xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การล่าอาณานิคมด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2lonialism)

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2560 ในกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาและอีกหลายเมืองได้มีการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า “การเดินขบวนเพื่อปกป้องภูมิอากาศของประชาชน (People’s Climate March)” ผู้จัดได้ชูคำขวัญว่า “เราต่อต้าน เราสร้าง เราลุกขึ้นสู้ (We Resist. We Build. We Rise)”

ผู้จัดประเมินว่า เฉพาะในกรุงวอชิงตันแห่งเดียวมีผู้เข้าร่วมเดินครั้งนี้ประมาณ 2 แสนคน ผมมีภาพมาให้ดูกันเพลินๆ ด้วยครับ ส่วนใหญ่มาจากเว็บไซต์ของผู้ร่วมจัดงานเองคือ www.350.org และ https://peoplesclimate.org/?source=350

วัตถุประสงค์ในการเดินขบวนครั้งนี้มี 2 ข้อใหญ่ๆ คือ การร่วมกันปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลก และเพื่อต่อต้านนโยบายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่เข้ารับตำแหน่งได้ 100 วัน

ความจริงแล้วเมื่อวันที่ 22 เมษายน หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ก็ได้เดินขบวนเช่นกัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นักวิทยาศาสตร์รวมตัวกันทำกิจกรรมบนท้องถนนเพื่อให้ประธานาธิบดีคนนี้ใช้ข้อมูล และผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในการกำหนดนโยบายเพราะประธานาธิบดีทรัมป์เชื่อและประกาศว่า โลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวงที่ปั้นแต่งขึ้นมาโดยประเทศจีน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศจีน (พูดเท่ห์เสียด้วย!)

ในบรรดาภาพกิจกรรมที่ผมพบ มีอยู่ภาพหนึ่งที่ผมชอบมาก ผมเข้าใจว่าน่าจะมาจากกลุ่มชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ วางท่อน้ำมันผ่านชุมชนดั้งเดิมของพวกเขา พวกเขาเขียนข้อความดังรูปครับ

ถ้าเราไม่สนใจตัวเลข “2” ที่ห้อยอยู่ด้านล่างเล็กน้อย คำนี้ก็จะเป็น “Colonialism” ซึ่งแปลว่า “การล่าอาณานิคม” แต่เมื่อนำ “2” มาร่วมด้วย ก็จะกลายเป็นสูตรเคมี “CO2” ซึ่งหมายถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งได้แก่ น้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ

ในช่วงประมาณ 2 เดือนมานี้ ชาวโลกได้เกิดความแตกตื่นเล็กน้อยกับวิกฤตในประเทศซีเรีย และในคาบสมุทรเกาหลีว่าอาจจะเป็นชนวนนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า“สงครามโลกครั้งที่ 3”

แต่เมื่อผมเปิดความหมายหรือนิยามของคำว่า “World War” พบว่าเกิดจาก “ความขัดแย้งทางการทหารและมีหลายประเทศที่มีอำนาจมากๆ เข้าร่วม”

ผมเชื่อว่า นี่เป็นคำนิยามเก่าที่ไม่สามารถใช้อธิบายสถานการณ์ในปัจจุบันที่ได้เปลี่ยนไปแล้วจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ถ้าคิดในเชิงจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต ผมเชื่อว่าในปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เป็นผลมาจาก “โลกร้อน” มีจำนวนมากถึงปีละ 2 แสนคน นี่เป็นข้อมูลเมื่อปี 2009 แต่ได้มีการคาดการณ์โดยทีมงานของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (โคฟีอานัน) ว่า ภายในปี 2030 จะมีผู้เสียชีวิตจากโลกร้อนถึงปีละ 5 แสนคน มีความเสียหายทางเศรษฐกิจถึงปีละ 6 แสนล้านดอลลาร์ (https://www.theguardian.com/environment/2009/may/29/1)

ลองคิดดูซิครับ ความเสียหายภายใต้นิยามเก่าของคำว่า “สงครามโลก”กับความเสียหายที่เกิดจากสถานการณ์โลกร้อน (ซึ่งยังไม่มีใครนิยามว่าเป็นสงคราม) อย่างไหนจะเสียหายและกว้างขวางมากกว่ากัน

เมื่อ 24 เมษายน 2560 คลื่นความร้อนได้เข้าสู่ประเทศอินเดียและปากีสถาน ทำให้บางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงถึง 48 องศาเซลเซียส และคาดว่าจะอยู่นานถึง 6 วัน จะทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกจำนวนมาก ภาพข้างล่างคือจำนวนผู้เสียชีวิตในส่วนต่างๆ ของโลกในอดีต (จากการรายงานของ CNN) มันไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เลยครับและโปรดสังเกตว่าอินเดียโดนบ่อยมากครับ

ประเทศไทยเราเองก็ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้น เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา อากาศก็ร้อนมาก ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าสูงสุดทั่วทุกภาคของประเทศ

ผมเคยทราบว่า คนมีชื่อเสียงท่านหนึ่งเคยพูดว่า “สงครามโลกครั้งที่ 3 เกิดขึ้นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยังไม่จบ” แต่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นใครพูด ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

แม้ชาวโลกได้พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงแล้วตาม “ข้อตกลงปารีส” ซึ่งประเทศไทยก็ได้ร่วมลงนามด้วย แต่ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็ยังไม่ลดลงเลย แต่กลับเพิ่มขึ้นจนทำลายสถิติสูงสุดเรียบร้อยไปแล้วเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 ถึง 410.28 ส่วนในล้านส่วน ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าระดับที่ปลอดภัยควรจะอยู่ที่ 350 ส่วนในล้านส่วนเท่านั้น

เพื่อนอาจารย์ที่เป็นนักเคมีของผมคนหนึ่งบอกผมว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่ขึ้นไปแล้ว จะมีอายุยาวนานมากไม่สิ้นสุด ดังนั้น แม้ชาวโลกจะช่วยกันลดการปล่อยใหม่ และลดได้จริงๆ ในหลายประเทศแล้ว แต่ความเข้มข้นสะสมก็ยังคงสูงขึ้น และสูงขึ้นมันจะลดลงไปได้ก็ต่อเมื่อพืชทั้งบนบกและในมหาสมุทรดูดซับไปใช้เท่านั่นเอง

ภัยพิบัติจากโลกร้อนไม่ได้มีแค่ทำให้โลกร้อนอย่างเดียว แต่ก่อให้เกิดภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วม พายุ พืชผลเสียหาย เชื้อโรคระบาด (ซึ่งน่ากลัวมาก) ทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้มหาสมุทรที่มีขนาดใหญ่ถึง 3 ใน 4 ของโลกทั้งใบ

กระบวนการล่าอาณานิคมด้วยคาร์บอนไดออกไซด์มีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่างกับกระบวนการการล่าอาณานิคมธรรมดาๆ ที่เราเคยรับรู้

ที่ต่างกันได้แก่ ไม่ได้ใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ต้องใช้รถถัง เรือดำน้ำ (ที่รัฐบาลนี้พยายามจะซื้อให้ได้) และไม่ต้องใช้ระเบิดตามที่เราคุ้นเคย แต่ใช้วิธีการล้างสมอง เริ่มตั้งแต่การบรรจุสาระในตำราเรียนตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ใช้วิธีการโฆษณาในสื่อมวลชน การพาตัวสื่อไปเที่ยวต่างประเทศ จ้างมือโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ รวมถึงการผลิตวาทกรรม “ถ่านหินสะอาด”“พลังงานหมุนเวียนแพง ไม่เสถียร” เป็นต้น

เมื่อวานนี้ ผมได้เห็นหนังสือพิมพ์ดังฉบับหนึ่งเขียนว่า การขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้าครั้งล่าสุดเกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่ไปสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยจากนโยบายของรัฐบาลทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นเพียง 345.96 ล้านบาทในช่วง 4 เดือนข้างหน้า จากจำนวนไฟฟ้าที่ใช้ 68,198 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.64 สตางค์ต่อหน่วย จากที่จะขึ้น 12.52 สตางค์ต่อหน่วยเป็นต้น

จากการศึกษาของ Bloomberg (https://www.bloomberg.com/amp/news/articles/2017-04-26/the-cheap-energy-revolution-is-here-and-coal-won-t-cut-it) พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย และบราซิล ซึ่งมีจำนวนประชากรรวมกันถึง 39% ของโลก ต่างก็ได้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังน้ำขนาดใหญ่) เป็นจำนวนมากผมได้แนบภาพแผนที่และข้อมูลล่าสุดมาให้ดูด้วยครับ

ผมอยากจะนำเสนอข้อมูลดีๆ สำหรับการปลดแอกออกจากเจ้าอาณานิคมคือคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่านี้ แต่เกรงว่าท่านผู้อ่านจะเบื่อเสียก่อน

อ้อ! ขอแถมเพียงนิดเดียวครับ คือ Bloomberg ได้คาดการณ์ว่าในปี 2040 ประมาณ 35-47% ของรถยนต์ออกใหม่จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกมาก ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ค่อนข้างอนุรักษนิยมมาก

ในขณะที่ Tony Seba นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พยากรณ์ว่า ภายในปี 2025 รถยนต์ออกใหม่ทุกคันจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่ปี 2040 และไม่ใช่ 47% แต่ทั้ง 100% และทั่วทั้งโลก เพราะรถยนต์ในมิติใหม่ เปรียบเหมือนโทรศัพท์มือถือที่วางอยู่บนล้อ โทรศัพท์มือถือราคาถูกลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและฉลาดมากขึ้นอย่างไร รถยนต์ไฟฟ้าก็จะเป็นอย่างนั้นแหละครับ

ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น