“ถ้าแม่ทำนาแล้วส่งเราเรียนปริญญาตรีจนจบได้ ทำไมเราจบปริญญาตรีแล้วกลับไปทำนาไม่ได้”
นี่คือคำกล่าวสั้นๆ ที่เต็มไปด้วยพลัง จากปากลูกสาวชาวนา “เอ้-พิจาริณี รักศรี” บัณฑิตกาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ขอเลือกทางเดินเป็นของตัวเอง จากเส้นทางการออกแบบอัญมณีและเพชรพลอยสู่การออกแบบไร่นาในฝัน หลังสู่ฟ้าหน้าสู่ความฝันในฐานะอาชีพเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจไว้ว่าจะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดและเปลี่ยนมุมมองของใครหลายคนที่มีต่ออาชีพชาวนา . .
ป.ตรีช่างทองหลวง..สู่สาวชาวนา
“จบปริญญาตรีทำไมถึงมาทำอาชีพเกษตรกร”
คงเป็นคำถามที่เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนยุคนี้ไปเสียแล้ว สำหรับการหันกลับไปทำอาชีพเกษตรกร แม้จะมีให้เห็นอยู่มาก แต่นั่นก็ยังเป็นข้อสงสัยที่ทำให้เราต้องเอ่ยถามหาคำตอบจาก “เอ้-พิจาริณี รักศรี” ผู้ที่เดินทางกลับบ้านเกิดทันทีที่คว้าใบปริญญา
“เอ้จบปริญญาตรีจากมหา'ลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือฯ เอ้เรียนวิชาช่างทอง เอกงานเครื่องประดับอัญมณี พื้นเพเอ้จริงๆ เป็นคนจังหวัดนครสวรรค์ แต่มาเรียนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 15 พอเรียนจบมหา'ลัย เอ้ก็ตั้งใจกลับบ้านทันที”
ดีกรีปริญญาตรี สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี นี่ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับความรู้สึกเราเมื่อได้ฟังในคำตอบ ก่อนเธอจะเล่าต่อไปว่า ความตั้งใจที่ทำให้เธอเดินทางกลับบ้านเกิดจริงๆ แล้วคืออะไร กับเป้าหมายของชีวิตที่เธอเคยตั้งคำถามจนได้รับคำตอบ
“ความตั้งใจของเอ้คืออยากให้ครอบครัวสบาย แม่ส่งเอ้เรียนคนเดียว เราจึงอยากกลับไปดูแลแม่ ดูแลบ้านเกิดของเรา กลับไปพัฒนาที่ที่เรียกว่าบ้าน ถึงแม้ว่าจะไม่มีความรู้ด้านการเกษตรเลยก็ตาม”
“เอ้เคยหาคำตอบให้ตัวเองนะว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งเขาเห็นเรากลับไปทำนาก็พูดไว้ว่า จริงๆ แล้วการทำนามันก็เหมือนกับเรียนออกแบบเครื่องประดับ เพราะครื่องดับก็คือการประดับอารมณ์และคุณค่าทางจิตใจ แต่การทำเกษตร การทำนามันเป็นเครื่องประดับกาย และเครื่องประดับจิตวิญญาณ”
“นี่แหละคือคำตอบว่าทำไมเรียนเครื่องประดับแล้วถึงมาเกษตร เอ้ว่ามันไม่ได้ต่างกันเลย” เธอเอ่ยขึ้นแล้วเราก็เห็นด้วยกับความตั้งใจจริง ซึ่งหลังจากที่ตัดสินใจกลับไปทำนาที่บ้านเกิดแล้ว แน่นอนเลยว่ามันคงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้ที่ไม่เคยทำไร่ทำนามาก่อน แถมยังคลุกคลีอยู่แต่ของสวยๆ งามๆ อย่างเครื่องประดับอัญมณีเช่นเธอ
“เราเรียนเครื่องประดับอัญมณีอยู่กับเพชรพลอยมาก่อน ไม่มีความรู้เรื่องเกษตรเลย ตอนทำแรกๆ มันก็ไม่ได้สำเร็จเลยนะคะ ล้มลุกคลุกคลานอยู่มาก อย่างที่บอกเราชอบศิลปะ อยู่กับเพชรกับพลอย วันหนึ่งต้องไปออกไร่ทำนา ร่างกายมันก็สู้ไม่ไหวแต่ใจยังสู้อยู่ก็เลยพัฒนามาเรื่อยๆ”
คุณเอ้เล่าให้ฟังว่าแรกเริ่มเธอสังเกตก่อนว่าแม่ของเธอทำอะไรยังไงบ้าง จากนั้นจึงเกิดการเรียนรู้และผสมผสานความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยผ่อนแรงทำให้การทำเกษตรเป็นเรื่องที่ง่ายและมีความรู้สึกว่าเธอกำลังสนุกไปกับมัน
“เริ่มจากแม่ก่อน เอ้จะดูก่อนว่าเขาทำอะไร จากนั้นค่อยๆ ลองเรียนรู้ เริ่มมาคิดว่าถ้าเราทำแต่ข้าวอย่างเดียว มันก็กลายเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่ถ้าวันหนึ่งทำข้าวไม่ได้ เราจะอยู่ยังไงในเมื่อเรายังไปซื้อผักที่ตลาด เรายังต้องซื้อข้าวกิน ซึ่งถ้าเราเป็นชาวนาแต่ต้องไปซื้อข้าวกิน ไม่อายเขาแย่เหรอ
เราก็มาคิดว่าทำข้าวที่แบ่งแปลงไว้สีเอง ปลูกต้นไม้เอง เอ้สังเกตว่าถ้าเราออกไปซื้ออะไรบ่อยๆ ให้ปลูกอันนั้น เอ้ก็จะปลูกแซมไปในแปลงกล้าเลย เช่น พริก มะเขือ มะระ อะไรที่เรากินบ่อยๆ ถ้ามีคนถามรายได้ เราจะบอกเขาเสมอว่าให้มองที่รายเหลือดีกว่า อย่างบ้านเราไม่ต้องเช่า ข้าวเราไม่ต้องซื้อ รายเหลือที่เรามีมันมากกว่าที่เราไปทำงานในเมือง”
“สวนของขวัญ” ของขวัญจากแม่
บนพื้นที่กว่า 18 ไร่ เธอบอกเราว่าที่นั่นคือทุกอย่าง ที่ที่ไม่ใช่แค่ “บ้าน” ทว่า คือชีวิต ครอบครัว และอาชีพของเธอ ทุกสิ่งถูกหลอมรวมอยู่ด้วยความรักและความศรัทธา เพื่อจุดมุ่งหมายอย่างเดียวคือต้องการพัฒนาบ้านเกิดและทำให้ผู้ที่เธอเรียกว่า “แม่” นั้นสุขสบาย
“มันเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งว่าเมื่อได้กลับไปบ้านหลังนี้ มันเป็นน้ำพักน้ำแรงของเราสองแม่ลูก ไม่ใช่แม่สร้างบ้านเพื่อรอเรา แต่เราสร้างเสาหลักบ้านหลังนี้ด้วยกัน ความสุขของแม่ก็คือความสุขของเรา
ชีวิตตอนนี้เอ้มีความสุขมากๆ นะคะ เมื่อใดที่แม่ไม่สบาย เอ้สามารถดูแลแม่ได้เลย ไม่ต้องลางาน ไม่ต้องขออนุญาตใคร เมื่อไหร่ที่เราอยากไปเที่ยวไปพักผ่อนด้วยกัน เราก็ได้ไป ในบ้านหลังนั้นมันเป็นทั้งบ้าน ทั้งครอบครัว ทั้งงาน มันเป็นความมั่นคง มันคือทุกอย่าง”
เราสัมผัสได้ถึงมวลความสุขที่เธอมี แถมยังชื่นชมปนอิจฉาชีวิตเรียบง่ายของเธอไปด้วย เธอเล่าต่อว่าในพื้นที่ 18 ไร่ ถูกจัดวางไปด้วยแปลงต่างๆ ทั้งแปลงข้าว แปลงพืชผัก สนามทดลองของเธอ รวมถึงสวนของขวัญ
“ส่วนที่ดินเฉพาะในบ้านมี 2 ไร่ 3 งานค่ะ จะมีกล้าข้าว มีโรงสีเล็กๆ มีบ่อเลี้ยงปลา แปลงปลูกผัก ตอนนี้ไม่ได้ซื้อผักที่ตลาดเลย ผักทุกอย่างที่เรากินมีในบ้านหมด และมีแปลงเรียนรู้ของเอ้ด้วย เอ้อยากจะรู้อะไรก็จะทำในนั้น เช่น ลองปลูกแครอท กระหล่ำ ที่นั่นจะเป็นสนามทดลองของเอ้เลย
ส่วนแปลงนอกบ้านอีกประมาณ 15 ไร่ อันนี้เป็นแปลงเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของมัน เพราะถ้าเกิดขายโรงสีราคามันจะขึ้น-ลงตามพ่อค้าคนกลาง แต่ถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ราคามันจะนิ่งตามกรมการข้าว แปลงส่วนหนึ่งเอ้ก็ได้ทดลองปลูกข้าว อย่างข้าวญี่ปุ่น ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวสีดำ ชอบเรียนรู้ไปเรื่อยๆ”
ก่อนหน้านี้เราสะดุดใจกับคำว่า “สวนของขวัญ” เพราะฟังจากชื่อแล้วรู้สึกว่าเป็นชื่อที่น่ารัก แลดูต้องมีสตอรี่อะไรสักอย่าง จึงถามถึงที่มาที่ไปของสวนแห่งนี้ ซึ่งต้องบอกเลยว่าพอเธอขยายความให้ฟัง เราอดอมยิ้มให้กับความน่ารักไม่ได้จริงๆ
“เอ้มีสวนของขวัญ 1 ไร่ ที่มาของชื่อสวนนี้คือเอ้เกิดเมื่อเดือนตุลาคม แม่บอกปีนี้เขาไม่มีอะไรให้นะก็เลยปลูกต้นไม้ให้ 300 กว่าต้นเมื่อช่วงวันเกิด เราก็เลยเรียกสวนนี้ว่า “สวนของขวัญ” เพราะต้นไม้ยืนต้นพวกนี้เมื่อถึงอายุ 6-10 ปี สามารถตัดปลูกบ้านได้”
นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่านอกจากสวนของขวัญที่แม่ของเธอมอบต้นไม้กว่า 300 ต้นให้เธอในวันเกิดแล้ว ต้นไม้ส่วนใหญ่ในบริเวณบ้านก็มีสตอรี่กับเขาด้วยเช่นกัน เธอเปรียบเปรยให้เราฟังว่าหากซื้อต้นไม้จากร้านขายต้นไม้ คงไม่มีใครจำได้ว่าซื้อจากร้านไหน แต่ถ้าเป็นต้นไม้ที่มอบให้ด้วยมิตรภาพ แน่นอนว่าผู้รับย่อมจำได้ดีว่าใครให้มันมา
“จริงๆ ต้นไม้ส่วนใหญ่ในบ้านจะเป็นต้นไม้ที่ได้มาจากเพื่อน เราแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์กัน อย่างฝรั่งต้นนี้เราจะนึกขึ้นได้ว่าเราได้มาจากพี่คนนี้นะ ถ้าต้นไม้ต้นนี้เราซื้อ เราจำร้านที่ซื้อไม่ได้หรอกค่ะ เพราะฉะนั้นในบ้านเอ้ต้นไม้จะมีสตอรี่ทุกต้น ทุกที่ ทุกมุมจะมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันไปหมด มันกลายเป็นความอบอุ่นในบ้านค่ะ”
“เริ่มจากสิ่งที่ชอบ มันจะเป็นทางที่ใช่”
หลายคนคงคิดว่าถ้าจะไปเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ แรกเริ่มก็คงต้องมีพื้นที่ก่อนแน่ๆ หากไม่มีที่ดิน ไม่มีไร่ ไม่มีนา แล้วจะไปทำเกษตรได้ยังไง โดยเฉพาะกับคนเมืองที่อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องไกลตัวไปสักหน่อยสำหรับการเพาะปลูกพืชผัก แต่เธอบอกกับเราว่าเรื่องของพื้นที่นั้นไม่มีความจำเป็น
“ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินนะคะ ไม่ว่าจะอยู่ในเมือง คอนโด หรืออะไรก็ตาม หนึ่งอย่างที่เอ้อยากแนะนำคือ ลองมองอะไรให้มันง่ายไว้ก่อน ถ้าคิดว่ามันยากก็จะไม่มีใครกล้าทำ เริ่มจากตอนนี้ให้ดูว่าซื้ออะไรบ่อยที่สุด จากนั้นลดรายจ่ายของตัวเองในส่วนนั้น
ถ้าอยู่คอนโดแค่มีพื้นที่เล็กๆ ไว้สำหรับวางกระถางใบหนึ่งที่ปลูกพริก เวลาไปซื้อมา 5-10 บาทเรากินไม่หมด แช่ตู้ไว้สุดท้ายก็ไม่ได้กินมันอยู่ดี แต่ถ้าเราปลูกพริกไว้สักต้นหนึ่ง กินแค่ 5 เม็ด 10 เม็ด หรือตำน้ำพริกนิดๆ หน่อยๆ เราก็ลด 5 บาท 10 บาทตรงนั้นไปได้เหมือนกัน”
สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดไว้เสมอคือไม่ว่าจะเริ่มต้นทำสิ่งใด เราควรเริ่มต้นจากความชอบ เธอเน้นย้ำประโยคนี้ตลอดบทสนทนา พร้อมให้เหตุผลว่าถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบก็จะทำได้นาน และนอกจากความสุขที่เกิดขึ้นแล้ว ยังสามารถต่อยอดความชอบสร้างรายได้ขึ้นได้อีกด้วย
“หนึ่งอย่างที่ตอนเริ่มต้องทำคือ ต้องเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่าเริ่มจากสิ่งที่คนอื่นบอกมาว่าดี เอ้อยากให้ทำอะไรที่เราชอบเพราะมันจะทำได้นาน มีความสุขกับมัน อย่างคนที่เอ้รู้จักเขาอยู่แฟลตชอบปลูกผักสลัดก็ปลูกประดับรอบๆ แฟลต แต่เดือนๆ หนึ่งสามารถทำรายได้จากผักสลัดได้เป็นหมื่นๆ
คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำเกษตรจะหวังเงินก้อนโต ซึ่งจริงๆ มันจะทำให้ล้มง่ายเพราะความมุ่งหวังมันคือเงิน แต่จริงๆ แล้วเราต้องการความสุข ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่ชอบแล้วนำไปต่อยอดพัฒนามันก็จะมีรายได้เข้ามาเอง แต่ถ้าเริ่มจากสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี เราทำได้ไม่ดีหรอกค่ะเพราะเราไม่ได้ชอบมัน”
สุดท้ายนี้ เธอยังฝากเป็นกำลังใจให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจด้านการเกษตรว่าสามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ผ่านเฟซบุคแฟนเพจของเธอ แม้เธอจะออกตัวกับเราว่าไม่ได้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้อะไรมากมาย แต่ก็ยินดีที่จะให้คำปรึกษา รวมถึงอยากให้คนอื่นๆ มองเห็นว่าอาชีพเกษตรนั้นก็มั่งคงและมีความสุขได้เช่นกัน
“ใครที่อยากทำเกษตรหรือสนใจด้านนี้ เอ้ยินดีแนะนำนะคะ อย่างในเพจจะมีข้อมูลแลกเปลี่ยนกัน เพราะเราไม่ได้ถือว่าเป็นผู้รู้เชี่ยวชาญอะไรมาก แต่จะเน้นแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างคนรุ่นใหม่ ถ้าคนที่เขารู้เขาก็จะแนะนำว่าทำแบบไหนถึงดี คอยแลกเปลี่ยนกัน แบ่งปันกัน เราพยายามเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หันมามองการเกษตรเป็นมุมสวยๆ มุมหนึ่งค่ะ”
เรื่อง พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ ชาวนาขนตางอน