xs
xsm
sm
md
lg

จากสุวรรณภูมิสู่แยกรัชโยธิน วิธีวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของโครงการแบบไทยๆ หรือแบบอะไร?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
https://businessanalyticsnida.wordpress.com/
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
http://as.nida.ac.th/th/


เมื่อสองปีก่อนผมได้พบกับวิศวกรโยธาอาวุโสเกือบ 80 ขวบ ท่านเกษียณอายุราชการด้วยตำแหน่งระดับสิบแต่ยังขับรถเก่าๆ โทรมมากๆ ด้วยตนเอง สมถะ และไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลย พี่ท่านนี้ได้กรุณาเล่าความหลังเรื่องการออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิ น้องเคยเห็นที่สนามบินบ่อฝ้ายไหม ที่รันเวย์คร่อมถนนเพชรเกษมทั้งสาย ทำเป็นสะพานรันเวย์ ผมเลยตอบไปว่าเคยเห็นครับผม ยังรู้สึกทึ่งว่าวิศวกรมีความคิดดี มีความคิดสร้างสรรค์ เพราะสนามบินบ่อฝ่ายที่หัวหินนั้นมีถนนเพชรเกษมผ่ากลาง อีกข้างก็ติดเขา อีกข้างก็ติดทะเล ทำรันเวย์สำหรับเครื่องบินขนาดใหญ่ยากแต่มีความจำเป็นหลายประการที่รันเวย์ต้องยาวพอเผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน

พี่ท่านนี้เล่าต่อให้ผมฟังว่า เมื่อ 40 ปีก่อน พี่จบมาใหม่ๆ เพิ่งกลับมาจากเมืองนอก เห็นปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิว่าเป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำจะท่วม เป็นหนองงูเห่า และถึงทำรันเวย์แล้วก็จะทรุดง่ายเพราะดินกรุงเทพเป็นดินเลนยิ่งอยู่ไปทางปากน้ำสมุทรปราการยิ่งมีปัญหาแผ่นดินทรุด ทำสนามบินถ้าใช้วิธีการเดิมและจะมีปัญหามากและแพง พี่เลยออกแบบไปเสนอรัฐมนตรีว่าให้ทำแบบเดียวกับที่บ่อฝ้ายสมัยนี้ คือทำเป็นสะพานรันเวย์ ตอกเสาเข็ม และข้างใต้รันเวย์ให้เป็น flood way เหมือนเดิม วิธีการนี้จะทำให้ได้ runway ที่ทนทานมากเพราะเป็นสะพานคอนกรีต ตอกเสาเข็ม โอกาสพังและทรุดจะน้อยมาก น้ำไม่ท่วม ไม่ต้องถมดิน น้ำไหลผ่านได้ตามสะดวก ได้ภูมิทัศน์ที่สวยเก๋แปลกตาและอาจจะประหยัดงบประมาณในการถมที่ได้มากกว่า แต่รัฐมนตรีเขาตอบกลับมาว่า ไม่ได้ ผมจะเอาค่าถมที่ แล้วถ้าทำแล้วไม่มีพังไม่มีทรุดเลยก็ไม่ต้องมีค่าบำรุงรักษาสิแล้วจะอยู่กันได้อย่างไร ผมเลยต้องพับความคิดและแบบที่นำเสนอไป นี่คือมหากาพย์ค่าถมที่ดินสุวรรณภูมิซึ่งถมเท่าไหร่ ก็เติมไม่เติม และเมื่อรวมค่าถมที่แล้วอาจจะเปลืองกว่าการทำเป็นสะพานรันเวย์อย่างที่ว่าก็ได้

ล่าสุดนี้มีการตัดสินสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว วันนี้มีการทดลองปิดสะพานลอยข้ามแยกรัชโยธิน ผลคือรถติดวินาศสันตะโรไปทั้งเมือง เป็นที่เดือดร้อนกันมาก ผมเองไม่เห็นความจำเป็นในการทุบสะพานลอยข้ามแยกเกษตรและการทุบสะพานลอยข้ามแยกรัชโยธินเลย วิศวกรอาวุโสท่านหนึ่ง เป็น CEO บริษัทใหญ่ด้านลอจิสติกส์ได้กล่าวว่า “ทุบสะพานรัชโยธิน ขุดอุโมงค์แทน แล้วสร้างสะพานใหม่ตามแนวถนนพหลโยธิน เทียบกับยกระดับรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้สูงขึ้นกว่าสะพานรัชโยธิน ไม่ต้องทุบ ไม่ต้องขุด ไม่ต้องสร้างอะไรใหม่ ขอดู Feasibility Study หน่อยว่ากล้าดีอย่างไรที่เลือกทางเลือกแรก?”

อันที่จริงวิศวกรโยธาของไทยที่เก่งๆ นั้นมีมากเหลือเกินและน่าจะสามารถออกแบบโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ได้ ผมไม่ได้ขัดขวางความเจริญ แต่ถนนสายนี้ชื่อถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี มีการเฉลิมฉลองรัชดาภิเษก รัฐบาลในสมัยนั้นต้องการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวาย ทรงมีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยลงมาว่าให้ทำถนนวงแหวนรอบนอกคือถนนรัชดาภิเษกถวายจะเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่า

ในกรณีของแยกรัชโยธินนั้นภาครัฐ (สมัยไหนก็ไม่ทราบ) ตัดสินใจ 1. ทุบสะพานลอยบนถนนพหลโยธินจากที่ข้ามแยกเกษตร ซอยเสนานิเวศน์มาลงตรงหน้าเมเจอร์รัชโยธิน 2. ทุบสะพานลอยข้ามถนนรัชดาภิเษกตรงแยกรัชโยธิน 3. ขุดอุโมงค์ตามแนวถนนรัชดาภิเษกลอดถนนพหลโยธิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการยกระดับรถไฟฟ้าสายสีเขียวข้ามสะพานลอยข้ามแยกรัชโยธินมากมายนักและสามารถทำได้

การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ (Project feasibility study) ไม่ทราบว่าทำกันอย่างไร ปกติก่อนเริ่มต้นโครงการต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งทางด้านเทคนิค (ได้แก่แบบการก่อสร้าง ซึ่งควรครอบคลุมแนวทางที่เป็นไปได้ทั้งหมด) ทางด้านการเงิน ทางด้านการจัดการ ทางด้านกฎหมาย ทางด้านสิ่งแวดล้อม และทางด้านสังคม โครงการขนาดใหญ่เช่นนี้มีมูลค่าเงินลงทุนมหาศาล และมีผลกระทบสูงอาจจะต้องทำการจำลองด้วยแบบจำลองพลวัต (System dynamic simulation) เพื่อดูว่าระหว่างการก่อสร้างและหลังการก่อสร้างจะมีปัญหาอะไร การจราจรจะเป็นเช่นไร หรือเราจะทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการกันแบบไทยๆ หรือแบบอะไรกันเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น