xs
xsm
sm
md
lg

ธุระหมดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2526 หลวงปู่กำลังอาพาธหนัก พักรักษาอยู่ที่ห้องพระราชทาน ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลวงปู่สาม อกิญจโน เดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่ ถึงห้องพยาบาลขณะนั้น หลวงปู่กำลังนอนพักผ่อนอยู่ เมื่อหลวงปู่สามขยับไปนั่งใกล้ชิดแล้วก็ยกมือไหว้ หลวงปู่ก็ยกมือรับไหว้แล้วต่างคนต่างก็นั่งอยู่เฉย ตลอดระยะเวลานาน เมื่อสมควรแก่เวลาอย่างยิ่งแล้ว หลวงปู่สามประนมมืออีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับจำนรรจาว่า “กระผมกลับก่อน” หลวงปู่ว่า “อือ” ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง ได้ยินเพียงแค่นี้เอง

เมื่อหลวงปู่สามกลับไปแล้ว อดที่จะถามไม่ได้ว่า “หลวงปู่สามอุตส่าห์มานั่งตั้งนาน ทำไมหลวงปู่จึงไม่สนทนาพูดอะไรกับท่านบ้าง” หลวงปู่ตอบว่า “ธุระมันหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอะไร”

“ที่มา : หลวงปู่ฝากไว้ โดย พระราชวรคุณ วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ บันทึก)

ธุระหมดแล้ว

หนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” อ่านทีไรก็เห็นที่นั้น เห็นสมมติ และเห็นวิมุตติ โดยเฉพาะเรื่อง “ธุระมันหมดแล้ว” หลวงปู่ทั้งสองเจอกันด้วยอาการเงียบสงบ ก็เพราะท่านหมดแล้วซึ่งธุระหน้าที่ หรือสมมติบัญญัตินั่นเอง พวกเราพอเห็นพอกระทบก็ปรุงแต่งต่อเลย อยากให้ท่านเล่นสมมติอย่างที่เราเล่นกัน

ดูหลวงปู่ทั้งสองแล้ว ก็ย้อนมองดูตัวเอง...เวลาฉันไปไหนมาไหน คนที่รู้จักมักจะถามในทำนองว่า...ทำไมทุกวันนี้ไม่ค่อยพูด หรือไม่พูดเอาเสียเลย ฉันก็ตอบไปสั้นๆ ว่า “อือ” และก็คิดในใจว่า หากกรูพูดไป (ตามความจริง) มรึงจะรับไหวไหม หรือจะพูดไปตามมารยาทก็ได้อยู่ แต่ฉันก็ไม่อยากโกหกตัวเอง ดังนั้น ไม่พูดดีกว่า แค่ออกเสียว่า... “อือ” ก็น่าจะพอแล้ว

จากการสังเกตหลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงตา ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหลาย ท่านก็ไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว ท่านหมดแล้ว ท่านหยุดแล้ว เราทั้งหลายก็น่าจะเอาอย่างท่าน จิตจะได้รับการพัฒนาหรือออกกำลัง... “ออกกำลังกาย-กายเคลื่อนไหว...ออกกำลังใจ-ใจหยุดนิ่ง” อยากให้ใจแข็งแรง ใจมีพลัง ก็ด้วยความสงบหรือหยุดคิดนั่นแล

ดั่งแก้วกระจก

“แก้ว” หมายถึงพระรัตนตรัย หรือไตรรัตน์ หรือแก้ว 3 ประการได้แก่...พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ไตรรัตน์เหมือนกระจกเงา

“บนบานกระจก ยามวัตถุมาเกิดภาพ ยามวัตถุไปภาพก็หาย ซึ่งกระจกจะไม่มีการยึดหรือละต่อภาวะที่ไปหรือมาแต่อย่างใด โดยกระจกก็ยังคงเป็นกระจก อันเหมือนดั่งตถตาภาพแห่งเรา ที่ยังคงเป็นดั่งที่เป็นอยู่ โดยหาได้ผกผันไปตามภาวะที่ประสบไม่”

ผู้ใดที่ทำตัวเหมือนกระจกเงา นั่นแหละผู้ตื่นรู้ ย่อมไม่หวั่นไหวในสมมติทั้งปวง

หยุดทวาร 6 คือทางรับรู้อารมณ์ได้แก่ อายตนะภายใน 6 คือ...

1. จักขุทวาร (ทวารคือตา)

2. โสตทวาร (ทวารคือหู)

3. ฆานทวาร (ทวารคือจมูก)

4. ชิวหาทวาร (ทวารคือลิ้น)

5. กายทวาร (ทวารคือกาย)

6. มโนทวาร (ทวารคือใจ)

ทวาร 6 หรืออายตนะภายใน 6 เรียกอีกอย่างว่า “อินทรีย์ 6” เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตนแต่ละอย่างเช่น จักขุ เป็นเจ้าแห่งการเห็น เป็นต้น

อินทรีย์ 6 คือแดนต่อความรู้ภายใน ซึ่งต่อความรู้มาจากภายนอก คืออายตนะภายนอก หรือ “อารมณ์ 6” ได้แก่...รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

(โผฏฐัพพะ คือสัมผัสทางกาย หรือสิ่งที่ถูกต้องกาย, ธรรมหรือธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่เกิดกับใจ หรือสิ่งที่ใจนึกคิด)

วิญญาณ 6 คือความรู้อารมณ์ได้แก่...ความรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ

3 อันกระทบกันมีอินทรีย์ อารมณ์ วิญญาณ เราเรียกว่า สัมผัส หรือผัสสะ

สัมผัสหรือผัสสะ 6 คือความกระทบ หรือความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ได้แก่...

1. จักขุสัมผัส (ความกระทบทางตา) คือ ตา+รูป+จักขุวิญญาณ

2. โสตสัมผัส (ความกระทบทางหู) คือ หู+เสียง+โสตวิญญาณ

3. ฆานสัมผัส (ความกระทบทางจมูก) คือ จมูก+กลิ่น+ฆานวิญญาณ

4. ชิวหาสัมผัส (ความกระทบทางลิ้น) คือ ลิ้น+รส+ชิวหาวิญญาณ

5. กายสัมผัส (ความกระทบทางกาย) คือ กาย+โผฏฐัพพะ+กายวิญญาณ

6. มโนสัมผัส (ความกระทบทางใจ) คือ ใจ+ธรรมารมณ์+มโนวิญญาณ

ล้อผัสสะ...ฉันคิดเขียนเพื่อให้จำง่าย เข้าใจง่าย ผ่อนคลายสบายๆ ว่า...

1. ตากระทบรูป สักแต่ว่ารูป ฮ่าๆๆ ว่างๆ อย่างนั้นเอง

2. หูกระทบเสียง สักแต่ว่าเสียง ฮ่าๆๆ ว่างๆ อย่างนั้นเอง

3. จมูกกระทบกลิ่น สักแต่ว่ากลิ่น ฮ่าๆๆ ว่างๆ อย่างนั้นเอง

4. ลิ้นกระทบรส สักแต่ว่ารส ฮ่าๆๆ ว่างๆ อย่างนั้นเอง

5. กายกระทบโผฏฐัพพะ สักแต่ว่าโผฏฐัพพะ ฮ่าๆๆ ว่างๆ อย่างนั้นเอง

6. ใจกระทบธรรมารมณ์ สักแต่ว่าธรรมารมณ์ ฮ่าๆๆ ว่างๆ อย่างนั้นเอง

(ขยายความข้อ 1 ตาคืออายตนะภายใน กระทบหรือผัสสะรูปคืออายตนะภายนอก สักแต่ว่ารูปนั่นคือวิญญาณหรือรู้แจ้ง รู้มีสองอย่าง คือรู้มืดไปต่อเรื่อยๆ และรู้แจ้งคือหยุดไปต่อ ฮ่าๆๆ คือหยอกเย้าว่างๆ คือมันไม่มีอะไร สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่าอย่างนั้นเอง คือตถตา ถ้าเป็นสังขาร ก็ปรุงแต่งต่อไป ถ้าเป็นวิสังขาร ก็หยุดการปรุงแต่ง)

หยุดทวาร 6 ยังมีทวาร 6 อยู่ แต่รู้ทัน เมื่อกระทบกัน ก็หยุดอยู่แค่นั้น (รู้แจ้ง) ถ้าไปต่อ เป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน...กระทั่งชรามรณะอย่างนี้คือรู้มืด

วนวกไม่มี

วนวกหรือวกวนไม่มี ก็คือหยุดหมุนต่อไป ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีก ไม่เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยซ้ำแล้วซ้ำเล่าเบาปัญญาอีก

พระพุทธเจ้าหรือพุทธะคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

พระพุทธองค์ ทรงเป็นบรมครูของพวกเราที่เราควรปฏิบัติตามพระองค์อย่างเต็มที่

คำว่า “ผู้รู้” รู้อะไร?

รู้มี 2 อย่าง คือรู้มืดกับรู้แจ้ง

รู้มืด คือสังขารปรุงแต่งไปเรื่อย วนวก วกวนอยู่นั่นแหละ รู้ไม่มีจุดจบ เพราะรู้เอา

รู้แจ้ง คือวิสังขาร หยุดการปรุงแต่ง หยุดเวียนว่าย รู้มีจุดจบ เพราะรู้ละ

คำว่า “ผู้ตื่น” ตื่นอย่างไร?

ตื่นจากหลับใหล ตื่นจากหลง เหมือนเมื่อออกจากถ้ำแล้ว พบแสงสว่าง ย่อมไม่กลับเข้าถ้ำอีก

คำว่า “ผู้รู้” และ “ผู้ตื่น” ในปัจจุบันนิยมเรียกว่า “ตื่นรู้” เป็นคำเดียวกัน ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ตื่น หรือถ้าไม่ตื่น ก็ไม่รู้

คำว่า “ผู้เบิกบาน” คืออะไร?

“เบิกบาน” เป็นผลมาจาก “ตื่นรู้”

เมื่อตื่นรู้ ก็ย่อมเบิกบาน เป็นธรรมดา

ดังนั้น...การจะดูตนหรือคนอื่น ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมโลกทั้งหลาย ว่าเขามีภาวะเป็นอย่างไรไม่ยากเลย โดยเฉพาะผู้ศึกษาและปฏิบัติธรรม หรือนักปราชญ์ผู้รอบรู้ทั้งหลาย รวมถึงพระสงฆ์องค์เณรด้วย

ถ้าเขายังไม่เบิกบาน ยังเศร้าหมองอยู่ ก็แสดงว่าเขายังไม่ตื่นรู้ ถ้าเขาตื่นรู้จริง รัศมีแห่งความเบิกบานย่อมปรากฏที่ตัวเขาตลอดเวลา เหมือนเงาติดตาม

“ธุระหมดแล้ว
ดั่งแก้วกระจก
หยุดทวาร 6
วนวกไม่มี”

หยุดๆๆ...เราหยุดแล้ว...ท่านหยุดหรือยัง...ถ้าท่านยังไม่หยุด...ไม่เบื่อไม่อายหรือ...กับการเล่นมุกเก่าๆ...ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...ดั่งคนเบาปัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น