xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายเศรษฐกิจของ Mr.Trump และจุดจบของสหรัฐในฐานะผู้จัดระเบียบโลก

เผยแพร่:   โดย: ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอพี
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ


หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐทำให้ทั้งโลกตื่นตระหนกต่อการเข้ามาดำรงตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของประเทศ คุณ Donald Trump อภิมหาเศรษฐี นักธุรกิจชั้นนำที่มีประสบการณ์ทางธุรกิจอย่างโชกโชน แต่ไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐเลยแม้แต่ชั่วโมงเดียว ทำให้หลายๆ ฝ่ายเกิดความวิตกกังวลว่า แล้วในเวทีการเศรษฐกิจและการเมือง-ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในช่วงต่อจากนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร ถึงกับมีนักรัฐศาสตร์ชื่อดังก้องโลกอย่างเช่น Professor Amitav Archaya แห่ง American University ณ Washington DC ออกมาวิเคราะห์ว่านี่คือ จุดจบของการจัดระเบียบโลกโดยสหรัฐอเมริกา (The End of American World Order)

เพื่อที่จะเข้าใจการจัดระเบียบโลกและจุดของการจัดระเบียบโลกโดยสหรัฐ บทความนี้ผมเขียนขึ้นโดยพยายามวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของ Trump จากมุมมองเศรษฐกิจการเมือง (Political Economy) โดยอาศัยงานเขียนของปรมาจารย์ในสาขานี้ 4 ท่าน คือ John Williamson (1989), Fukuyama (1989, 1992), Huntington (1992, 1996) และ Archaya (2012, 2013)

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนครับว่าการจัดระเบียบโลก (the World Order) คืออะไร เริ่มต้นเมื่อไหร่ จริงๆ ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับเมื่อโลกเกิดการแบ่งขั้วอย่างชัดเจนระหว่าง เสรีนิยม-ประชาธิปไตย (นำโดยสหรัฐและยุโรปตะวันตก) และสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ (นำโดยโซเวียต) ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละค่ายก็มีการจัดระเบียบในเรื่องการเมือง การปกครอง และระบบเศรษฐกิจตามความเชื่อของตนเอง

ในค่ายเสรีนิยม-ประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาก็ขยายอิทธิพลโดยการสร้างองค์กรระหว่างประเทศจำนวนนึงขึ้นมาเพื่อควบคุมกฏกติกาต่างๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง-ความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารโลก (the World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) องค์กรการค้าระหว่างประเทศ (World Trade Organisation: WTO) หรือแม้แต่องค์กรที่อยู่ภายใต้และเป็นเครือข่ายขององค์การสหประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็น ILO, FAO, UNHCR เหล่านี้เป็นต้น

ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 องค์กรเหล่านี้เริ่มมีสูตรสำเร็จในการจัดการกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน และในเมื่อองค์กรส่วนใหญ่ที่คุมกติกาทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเหล่านี้มีสำนักงานอยู่ในสหรัฐโดยเฉพาะในกรุงวอชิงตันดีซีมีความคิดไปในแนวทางเดียวกัน และมีอิทธิพลของชุดความคิดแบบเสรีนิยม (Liberal Hegemonic) ซึ่งนำโดยสหรัฐกำหนดแนวทางและมีอิทธิพลอยู่ ทำให้ในปี 1989 John Williamson แห่ง Institute for International Economics ขนานนามชุดความคิดและแนวทางการจัดระเบียบโลกด้วยวิธีคิดแบบเสรีนิยมแบบนี้ว่า ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus)

แนวคิดหลักของฉันทามติวอชิงตันเป็นแนวคิดแบบเสรีนิยม ซึ่งแน่นอนว่าเอื้อผลประโยชน์อย่างมากให้กับสหรัฐและโลกตะวันตก ทั้งนี้เนื่องจากการเป็นผู้กำหนดกติกาการเล่นเกมด้วยตนเอง ย่อมทำให้ตนเองได้เปรียบในการเล่นเกมนั้นอยู่แล้ว แนวคิดแบบฉันทามติวอชิงตันถูกนำมาใช้และบังคับใช้ในหลายพื้นที่และหลายวาระทั่วโลก จนทำให้สหรัฐสามารถเป็นผู้จัดระเบียบโลกได้ (ในกรณีของประเทศไทย เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในข้อเสนอแนะของ IMF ในคราวที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (1997 Asian Financial Crisis))

บัญญัติ 10 ประการหลักของฉันทามติวอชิงตันซึ่งองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ นิยมใช้กับประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการได้แก่

1.การมีวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) นั่นคือต้องให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณแบบเกินดุล คือมีรายจ่ายของรัฐบาลต่ำกว่ารายรับของรัฐบาล ทั้งนี้เพื่อป้องกันการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเป็นหลักประกันว่าประเทศจะมีเงินคงคลังเพิ่มขึ้นเพื่อใช้คือเงินกู้ยืมที่ขอรับความช่วยเหลือไปจากองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้ แน่นอนว่าข้อนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่ง เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ แทนที่จะใช้ให้รัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวโดยการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่กลับให้ใช้นโยบายรัดเข็มขัด

2.ต้องเปลี่ยนรูปแบบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน (Redirection of Public Spending) โดยต้องใช้จ่ายงบประมาณที่มีอย่างจำกัดในข้อที่ 1 ไปเพื่อ 3 ด้านหลักคือ เพื่อจัดระบบสวัสดิการโดยเฉพาะเรื่องการจัดการศึกษา และการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน และการลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน ข้อดีของการลงทุนใน 3 ด้านนี้คือเป็นการเตรียมพื้นฐานเพื่อการพัฒนาในระยะยาว แต่นักคิดบางกลุ่มก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าที่ต้องใช้รายจ่ายไปในลักษณะนี้ก็เพียงเพื่อลดแรงต้านจากประชาชนที่เสียโอกาสเพราะรัฐบาลไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา การให้ระบบสวัสดิการก็เป็นเพียงแค่เครื่องปลอบใจที่ยังจะดึงให้คนส่วนใหญ่ยอมที่จะยังอยู่ในระบบเดิม โดยไม่ออกมาต่อต้านรัฐบาลเสรีนิยมและเกิดการเปลี่ยนแปลง

3.การปฏิรูประบบภาษี (Tax Reform) ทั้งในรูปแบบของการขยายฐานการจัดเก็บภาษีและ/หรือการปรับอัตราภาษี ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มรายรับภาครัฐให้สอดคล้องกับข้อที่ 1 ซึ่งแน่นอนว่าว่าย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างแน่นอนเพราะเท่ากับเป็นการใช้นโยบายการคลังแบบหดตัวในช่วงเกิดวิกฤต สร้างภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นให้กับประชาชน แต่อย่างไรก็ตามองค์กรอย่างเช่น ธนาคารโลก และ IMF คือผู้ปล่อยเงินกู้ก็ย่อมต้องการหลักประกันว่าเงินที่ปล่อยกู้ออกมาจะได้รับการชำระคืน

4.กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับกลไกตลาด (Market Determined Interest Rate) ห้ามไม่ให้มีการแทรกแซงในตลาดเงินตลาดทุนซึ่งเป็นกลไกหลักในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย

5.กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความสามารถทางการแข่งขัน (Competitive Exchange Rate) ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นการแทรกแซงให้ค่าเงินอ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเล็กน้อย ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการส่งออก และส่งเสริมการลงทุน ให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้มากขึ้น แน่นอนในมุมกลับก็หมายถึงการที่เศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะผูกพันพึ่งพาระบบการค้าการลงทุนระดับโลกมากยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาถือครอง (บางครั้งถึงขั้นครอบงำ) กิจการได้ง่ายขึ้น

6.การเปิดการค้าเสรี (Trade Liberalisation)

7.การเปิดเสรีการลงทุน (Investment Liberalisation)

สำหรับข้อที่ 6 และ 7 แน่นอนว่าการค้าการลงทุนที่เปิดเสรีมากยิ่งขึ้นผ่านการลด ละ เลิกกำแพงภาษี และมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้ประเทศต่างๆ เข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดในระดับโลก ผู้บริโภคในแต่ละประเทศสามารถที่จะเข้าถึงโอกาสในการบริโภคสินค้าที่นำเข้ามาซึ่งมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในระดับราคาที่ต่ำลง แต่ในขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติ ซึ่งแน่นอนว่ามีเงินทุนที่มากกว่าสามารถเข้าถึงตลาด (Market Access) ได้มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน และต้องอย่าลืมว่าในช่วงทศวรรษ 1980 – 1990 บริษัทข้ามชาติที่มีเงินทุนมหาศาลเกือบทั้งหมดเป็นของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และพันธมิตร เช่น ญี่ปุ่น

8.แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatisaion) แน่นอนว่ากิจการที่ทำกำไรมหาศาลและมีลักษณะผูกขาด อาทิ ไฟฟ้า ประปา พลังงาน โทรคมนาคม โลจิสติกส์ มักจะถูกผูกขาดอยู่แล้วในแต่ละประเทศโดยรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprises) การแปรรูปนอกจากจะเป็นการหารายได้เพิ่มขึ้นให้กับรัฐบาล เพื่อใช้ไปในการชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมมาจากองค์กรระหว่างประเทศหรือรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ในช่วงวิกฤตแล้ว การแปรรูปรัฐวิสาหกิจยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนจากประเทศที่มีเงินทุนมากกว่ามีโอกาสเข้าถึงการลงทุน บางครั้งอาจจะถึงขั้นครอบงำตลาดได้มากขึ้น และง่ายขึ้นอีกด้วย

9.การลด ละ เลิก กฎระเบียบต่างๆ (Deregulation) ลองนึกภาพดูว่าเพื่อมาตรการกีดกันทางการค้าทางภาษีและมิใช่ภาษีได้ถูกลด ละ เลิก ไปแล้วในข้อ 6 และ 7 กิจการที่ไม่สามารถเข้าไปลงทุนได้เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจก็อนุญาตให้ต่างชาติสามารถเข้ามาถือครองหุ้นได้แล้วในข้อ 8 อะไรบ้างที่ยังเป็นอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน แน่นอนว่ากฎระเบียบต่างๆ ที่มีควาบซับซ้อน ยุ่งยาก หยุมหยิม แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ย่อมสร้างความลำบากให้กับบริษัทและนักลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้นการการลด ละ เลิก กฎระเบียบต่างๆ จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มทุนมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสมากยิ่งขึ้น และถ้าประเทศที่อยู่ในกลุ่มที่มีความสามารถในการจัดระเบียบซึ่งนำโดยสหรัฐสามารถเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบตลอดจนมาตรฐานต่างๆ ได้ นั่นก็ยิ่งทำให้พวกเขาได้แต้มต่อมากยิ่งขึ้น เพราะผู้เล่นเกมที่เป็นผู้กำหนดกติกาย่อมได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่า จึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นกฎระเบียบและมาตรฐานสากลใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกตลอดช่วงทศวรรษ 1990 อาทิ GMP, ISO, HACCP, FDA

10.การกำหนดบทบัญญัติและการยอมรับในกรรมสิทธิ์โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญา (Legal security for Intellectual Property Rights) แน่นอนว่าการค้าการลงทุนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีระบบกรรมสิทธิ์ เพราะแน่นอนว่าเราไม่สามารถขายของที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของได้ ในกรณีของประเทศที่มีรายได้ระดับสูง แน่นอนว่าต้นทุนการผลิตไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่กิจกรรมที่ประเทศเหล่านี้สามารถแข่งขันได้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนา หรือพัฒนาน้อยที่สุดที่มีทั้งทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ดังนั้นความสามารถทางการแข่งขันไม่ได้อยู่ที่อุตสาหกรรม แต่ต้องใช้นวัตกรรมในการแข่งขัน นวัตกรรมคือ ความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างมูลค่าได้ แต่ปัญหาของความคิดสร้างสรรค์คือ ลงทุนสูงแต่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย ดังนั้นกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจึงเป็นด่านแรกในการที่จะทำให้ประเทศพัฒนาแล้วที่กำหนดกติกาของเกมได้มีความสามารถในการแข่งขันภายใต้ระเบียบโลกใหม่

จะเห็นได้ว่าทั้ง 10 ข้อของฉันทามติวอชิงตันล้วนทำให้สหรัฐและพันธมิตรสามารถกำหนดกรอบความคิด ระเบียบ และกติกาใหม่ของโลกหลังสงครามเย็นได้อย่างเบ็ดเสร็จ ตัวอย่างการนำแนวความคิดเหล่านี้มาบังคับใช้ในระดับโลกหรือในระดับพหุภาคีที่เห็นอย่างชัดเจนมากที่สุดคือ การหาข้อสรุปในที่ประชุม General Agreement on Tariff and Trade (GATT) รอบอุรุกวัย และการเกิดขึ้นขององค์กรการค้าระหว่างประเทศ (World Trade Organisation: WTO) ในปี 1994-1995 ที่ประเด็นเหล่านี้ถูกกำหนดเป็นแกนหลักของวัตถุประสงค์และหลักการในการดำเนินงานขององค์กรระหว่างประเทศแห่งนี้ นั่นคือตัวอย่างของการจัดระเบียบโลกแบบสหรัฐ (American World Order) ที่ถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางของทศวรรษ 1990 ซึ่งถูกเขียนสรุปไว้ในคำบรรยายของ Francis Fukuyama ในปี 1989 และถูกขยายความเป็นหนังสือในปี 1992 ชื่อ “The End of History and the Last Man”

“What we may witnessing is not just the end of the Cold War, or the passing of a particular period of Post-War history, BUT the end of history as such: that is, the end point of mankind’s ideological evolution and the universalization of Western Liberal Democracy as the final form of human government”

นั่นคือตามการวิเคราะห์ของ Fukuyama ระเบียบโลกใหม่เกิดขึ้นแล้วในรูปแบบของ Liberal Hegemonic Order ซึ่งมี the Last Man คือสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรที่เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์หลักของโลกรวมทั้งเป็นผู้สร้างสินค้าสาธารณะ (Public Goods) ในมิติเศรษฐกิจและความมั่นคงของโลกในรูปแบบขององค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ World Bank และ WTO ที่ควบคุมโดยสหรัฐ กองทุนการเงินระหว่างประเทศที่อยู่ในอิทธิพลของสหภาพยุโรป และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเซีย (Asian Development Bank: ADB) ที่นำโดยญี่ปุ่น และแน่นอนว่าหลักคิดทั้ง 10 ประการถูกนำเสนอในระดับโลกภายใต้ชื่อ โลกาภิวัฒน์ (Globalisation)

อย่างไรก็ตาม มาถึงจุดนี้คงต้องเพิ่มเติมด้วยว่า นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศไม่ได้คิดไปทิศทางเดียวกันกับ Fukuyama ทั้งหมด ตัวอย่างที่สำคัญคือ งานของ Samuel P. Huntington ในคำบรรยายของเขาในปี 1992 เพื่อตอบโต้ความคิดของ Fukuyama ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเขาและขยายความเป็นหนังสือในปี 1996 ชื่อ “The Clash of Civilizations and the Remaking of World Order” ที่ Huntington วิเคราะห์ว่าความแตกต่างและความไม่ยอมรับในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและศาสนาต่างหากที่จะเป็นต้นเหตุหลักในความขัดแย้งครั้งต่อไปของมนุษย์ (ไม่ใช่อุดมการทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจแบบในช่วงสงครามเย็น)

แน่นอนว่าความขัดแย้งกันทางศาสนา อาทิ ปัญหากลุ่มหัวรุนแรงคลั่งศาสนา (the Extremist) และการเกิดขึ้งของนักรบรัฐอิสลาม (Islamic State of Iraq and Syria: ISIS) คงเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยืนยันความถูกต้องของ Huntington

แต่นอกเหนือจากประเด็นทางด้านความขัดแย้งทางอัตลักษณ์ (Identity Crisis) แล้ว ในความเป็นจริง ระเบียบโลกใหม่เองก็เริ่มต้นล่มสลายโดยตัวเองแล้วเช่นกัน โดยสัญญาณที่สำคัญ ของจุดเริ่มต้นของการล่มสลายเกิดขึ้นในปี 1999 เมื่อสมาชิกองค์กรการค้าโลกรวมตัวกันที่นคร Seattle เพื่อเจรจาหาแนวทางการเปิดรอบการเจรจาการค้ารอบใหม่ในระดับพหุภาคีในปี 2000 ภายใต้ชื่อ Millennium Round ซึ่งการประชุมในครั้งนั้นจบลงโดยการที่ประธานาธิบดี Gorge W. Bush ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้กองกำลังเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านโลกาภิวัฒน์ (Anti-Globalisation) ตามมาด้วยการเปิดรอบการเจรจาขององค์กรการค้าระหว่างประเทศรอบใหม่ที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วต้องประนีประนอมรอมชอมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปี 2001 ภายใต้ชื่อ Doha Development Round: DDR แต่จนกระทั่งปัจจุบันปี 2016 DDR และการเจรจาการค้าระดับพหุภาคีก็ยังไม่ยุติและยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ในขณะที่สหราชอาณาจักรก็มีการทำประชามติและประชาชนต้องการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งถือเป็นการบูรณาการภูมิภาคในระดับที่ลึกซึ้งผูกพันกันตามแนวคิดแบบเสรีนิยมในระดับที่ลึกที่สุดที้เกิดขึ้นจริงภายใต้ปรากฎกาณ์ที่เรียกว่า Brexit หรือการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของ Donald Trump ที่มีวิธีคิดแบบชาตินิยม (Nationalism) และนิยมการค้าแบบคุ้มกัน (Protectionism) ภายใต้แคมเปญหาเสียง Make America Great Again และนโยบาย Putting America First เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า American World Order หรือการจัดระเบียบโลกแบบสหรัฐได้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด

1 ใน 6 มาตรการแรกที่ Trump แถลงผ่าน Youtube Video Clip ในช่วงก่อนวันหยุดเทศกาลขอบคุณพระเจ้า คือการที่เขาจะยื่นเอกสารแสดงเจตจำนงค์ในการถอนตัวของสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิกของข้อตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) ย่อมแสดงให้เห็นว่าสหรัฐได้มาถึงจุดสิ้นสุดของการจัดระเบียบโลกแบบเดิมแล้ว (The End of American World Order) ทั้งนี้เพราะ TPP คือความพยายามของสหรัฐเองในการจัดระเบียบการค้าการลงทุนโลกให้มีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น เพราะ TPP ไม่ได้เป็นเพียงข้อตกลงทางการค้า แต่เป็นขั้นกว่าของฉันทามติวอชิงตันที่ครอบคลุมมากกว่าแค่การเปิดเสรี แต่ยังพูดถึงการบังคับใช้และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบที่เข้มงวดเข้มข้นมากยิ่งขึ้น การใช้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงาน รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการค้า อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หลักธรรมภิบาล เข้าเป็นกรอบกติกาใหม่ในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าผลได้ของภาคธุรกิจในประเทศสมาชิก TPP ต้องแลกมาด้วยผลกระทบอย่างรุนแรงในมิติทางสังคม

แต่ TPP ก็คงไม่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้เนื่องจาก TPP จะมีผลบังคับใช้ได้ก็ต่อเมื่อทำได้ครบใน 2 เงื่อนไข เงื่อนไขแรกคือต้องมีประเทศสมาชิก TPP อย่างน้อยที่สุด 6 ประเทศจากจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 12 ประเทศที่ลงนาม ผ่านการให้สัตยาบัน (Ratification) และมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วรวมกันต้องมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 85 ของมูลค่า GDP ของทั้งกลุ่ม ซึ่งเงื่อนไขที่ 2 นี้เองที่ทำให้ TPP ไม่สามารถบังคับใช้ได้ เพราะแม้ 11 ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันครบ แต่ถ้าสหรัฐไม่ให้สัตยาบัน GDP รวมกันของทั้ง 11 ประเทศก็ยังไม่ถึงร้อยละ 85 ของ GDP รวมของทั้งกลุ่ม ทั้งนี้เพราะ GDP ของสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 18.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ของทั้งกลุ่มที่ระดับ 27.64 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อสหรัฐไม่อยู่ในสถานะที่จะเป็นผู้จัดระเบียบโลกและไม่อยู่ในสถานะที่จะสนับสนุนสินค้าสาธารณะในรูปของสถาบันหรือองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้แล้ว สภาพแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะอยู่ในลักษณะใด

สำหรับคำตอบต่อข้อสงสัยนี้ Amitav Archaya นำเสนอความคิดของเขาไว้ในหนังสือ The End of American World Order (2012/2013) ว่า สถานการณ์ของโลกจะอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า MultiPlex World ซึ่งคำว่า MultiPlex เกิดขึ้นจากการนำคำศัพท์ 2 คำมารวมเข้าด้วยกัน นั่นคือคำว่า Multiplicity ซึ่งแปลว่า ความหลายหลากมากมาย และ Complexity ที่แปลว่า ความซับซ้อน

นั่นคือ Amitav กำลังจะบอกเราว่า โลกยังคมเผชิญกับความไม่สมดุลกันทางอำนาจ (Power Asymetry) ต่อไป แต่ความสามารถในการจัดระเบียบและสนับสนุนสินค้าสาธารณะในรูปของสถาบันหรือองค์กรระหว่างประเทศคงไม่ได้อยู่ในมือของมหาอำนาจเชิงเดี่ยว (Single Power) หรือกลุ่มประเทศมหาอำนาจและพันธมิตร (Great Powers) หรือขึ้นอยู่กับรัฐชาติ (Nation State) ใดรัฐชาติหนึ่ง หากแต่ระเบียบโลกใหม่จะเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของผู้เล่นที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ ภาคประชาสังคมที่มีเครือข่ายในระดับนานาชาติ (Transnational Social Movement) บริษัทขนาดใหญ่และ/หรือบริษัทข้ามชาติ องค์กรระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค หรือแม้แต่สมาคมที่สนับสนุนโดยภาคเอกชน

การสูญเสียอำนาจของมหาอำนาจเดิม (ในที่นี้คือสหรัฐ) อาจนำไปสู่ความยุ่งยากซับซ้อนในความขัดแย้งระหว่างประเทศ (Inter-State Conflict) ซึ่งไม่น่าจะรุนแรงเมื่อเทียบกับความรุนแรงของความขัดแย้งในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากภายในแต่ละประเทศ (Intra-State Conflict) และความรุนแรงในระดับสูงสุดคงจะอยู่ที่ความขัดแย้งซึ่งเชื่อมโยงกับผู้เล่นที่ไม่ได้มีฐานะเป็นรัฐชาติ (Conflicts linked to Non-State actors) อาทิ กลุ่มความเชื่อสุดโต่ง (The Extremist) ซึ่งก็ตรงกับที่วิเคราะห์เอาไว้แล้วโดย Huntington ใน the Clash of Civilization

ระบบโลกใหม่ที่เรียกว่า MultiPlex World นี้จะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และผู้เล่นหลักหลายๆ ฝ่ายก็จะอยู่นอกเหนือการควบคุมของภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศ และแน่นอนว่าสหรัฐไม่สามารถควบคุมกลุ่มเหล่านี้ในลักษณะของตำรวจโลกได้อีกต่อไป

ในอนาคต ระเบียบโลกจะมีความเป็นภูมิภาคมากยิ่งขึ้น (Regionalised World) แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าสถาบันในรูปแบบ Inter-governmental Organisation จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น แต่จะเป็นระเบียบในระดับภูมิภาคที่ขึ้นกับปฏิสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆ ในทุกรูปแบบ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยมีทั้งผู้เล่นที่เป็นภาครัฐและไม่ใช่ภาครัฐ แน่นอนว่าโครงสร้างเหล่านี้บางส่วนก็สอดคล้องกับแนวทางที่สถาบันระหว่างประเทศเดิมเคยจัดระเบียบไว้ และในขณะเดียวกันก็สร้างประเด็นท้าทายใหม่ๆ ให้กับโครงสร้างการจัดระเบียบแบบเดิม ซึ่งนั่นทำให้บทบาทหน้าที่ของสถาบัน และ/หรือ องค์กรระหว่างประเทศในรูปแบบเดิมต้องมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินการของตนเองไปให้เข้ากับบริบทใหม่มากยิ่งขึ้น

และจากคำสัมภาษณ์ล่าสุดของ ศาสตราจารย์ Amitav ต่อ the Diplomat เว็บไซต์ข่าวด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เขาวิเคราะห์ว่า ประเทศจีน จะกลายเป็นผู้เล่นหลักและรับบทเด่นในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจโลก ในขณะที่สหรัฐยังเล่นบทหลักต่อไปในด้านการบริหารจัดการความมั่นคงในระดับโลก อย่างไรก็ตามความเสี่ยงยังคงอยู่ที่ ว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump ว่าเขาจะใช้อำนาจที่เขามีอยู่และศักยภาพของสหรัฐในรูปแบบที่มุทะลุ (Recklessly) หรือมีความรับผิดชอบเพียงใด

แน่นอนว่านโยบายปักหมุดในเอเซีย-แปซิฟิค (Pivot Policy) ของประธานาธิบดี Obama จบลงไปแล้วเช่นเดียวกับ TPP ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน คงไม่อยู่ในรูปของการที่สหรัฐต้องการปิดล้อมจำกัดเขตการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการขยายอิทธิพลของจีน และความพยายามของจีนในการตีฝ่าวงล้อมนี้อีกต่อไป ซึ่งในทำให้ประเทศไทยและอาเซียนสามารถประคองตัวอยู่ระหว่าง 2 มหาอำนาจนี้ได้ง่ายขึ้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐในรูปแบบใหม่ภายใต้การนำของ Trump คงเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐที่เป็นผู้พึ่งพา กับจีนที่เป็นผู้ผลิตหลักของโลก มาตรการทางการค้าในรูปแบบที่อาจสร้างการกีดกันทางการค้าจากประเด็น สิทธิมนุษย์ชน สิ่งแวดล้อม และมาตรฐานแรงงานคงถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการกดดันจีนในประเด็นค่าเงินหยวนที่สหรัฐต้องการให้แข็งค่าเพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าให้กับสหรัฐ และในเมื่อไทยและเพื่อนบ้านประชาคมอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งที่บูรณาการแล้วเข้ากับห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains: GVCs) เดียวกันกับประเทศจีน มาตรการของสหรัฐในรูปแบบใหม่นี้คือข้อควรระวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น