ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัญหาขยะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
ในเชิงปริมาณขยะมีทิศทางเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร ยิ่งในช่วงเกิดฝนตกหนัก “ปัญหาขยะล้นเมือง” ยิ่งแผงฤทธิ์เพราะขยะจำนวนมากมาสะสมกีดขวางทางระบายน้ำ เป็นเหตุ ให้ประชาชนต้องเผชิญสถานการณ์น้ำ(ท่วมขัง)รอการระบาย
อ้างอิงรายงานกรมควบคุมมลพิษ “สถานการณ์มลพิษ 2559” เผยสถานการณ์การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ขยะมูลฝอยชุมชน ในปี 2559 ความว่า
ปี 2559 ปริมาณขยะเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 27.04 ล้านตัน ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ประมาณ 190,000 ตัน โดยพบว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เกิดขยะมูลฝอยมากที่สุดสูงถึง 4.20 ล้านตันต่อปี และพบว่า ปัจจุบันคนไทยสร้างขยะโดยเฉลี่ย 1 คน สร้างขยะ 1.14 ก.ก. ต่อวัน
สาเหตุของปัญหาขยะล้นเมืองล้วนมาจากฝีมือมนุษย์เกิดขึ้นจากความมักง่ายไร้สำนึก ยิ่งในช่วงฝนตกหนักขยะเกลื่อนกลาดพ่นพิษ ขยะกลายเป็นปัจจัยหลักส่งผลให้หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เผชิญสถานการณ์น้ำท่วมเพราะมันไปกีดขวางทางระบายน้ำ
สำนักการระบายน้ำ กองระบบคลอง กรุงเทพมหานคร เปิดเผยสถิติเก็บขยะในคลอง ทั้งหมดเฉลี่ยวันละกว่า 150 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 50 ตัน อ้างอิงรายงานข่าวระบุว่า อุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 พบขยะลอยแพมาจำนวนมาก 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะครัวเรือน เช่น โซฟา ที่นอน ทีวี ตู้ ฯลฯ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่เก็บขึ้นจากน้ำ ขยะบางส่วนที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องลงไปเก็บด้วยตนเอง
ที่สำคัญคือแม้จะมีคอกดักขยะขนาดใหญ่กั้นไว้ แต่ก็ยังมีขยะจำนวนไม่น้อยหลุดรอดเข้าไปในอุโมงค์ส่งผลให้ระบายน้ำได้ล่าช้า เพราะต้องหยุดเดินเครื่องดึงน้ำลงอุโมงค์
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ อัศวิน (@aswinkwanmuang) เผยสถานการณ์ปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลองทั่วกรุงเทพฯ ความว่า
“ปริมาณขยะในแม่น้ำลำคลองทั่วกรุงเทพฯ มีมากเกือบ 20 ตันต่อวัน กทม. ได้เก็บกำจัดขยะเหล่านี้ทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่บางจุดเจ้าหน้าที่ของเราต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเปิดทางไหลของน้ำให้ได้มากที่สุด ไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังที่จะส่งผลกระทบถึงพี่น้องประชาชนหรือให้เกิดน้อยที่สุด ผมขอขอบคุณอีกครั้งที่ขณะนี้หลายคนเริ่มตระหนักและร่วมแก้ปัญหาขยะในคูคลองกันอย่างจริงจัง...
“...จนท.ของกทม. ที่จัดเก็บขยะในคลอง ท่อ และอุโมงค์ระบายน้ำ จะได้พบกับขยะแบบนี้ทุกวันและในปริมาณที่มาก ซึ่งขยะเหล่านี้คือหนึ่งในปัญหาและอุปสรรคในการเร่งระบายน้ำในช่วงฝนตก ผมจึงอยากเชิญชวนทุกท่าน มาช่วยกัน ลดปริมาณขยะ ทิ้งขยะให้เป็นที่ และช่วยกันเป็นหูเป็นตาเรื่องการทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ผมขอขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ขณะนี้บางส่วนได้ออกมาร่วมกันรณรงค์ในโซเชียล งดการทิ้งขยะในแม่น้ำคูคลอง เพื่อช่วยกันเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ครับ #betterbangkok”
นอกจากปัญหาขยะที่เป็นอุปสรรคสำคัญของการระบายน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ ยังพบ ปัญหาไขมันล้นท่อ ล่าสุด โซเชียลมีเดียแชร์ภาพสภาพท่อระบายน้ำบริเวณ ถ.ตะนาว เขตพระนคร และ ถ.เยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นแหล่งสตรีทฟูดขึ้นชื่อของกรุงเทพฯ สืบเนื่องจากปฏิบัติการลอกท่อของ กทม. พบว่ามีเศษขยะไขมันสิ่งสกปรกย่อยสลายยากอุดตันอยู่เป็นมากมาย และเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการระบายน้ำเพราเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ท่อตัน ซึ่งขยะและไขมันเหล่านี้เกิดจากการประกอบอาหารและทิ้งเศษอาหารเศษวัสดุต่างๆ รวมทั้ง การล้างภาชนะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ ผศ.ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการขยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเปิดเผยผ่านหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ความว่า จากการติดตามประเด็นปัญหาขยะพบว่ามีปริมาณขยะ 200 ตันต่อวันในท่อระบายน้ำ
“ขยะพวกนี้จริงๆ แล้วมีที่มาจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนที่หนึ่งคือ พวกหาบเร่แผงลอย ที่สร้างเศษขยะต่างๆ เอาไว้ริมทางเท้า-ริมคลอง โดยเฉพาะตลาดใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ทิ้งแค่เศษอาหารลงตามท่อ แต่ยังมีเศษกล่องหรือเศษวัสดุที่เหลือจากการตัดใช้งานต่างๆ ลงไปด้วย ส่วนที่สองคือ ตึกแถว ขอเน้นเป็นตึกแถวรุ่นโบราณที่ยังไม่มีที่ทางที่สามารถไปทิ้งขยะได้ง่ายๆ และส่วนที่สามคือ ไซต์งานก่อสร้าง กลุ่มนี้ถือเป็นซีรีส์ขยะเรื่องยาว เพราะขยะประเภทเศษหินเศษปูนมันใหญ่นะครับ เวลาทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ แล้วมันจะไม่ค่อยไปไหน
“...สิ่งที่เจ้าหน้าที่จะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้คือการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งต้องจริงจังกันนิดหนึ่ง เพราะตอนนี้ทั้งเจ้าหน้าที่และคนทิ้งไม่ได้เห็นความสำคัญกันเท่าไหร่ว่าทำไมถึงต้องทำ แต่อย่างในต่างประเทศ ไม่ค่อยมีใครทิ้งขยะกันในคลองแบบนี้หรอกครับเพราะเขาปลูกฝังเรื่องจิตสำนึกสาธารณะกันมาอย่างจริงจัง แต่บ้านเรายังขาดเรื่องนี้อยู่มาก แม้แต่ชาวต่างชาติที่ผมเคยพบเจอเขายังบอกเลยว่าประเทศเรายังต้องปลูกฝังเรื่องการรักษาความสะอาดส่วนรวม-รักสิ่งแวดล้อมอีกเยอะเลย และต้องยอมรับว่ากรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดอยู่เยอะเหมือนกันนะครับ และจุดที่อุดตันตรงนี้ส่วนใหญ่จะเกิดจากชุมชนแออัดและบริเวณหาบเร่แผงลอยมาอยู่รวมๆ กัน เลยทำให้สำนักระบายน้ำบ่นตลอดว่าไม่รู้ขยะมาจากไหนเยอะแยะ หลักๆ เลยเป็นเพราะมีชุมชนแออัดอยู่ในกรุงเทพฯ”
หากพิจารณาในภาพรวมประเทศไทยมีปัญหาเรื้อรังเรื่องการจัดการขยะมาช้านาน เนื่องจากไม่มีระบบที่สามารถแก้ไขจุดบอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เห็นคุณค่าของขยะและรู้จักใช้ประโยชน์จากมันอย่างเหมาะสม
“เวลาเราจะพิจารณาเรื่องการจัดการขยะ เราจะดูจาก 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ แหล่งเกิด, การเก็บ และการกำจัด ในประเด็นเรื่องของแหล่งเกิด ขยะนั้น ประชาชนส่วนใหญ่จะคัดแยกอยู่แล้ว ถ้าเป็นขยะที่มีมูลค่าอย่างขยะพลาสติกและโลหะ ตรงนี้เอาไปขายได้ แต่ขยะประเภทที่แยกแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อได้อย่างขยะเศษอาหาร มันก็จัดการยาก ทำให้หลายๆ บ้านยังคงไม่แยกขยะประเภทนี้ต่อไป มีแม่บ้านหลายท่านบอกกับผมว่าไม่รู้จะแยกไปทำไม เสียเวลาแยกไปเท่าไหร่ พอรถขยะ กทม.มาเก็บ เขาก็เก็บไปรวมกันไว้ที่เดียวกันอยู่ดี เพราะฉะนั้น มันจะมาสู่ประเด็นเรื่อง การเก็บ ตรงนี้ทาง กทม.ต้องทำให้เป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมได้ร่างข้อเสนอเสนอต่อสภาปฏิรูปฯ ไปแล้วนะครับว่า ต้องใช้มาตรการการแยกขยะแบบครบวงจร คือเริ่มจากคนที่บ้านต้องคัดแยกก่อน สำนักงานเขตเองก็ต้องจัดรถพวกนี้ไปเก็บตามประเภทของขยะ เช่น วันจันทร์ไปเก็บเฉพาะกระดาษ วันอังคารเก็บเฉพาะประเภทแก้ว ทำเหมือนที่ญี่ปุ่นเขาทำกันเลยครับ ที่ญี่ปุ่นเขาทำแบบนี้เพราะบ้านเขาส่วนใหญ่ต้องซื้อของมาใช้ ไม่ได้ผลิตเอง แต่บ้านเรา หลายๆ อย่างเราผลิตได้เอง และกรุงเทพฯ เราก็เป็นเมืองใหญ่อยู่เหมือนกัน ถ้าจัดการขยะได้แบบเขามันก็จะลดปัญหาลงไปได้อีกหลายๆ เรื่องเลยครับ”
นอกจากนี้ วิกฤติยังลามออกสู่ทะเล ดังปรากฏเป็นข่าว “ปรากฏการณ์แพขยะอ่าวไทย” ที่พบเมื่อไม่กี่ก่อน แพขยะแนวยาวกว่า 10 ก.ม. ลอยอยู่ทางทิศเหนือของชายฝั่ง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งนักวิชาการทางทะเล ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก (Thon Thamrongnawasawat) ระบุถึงกรณีที่มีภาพขยะจำนวนมหาศาลลอยอยู่กลางทะเล พร้อมข้อความระบุว่า แพขยะขนาดยักษ์กลางอ่าวไทย ยาว 10 ก.ม. เป็นหลักฐานว่าประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกในทะเล
และในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดปรากฏการณ์แพขยะลอยน้ำอยู่บริเวณใกล้เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ รายงานข่าวระบุว่า จากการตรวจสอบทิศทางของแพขยะคาดามาจากแนวชายฝั่งในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย เกิดจากการที่มีฝนตกต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการไหลพัดพาขยะลงสู่ทะเล
ย้อนกลับมาที่โรดแมป “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ตามแนวทางประชารัฐ (ระยะ 1 ปี พ.ศ.2559 -2560) ในภาคปฏิบัติจะได้เรื่องหรือไม่?
หรือสุดท้ายแค่ขายฝัน? ...คำตอบค่อยๆ ปรากฏทีละน้อย