xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.เปิดเวทีสัมมนา14ธ.ค. ฟังความเห็นร่างกม.พรรคการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพรเพชร วิชิตลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึง การเตรียมการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง และ คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ขณะนี้รอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ก่อน เมื่อประกาศใช้แล้วกระบวนการก็เริ่มนับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าจะเป็นร่างสุดท้ายของกรธ. มีโอกาสที่จะมีการปรับปรุงก่อนรธน.ประกาศใช้
สำหรับความคิดเห็นของพรรคการเมืองที่เห็นต่าง เกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น ก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ทั้งพรรคการเมืองและประชาชน ในส่วนของสนช.เอง ก็มีข้อจำกัด เพราะในการพิจารณาต้องสอดคล้องไปกับรธน. โดย สนช.จะมีเวลา 60 วันในการพิจารณา หากประเด็นใดยังไม่มีข้อสรุป สนช. อาจเชิญพรรคการเมืองเข้ามาให้ความคิดเห็นอีกครั้ง ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ ร่างที่เปิดมานั้น เป็นแค่เบื้องต้น กรธ.อาจจะมีการปรับปรุงใหม่ก็ได้
ด้านนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ และสำรวจความคิดเห็นประชาชนในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็น หลังจากเผยแพร่เนื้อหาเบื้องต้นของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ได้ส่งหนังสือไปถึงพรรคการเมืองให้ทราบว่าจะมีการเปิดเวที วันที่ 14 ธ.ค.นี้ แต่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นการเชิญหัวหน้าพรรค หรือเลขาธิการพรรค เพราะยังติดคำสั่ง คสช. ที่ไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม แต่พรรคการเมือง ก็สามารถส่งตัวแทนมาแสดงความเห็นได้ โดยคาดว่าจะมีพรรคการเมืองมาร่วมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของพรรคการเมืองทั้งหมด พร้อมมีตัวแทนจาก สปท. สนช. และมหาวิทยาลัย เข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ ทางกรธ.จะอธิบายเหตุผลให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ทราบถึงการบัญญัติเนื้อหาแต่ละมาตรา แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถือว่าเป็นข้อสรุป เพราะยังสามารถปรับแก้ได้หากมีการให้ความเห็นที่มีเหตุผล ส่วนการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ก็จะมีการจัดสัมมนาต่างหาก ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้
ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า เนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่เอื้อต่อการตั้งพรรคใหม่นั้น เรื่องนี้มีการหารือกันมากในห้องประชุมกรธ. แต่ก็มีความเห็นตรงกันว่า พรรคการเมือง จะต้องมีการทำงานเป็นขั้นตอน มีระเบียบแบบแผน มีความเป็นสถาบันทางการเมือง ดังนั้นการกำหนดให้มีจำนวนคนแรกเริ่ม 500 คน พร้อมด้วยทุนประเดิมคนละไม่ต่ำกว่า 2 พันบาท จึงเป็นเรื่องเหมาะสม เพราะการดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องมีความเป็นกิจจะ ลักษณะ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่มีบทกำหนดโทษรุนแรงและเข้มข้นว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกวิตกกังวล ต่อบทกำหนดโทษที่บัญญัติไว้ใน หมวด 10 ของกม.ฉบับนี้ ที่มีเนื้อหาครอบคลุมถึง 32 มาตรา ด้วยบทกำหนดโทษที่รุนแรง ทั้งจำคุก 10 ปี 20 ปี จำคุกตลอดชีวิตไปจนถึงประหารชีวิต เพราะไม่คิดจะทำความผิดอยู่แล้ว แต่ก็มีหลายมาตรา ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่พรรคการเมืองอาจจะทำผิดโดยไม่เจตนา หรืออาจถูกกลั่นแกล้งจากฝ่ายตรงข้าม เช่น ม. 22 บัญญัติว่า "เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิก ให้กรรมการบริหารพรรค มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลไม่ให้สมาชิก หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม หรืออาจเป็นคุณ หรือเป็นโทษ แก่บุคคลใดไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ถ้ากรรมการบริหารควบคุมสมาชิกไม่ได้ จนทำความผิด กรรมการบริหารต้องพ้นจากตำแหน่ง และห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรค 20 ปี และอาจถูกลงโทษจำคุกอีก 10 ปีก็ได้ ถ้าพรรคใดมีสมาชิกนับ 1,000,000 คน กรรมการบริหารพรรค จะควบคุมสมาชิกอย่างไร หรือ อาจถูกฝ่ายตรงข้ามแฝงตัวเข้ามาเป็นสมาชิก เพื่อทำผิดจนเป็นเหตุให้กรรมการบริหารพรรคต้องออกจากตำแหน่ง และถูกลงโทษจำคุกด้วย
" จึงอยากฝากให้กรธ. ช่วยดูถึงปัญหาอุปสรรคของการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้จริงด้วย มิฉะนั้นก็อาจมีการเลี่ยงกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้นด้วยการหานอมินี มาเป็นกรรมการบริหารพรรคแทนผู้นำพรรคตัวจริง ซึ่งก็จะทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองให้ดีขึ้นตามจุดมุ่งหมายของกรธ. แต่กลับสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก กรธ.ควรจะมีมาตรการที่ปฏิบัติได้จริง เพื่อไม่ให้มีการเลี่ยงกฎหมายเกิดขึ้น"
นายองอาจ กล่าวด้วยว่า การออกกฎหมายใดก็ตาม ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายได้จริง เพื่อให้เป็นไปตามหลักการและเหตุผลที่ออกกฎหมายนั้นๆ การออกกฎหมายใดที่นำไปสู่ความพยายามหลีกเลี่ยงที่จะปฏิบัติตาม หรือไม่สามารถปฏิบัติตามได้จริง ก็จะเป็นการออกกฎหมายที่สูญเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น