ในยุคปัจจุบันสื่อเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งในยุคสมัยนี้มีเด็กที่ถูกปล่อยให้ใช้ชีวิตอยู่กับสื่อ ดังนั้น เราจึงพบเจอเด็กๆ มากมายที่ติดทีวี ติดเกมจากคอมพิวเตอร์ ติดเล่นสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต ซึ่งแน่นอนว่าสื่อเหล่านี้จึงมีบทบาทต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กทั้งทางบวกและทางลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสื่อของเมืองไทยทุกวันนี้ มักนำเสนอภาพและเนื้อหาข่าวความรุนแรงของเหตุการณ์ต่างๆ ติดต่อกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่หลายวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวฆาตกรรม ข่าวการข่มขืนทำอนาจาร ข่าวการทำร้ายร่างกายกันอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของเด็กและเยาวชนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับเด็กเล็กซึ่งอยู่ในวัยที่ซึมซับเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้อย่างง่ายดาย
เรามาดูกันว่า ข่าวความรุนแรงที่สื่อต่างๆ นำเสนอนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อลูกหลานของเราอย่างไรบ้าง
1. เด็กๆ จะเห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากเด็กเล็กได้พบเห็นภาพของความรุนแรงอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพของคนเสียชีวิต ภาพของคนที่ถูกทำร้ายร่างกาย ภาพของคนที่ทะเลาะด่าทอกันอย่างรุนแรง ซึ่งถ้าเด็กได้เห็นภาพความรุนแรงเหล่านี้ที่สื่อนำเสนออยู่บ่อยๆ เด็กก็จะชินชากับความรุนแรงและมองเห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างปกติธรรมดา จึงส่งผลที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนมีนิสัยก้าวร้าวและมักจะชอบเลือกใช้ความรุนแรงเป็นวิธีในการแก้ไขปัญหาอยู่เสมอ เนื่องจากเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุที่เขาได้ซึมซับตัวอย่างความรุนแรงจากข่าวที่สื่อนำมาเสนอนั่นเอง
2. เด็กๆ จะเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ในสมองของคนเรามีเซลล์ประสาทที่ชื่อว่า Mirror Neuron หรือเซลล์กระจกเงา ซึ่งเป็นเซลล์ที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ต่างๆ ของคนเราที่ผ่านทางการได้ยิน การเห็นภาพต่างๆ ซึ่งทำให้เราเกิดการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้อื่น โดยเฉพาะในเด็กเล็กนั้นที่สมองของเขาจะจดจำพฤติกรรมต่างๆ ที่เห็นแล้วทำให้เด็กเกิดการลอกเลียนแบบได้ง่าย ดังนั้น การที่เด็กได้เห็นสื่อที่นำเสนอภาพข่าวความรุนแรงซ้ำซากวนเวียนอยู่บ่อยๆ จะทำให้เด็กเกิดการซึมซับพฤติกรรมความรุนแรงเหล่านั้นเข้าไปโดยที่ไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น การที่สื่อนำเสนอข่าวฆาตกรฆ่าหั่นศพ ซึ่งการที่เด็กได้ติดตามดูข่าวนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบที่ไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำการฆาตกรรมผู้อื่นเหมือนในข่าวนั้นๆ แต่ความรุนแรงของข่าวนั้นก็จะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กอยากกระทำความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆแทนได้ เนื่องจากสมองได้เกิดการเลียนแบบและซึมซับพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงนั้นฝังเอาไว้ในสมองแล้ว
3. เกิดการสร้างมาตรฐานทางสังคมใหม่ในด้านลบ ข่าวความรุนแรงต่างๆ ที่ถูกนำเสนอออกมา เช่น ข่าวการข่มขืน ข่าวการฆาตกรรม ข่าวการรุมทำร้ายแก้แค้นกันอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งถือเป็นคดีสะเทือนขวัญ ซึ่งหากสื่อนำเสนอข่าวความรุนแรงเหล่านี้ออกมาในรูปแบบของการตามติดชีวิตฆาตกรในแง่ของความน่ารักตลกขบขัน เช่น หน้าตาที่สวย/หล่อ คำพูด การแต่งกาย รอยสัก การใช้สินค้า และจุดเด่นอื่นๆ ของฆาตกรที่หากเด็กได้ดูอยู่บ่อยๆ ก็จะทำให้มีความรู้สึกว่าบรรดาฆาตกร หรือเหล่าอาชญากรเหล่านั้นเป็นเหมือนไอดอลที่ทุกคนพร้อมจะให้ความสนใจลอกเลียนแบบ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้สังคมเกิดการสร้างมาตรฐานทางสังคมแบบผิดๆ ที่ทำให้เด็กๆ เห็นว่า คนที่กระทำความผิดเป็นฆาตกร เป็นโจร เป็นนักเลง เป็นนักต้มตุ๋น ก็สามารถเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังและได้รับการกล่าวขวัญถึงในสังคมได้
4. เด็กๆ จะเกิดความเครียด แน่นอนว่าข่าวความรุนแรงต่างๆ ที่สื่อนำเสนอนั้นจะทำให้ผู้ชมไม่เว้นทั้งผู้ใหญ่และเด็กเกิดความเครียด ซึ่งยิ่งถ้าสื่อมีการนำเสนอภาพและเนื้อหาของข่าวความรุนแรงต่างๆเหล่านี้ติดต่อกันหลายวันวนเวียนซ้ำไปซ้ำมา ก็จะทำให้ผู้ชมเกิดการหมกมุ่นอยู่กับข่าวร้ายนั้นๆ โดยเฉพาะในเด็กซึ่งถ้าเสพข่าวเหล่านี้มากๆ ก็จะก่อให้เกิดความเครียดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายอารมณ์และจิตใจ เช่น กินไม่ได้นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า ก้าวร้าว หงุดหงิด มองโลกในแง่ร้าย
จะเห็นได้ว่าสื่อต่างๆ ในยุคปัจจุบันนี้ล้วนมีผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของเด็กเป็นอย่างมาก ทีเดียว ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองและสื่อต่างๆ ควรต้องมีความตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้น โดยพยายามนำเสนอข่าวของความรุนแรงเหล่านี้ให้เบาบางลง เพราะอย่าลืมว่าต้นเหตุของความรุนแรงล้วนเกิดขึ้นจากความรุนแรงเสมอ