาห้าวัน โดยทางการบินไทยได้สนับสนุนการเดินทาง ในอนาคตอันใกล้มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์คงได้ร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อเฉลิมพระเกียรติและสนองคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเพื่อให้สมดังที่ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2513 ความว่า

“ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่ามีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย ที่จะได้อาศัยความรู้ ความคิด สติปัญญาและความสามารถ ในอันที่จะนำพาประเทศชาติให้ก้าวไปสู่ความมั่นคงและความสมบูรณ์พูนสุข ขอให้ท่านรับหน้าที่อันมีเกียรตินี้ด้วยความมั่นใจ ตั้งใจและบริสุทธิ์ใจ แล้วร่วมกันปฏิบัติหน้าที่น้อยใหญ่ให้ลุล่วงไปด้วยความขยันหมั่นเพียร และด้วยความสุจริตเที่ยงตรง ทั้งต่อตนเองและประชาชน”
กำลังโหลดความคิดเห็น