ผู้จัดการรายวัน360- พ.ร.บ.คณะสงฆ์ผ่านเร็วปรี๊ด ใช้เวลา 58 นาที พิจารณาจบ 3 วาระรวด คืนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ยกเหตุผลเป็นไปตามโบราณราชประเพณีกว่า 5 ทศวรรษ "สมพร"ระบุกฎหมายเดิมถูกแก้เมื่อปี 35 จนเกิดปัญหาปานปลาย "ออมสิน" ตัวแทนรัฐบาลบอกไม่ขัดข้อง "สุรชัย"ยันไม่ได้สับขาหลอก และล็อกสเป็กสังฆราช แต่พูดชัดจากนี้ต้องยึดกฎหมายใหม่ ด้าน "พระเมธีธรรมาจารย์" ซัดเป็นกฎหมายลักไก่ ลั่นออมสิน-สนช.ต้องรับผิดชอบความยุ่งยากที่จะตามมา ผบ.ตร.ติดเบรก อยากก่อม็อบต้องขออนุญาตก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.40 น.วานนี้ (29 ธ.ค.) ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาวาระสำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่เพิ่งจะได้รับการเสนอจากสมาชิก สนช. ที่ร่วมลงนาม 82 คน โดยการพิจารณาครั้งนี้ มีนายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เข้ารับฟังการพิจารณาด้วย โดยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีการเสนอร่างมาประกบ
พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สนช. เสนอหลักการและเหตุผลว่า ขอแก้ไขเพียงประเด็นเดียว คือ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ที่ถูกแก้ไขเพิ่ม เหตุผล คือ โดยโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมาช้านาน พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จึงสมควรบัญญัติกฎหมายให้สอดคล้อง เพื่อสืบทอดและดำรงไว้ซึ่งโบราณราชประเพณี โดยให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
อย่างไรก็ตาม ตามหลักแล้ว ครม. จะขอร่างไปพิจารณาก่อน ตามข้อบังคับข้อ 117 ก็ได้ แต่เมื่อประธานสภาถามแล้ว ปรากฏว่า นายออมสิน แจ้งว่ารัฐบาลไม่ขัดข้อง ให้มีการพิจารณาต่อไปได้ จากนั้นมี สนช. อภิปราย 6 คนๆ ละไม่เกิน 8 นาที
นายสมพร เทพสิทธา สนช. อภิปรายสนับสนุนว่า กฎหมายเดิมที่เป็นพระราชอำนาจ เป็นราชประเพณีที่สืบต่อมาถึง 50 ปี ก่อนจะมีการแก้ไขในปี 2535 จนเกิดปัญหาขึ้น เมื่อปัญหาเกิดจากกฎหมาย จึงจำเป็นต้องแก้ที่กฎหมาย เพราะในอดีต ก็เคยมีกรณีพระมหากษัตริย์ทรงเลือกพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดที่ถูกเสนอชื่อมาทั้ง 3 คน เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแล้ว การแก้ไขกฎหมายก่อนหน้านี้ จึงไม่เหมาะสม
"ก่อนนี้ผมเสนอขอให้แก้กฎหมาย ในช่วงที่นายสุวพันธ์ ตันยุวัฒนะ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โดยนายสุวพันธ์แจ้งว่ารัฐบาลไม่อยากเสนอ เพราะอาจเกิดความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร จึงขอให้รอโอกาสที่เหมาะสม และบัดนี้ ผมเห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะเกิดความขัดแย้งขึ้น ขณะที่คณะสงฆ์เอง ก็ไม่ยอมแก้กฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาเร่งด่วนไม่บานปลาย จึงขอเสนอพิจารณา 3 วาระรวด"นายสมพรกล่าว
นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายสนับสนุนว่า การแก้ไขดังกล่าวไม่เป็นการกีดกันผู้ใด ตรงกันข้ามการกำหนดล็อกไว้ที่ความอาวุโส ทำให้เกิดปัญหา แบบเดียวกับการแต่งตั้งข้าราชการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้มีอาวุโสสูงสุดจะไม่มีโอกาสได้รับการแต่งตั้ง
นายตวง อรรถชัย สนช. กล่าวเสริมว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นหนึ่งในการปฏิรูปด้านศาสนา ที่เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เพราะอุบาสกอุบาสิกา เอาไปใช้แล้วเกิดปัญหา สิ่งนี้ไม่ได้เป็นการแก้คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นสิ่งที่ทันสมัยเสมอ
ภายหลังการอภิปรายราว 45 นาที ที่ประชุม สนช.ได้ลงมติรับหลักการเป็นเอกฉันท์ ด้วยเสียง 184 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง จากนั้น นายสมชาย เสนอให้มีการพิจารณากรรมาธิการเต็มสภา 3 วาระ และผ่าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปโดยไม่มีการอภิปรายเพิ่มเติม เมื่อเวลา 11.40 น. ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 182 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง โดยใช้เวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เพียง 58 นาทีเท่านั้น
สำหรับร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ เพิ่งจะได้รับการเสนอจาก สนช. ที่ร่วมลงนาม 82 คนเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา หรือเมื่อ 2 วันก่อนพิจารณา โดยเสนอต่อ ครม. ในวันรุ่งขึ้น และนำมาพิจารณาต่อในวันถัดไป ท่านกลางปฏิกิริยาคัดค้านของแกนนำสงฆ์บางรูป
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากที่ สนช. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แล้ว จะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ในการนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ส่วนที่มีกระบวนการเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชก่อนหน้านี้นั้น ส่วนตัวเห็นว่า จะต้องดำเนินการตามฎหมายใหม่ และอย่าไปมองว่าจะเป็นการกีดกันผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นสมเด็จพระสังฆราช เพราะเป็นการมองแบบแตกแยก และหลังจากแก้ไขกฎหมายแล้ว ก็ไม่ได้บอกว่าองค์ใดได้เป็น หรือไม่ได้เป็น แต่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่จะทรงสถาปนา
"การพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสับขาหลอก เนื่องจากเมื่อรัฐบาลมีความเห็นว่า จะไม่รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกลับไปพิจารณาแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องพิจารณากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ สนช. เคยดำเนินการกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นมาแล้ว และยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีสัญญาณมาจากรัฐบาลหรือองค์กรใดเป็นพิเศษ เป็นเรื่องที่กลุ่มสมาชิก สนช. เป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาเอง เพราะพวกเขาคงเห็นว่าที่ผ่านมาเกิดปัญหาค่อนข้างมาก จึงควรแก้ไขให้เกิดความเรียบร้อย และคิดว่าก่อนที่จะมีการเสนอกฎหมาย ก็คงจะมีการรวบรวมข้อมูลมาพอสมควรแล้ว ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายมีความเข้าใจ และค่อยๆ ดูทีละกระบวนการ อย่าเพิ่งไปวิตกกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น"นายสุรชัยกล่าว
ด้านนายออมสินกล่าวอีกครั้งว่า ในนามของรัฐบาลได้ไปรับฟังการชี้แจงของ สนช. จากนั้นได้ออกมา โดยสนช.เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งตนไม่ทราบว่า สนช.ผ่านกฎหมายดังกล่าว ทั้ง 3 วาระแล้ว และกฎหมายก็ไม่ได้มีการแก้ไขมาก ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ สนช. ผ่านกฎหมาย 3 วาระรวดแล้ว พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร จนฺทสาโร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้เคลื่อนไหวทันที โดยโพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เป็นกฎหมายลักไก่ โดยระบุเหตุผลว่าสมาชิก สนช. กำลังดำเนินการประชุมแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยผ่านวาระ 1 ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาฯ ผ่าน วาระที่ 2 และ 3 ตามลำดับ เดิมบอกเพียงว่าจะหารือกันเท่านั้นเอง นี่ลักไก่ ทำกันทั้งสภาฯ ต่อจากนี้ไป รัฐมนตรีออมสิน ชีวะพฤกษ์ และสมาชิก สนช. จะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อความยุ่งยากที่ตามมาภายหลัง ก่อนตบท้ายว่า "อาตมาพูดได้แต่เพียงเท่านี้ ขณะนี้ผ่านทั้ง 3 วาระแล้ว"
จากนั้น พระเมธีธรรมาจารย์ ได้ออกแถลงการณ์อีกครั้งว่า ไม่เห็นด้วยที่ สนช. ดำเนินการในครั้งนี้ แต่เห็นด้วยเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องเป็นพระราชอำนาจ ไม่มีใครก้าวล่วงได้ และจะไม่ไปยื่นหนังสือคัดค้านที่นายกฯ หรือประธาน สนช. เพราะไม่มีประโยชน์ใดๆ และจะไม่แถลงข่าวเรื่องนี้ด้วย ได้แต่แสดงความไม่เห็นด้วย เสียใจ และฝากไปถึงคณะสงฆ์ขอให้ยุติการออกมาเจริญพระพุทธมนต์หลังปีใหม่
ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว มีใจความสรุปว่า การตั้งพระสังฆราช ควรผ่านความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม (มส.ป ก่อน เพราะเหมือนเป็น ครม.ของฝ่ายสงฆ์ แต่วันนี้ สนช. ดันบทบาทของ มส. ออก แล้วใครจะเป็นคนชี้ว่าท่านใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประมุขของสงฆ์ ถ้าทำกันแบบนี้ เกรงว่าจะเกิดความปั่นป่วน เพราะไร้ระบบอาวุโส ไร้การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไร้การยอมรับ จะเกิดแบ่งฝักฝ่ายแตกแยกกันในหมู่สงฆ์ แล้วพุทธศาสนาในบ้านเราจะตกอยู่ในสภาพเช่นไร เรื่องนี้จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนตลอดจนสถาบันพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างยิ่ง สนช. หรือผู้มีอำนาจพึงระมัดระวัง เพราะจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงเกินกว่าที่ท่านทั้งหลายจะรับผิดชอบได้
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีพระเมธีธรรมาจารย์ จะนำพระสงฆ์มาชุมนุมคัดค้านว่า หากจะนำพระสงฆ์มาชุมนุมจริง ก็จะต้องมีการแจ้งขออนุญาตจัดชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นก่อน เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น ถึงแม้จะเป็นพระก็ต้องดำเนินการเช่นเดียวกันกับประชาชน ส่วนการชุมนุมของพระสงฆ์เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่ ตนไม่ตอบ และขอถามกลับสื่อมวลชนว่าเหมาะสมหรือเปล่า อย่ามาถามแต่ตำรวจ เวลาถามสื่อมวลชนก็ตอบตนไม่ได้
ด้านพระพุทธะอิสระ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กตอบโต้พระเมธีธรรมาจารย์ ว่า หากเมธีไม่ยอมรับในพระราชอำนาจ ก็ออกไปหาประเทศอยู่ใหม่ไป๊!
“พุทธะอิสระขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า หากวันใด พระเมธีธรรมาจารย์ออกมาประท้วงเคลื่อนไหวเรื่องถวายคืนพระราชอำนาจใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์มาตรา 7 วันนั้น จะได้เจอกับม็อบน้ำหมาก ม็อบโคโยตี้ ม็อบจ้ำบ๊ะ ม็อบชีวภาพ คงจะได้พากันออกมาปิดล้อมม็อบล็อกคอทหารของเฮียได้ เคนะเฮีย รออยู่ รออยู่ ให้ไว ให้ไว” พุทธะอิสระระบุ