xs
xsm
sm
md
lg

สจล.เปิดรับเด็กมหาวิทยาลัย 200 คน สร้าง “แอป” ทำเงินรองรับตลาดดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงไอซีที และ SIPA จับมือคณะวิศวะ ลาดกระบัง (สจล.) 'ปั้นเทค สตาร์ทอัพ' ซึ่งเป็นเทรนด์ธุรกิจใหม่ ดึง “ไอเดีย” เด็กในรั้วมหาวิทยาลัย ผสาน “ความรู้ด้านเทคโนโลยี” สร้างสรรค์แอปพลิเคชันโมบาย ที่สามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองยุคโมบาย 3.0 ที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันเครื่องมือการตลาดดิจิตอล “สจล.” รับสมัครนักศึกษา 200 คนเข้าโครงการ เปิดตัว 3 กลุ่มสตาร์ทอัพน้องใหม่ ทั้งแอปพลิเคชันสมาร์ทลิฟวิ่ง เปิด-ปิดอุปกรณ์ในบ้านด้วยสมาร์ทโฟน พร้อมแอปพลิเคชันกรุงศรี หมีเก็บเงิน และอีซี่ดีล (EasyDeal) ซื้อขายสินค้าออนไลน์

จากโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องมาถึงยุค 4G สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทยปี 2558 ที่มีจำนวนถึง 90 ล้านเครื่อง และคิดเป็นสัดส่วนของสมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มีจำนวนมากกว่า 45 ล้านเครื่อง ถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจทางด้าน เทค สตาร์ทอัพของไทย หรือผู้ประกอบการเทคโนโลยีหน้าใหม่ กลายเป็นเทรนด์ธุรกิจในปีนี้ แต่เมื่อพิจารณาจำนวนของคนที่อยู่ในวงการนี้ ถือว่ายังมีจำนวนน้อย จนเรียกว่าอยู่ในระดับที่ขาดแคลน (เทคสตาร์ทอัพปี 2556 มีเพียง 300 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 500 รายในปี 2557 และ 2,500 ราย ในปี 2558)

ทั้งนี้ด้านการตื่นตัวเพื่อรับมือกับโอกาสที่กำลังมาถึง โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้น มีโครงการเพื่อเฟ้นหาดาวเด่น เทค สตาร์ทอัพ เกิดขึ้นมากมายหลายโครงการ

นับตั้งแต่การผลักดันของภาคเอกชน เช่น บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หรือโอเปอเรเตอร์ ที่เข้ามามีส่วนสนับสนุน เช่น โครงการ “เอไอเอส เดอะ สตาร์ทอัพ” ที่จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และโครงการ True Incube ซึ่งเป็นโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของกลุ่มทรู ตามมาด้วยโครงการดีแทค แอกเซเลเรต นับว่าการผลักดันนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมให้ เทค สตาร์ทอัพไทย มีโอกาสแจ้งเกิด คว้ารางวัลในสนามการแข่งขันทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่โปรเจกต์ของรัฐบาลที่มีแนวคิดจะจัดตั้ง เนชั่นแนล สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์ เชื่อมโยงบัญชีนวัตกรรม ที่มีอยู่ในแต่ละกระทรวง และจดทะเบียนสตาร์ทอัพทั้งหมด เพื่อส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากธนาคารของรัฐและเอกชนได้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจให้มีการเติบโตจากภายใน และหนึ่งในงานหลักของ 4 โครงการนั้น จะเน้นส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ โดยจับมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ดิจิตอลเทคโนโลยี และธุรกิจบริการ มาร่วมกันคิด เพื่อสร้างเจ้าของธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมตั้งแต่ระดับเล็ก กลาง ใหญ่ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้จากการขายสินค้า และบริการที่เป็นทางเลือกใหม่ของตลาด

อย่างไรก็ดีกระทรวงไอซีทีก็ออกมารับลูกนโยบายนี้ โดย ดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) กล่าวว่า “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี หรือ เทค สตาร์ทอัพ เพราะเป็นแนวทางการส่งเสริมที่สอดคล้องกับแนวนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจ SMEs ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล”

ล่าสุดร่วมกับสำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และหน่วยงานทางด้านการศึกษาจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการใหม่เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมสตาร์ทอัพ ซึ่งมีแผนจะขยายการเปิดสตาร์ทอัพ คลับสำหรับนักศึกษา 40 แห่งในมหาวิทยาลัยต่างๆ ตั้งเป้าไว้ 500 โครงการที่จะส่งไอเดียเข้ามาในรอบแรก จากนั้นคัดเลือกเหลือ 40 ทีมที่จะเข้ามาอบรมเสริมความรู้และประสบการณ์ โดยมีกระทรวงไอซีที และ SIPA เป็นพี่เลี้ยง สำหรับรอบสุดท้ายจะคัดเหลือเพียง 10 ทีม ที่มีโอกาสไปฝึกฝนความเชี่ยวชาญและเปิดรับประสบการณ์ใหม่ที่ต่างประเทศ

วิศวะลาดกระบังนำร่องสตาร์ทอัพ คลับ แห่งแรกของไทย

ด้าน รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการรับมือกับโอกาสที่กำลังมา เพราะในช่วงปี 2558-2559 นั้น ถือเป็นกระแสการเติบโตของ “สตาร์ทอัพ” ไทย หรือบริษัทเปิดใหม่ที่พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการโดดเด่นด้วยเทคโนโลยี

หากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ทั้ง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามนั้น ประเทศไทยยังถือว่ามีบุคลากรในวงการนี้น้อยมาก นั่นเพราะยังขาดการเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีกับศักยภาพการตลาด เห็นได้จากผลงานวิจัยในประเทศไทยที่ผ่านมา ประมาณ 3.7 แสนผลงาน มีเพียง 40 -45% ที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ได้ และในจำนวนนี้มีนวัตกรรมไม่ถึง 5% ที่สร้างมูลค่าในเชิงรายได้กลับมา

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนวัตกรรมและต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยคณะวิศวะ ลาดกระบัง ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาศักยภาพของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ให้เตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ และเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ โดยเน้นให้นักศึกษามีความเข้าใจในการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ (Business Model) ให้ประสบความสำเร็จ โดยนำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์กับเทคโนโลยี ต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคและสร้างมูลค่า

โดยวางแผนกิจกรรมโครงการสตาร์ทอัพนักศึกษา ใช้เวลาเปิดรับสมัคร 9 เดือน มีทั้งกิจกรรมจัดเวทีเสวนาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่, จัดเวทีเสวนาทางธุรกิจและอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ, สรุปและประเมินผลโครงการ ตั้งเป้าจำนวนนักศึกษาเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 200 คน และคาดหวังกลุ่มต้นแบบที่เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 กลุ่ม ภายใน 1 ปี

ซึ่งรายละเอียดโครงการประกอบไปด้วย 3 โครงการย่อย คือ 1. โครงการค้นหาผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ 2. โครงการ Campus Tour จัดให้มีการพบปะกันระหว่างกลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างกัน และ 3. โครงการสร้างความตระหนัก-จิตวิญญาณผู้ประกอบการ เป็นการจัดเสวนาทางธุรกิจและอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เกี่ยวกับการวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจ พร้อมแผนจัด 2 อีเวนต์ใหญ่แสดงนวัตกรรมในเดือนเมษายน และกันยายน 2559 (KMITL Startup Project Day 2016 และงานวิศวะ’59)

3 กลุ่มสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่

การเตรียมความพร้อมของคณะวิศวะ ลาดกระบัง ที่จะปั้นนักศึกษาเข้าสู่วงการนี้ มีการเปิดตัว 3 กลุ่มสตาร์ทอัพน้องใหม่ที่กำลังพัฒนานวัตกรรมแอปพลิเคชันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ได้แก่

กลุ่มซันเดย์ เทคโนโลยี เจ้าของผลงานแอปพลิเคชันสมาร์ทลิฟวิ่ง ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงและสื่อสารเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆกับสมาร์ทโฟน เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคน สร้างความสะดวกปลอดภัยและประหยัดพลังงาน เช่น เปิด-ปิดไฟในบ้าน หรือเปิด-ปิดประตูรั้วจากสมาร์ทโฟน ตั้งเวลาเปิด-ปิดทีวี ไปจนถึงหากมีไฟลัดวงจร หรือไฟรั่ว จะตัดกระแสไฟโดยอัตโนมัติแล้วจะแจ้งเตือนมายังสมาร์ทโฟน ขณะนี้สมาร์ทลิฟวิ่ง อยู่ในขั้นตอนของการผลิตต้นแบบที่จะนำไปให้ผู้บริโภคทดลองใช้ และนำผลมาพัฒนาการผลิต

กลุ่มกรุงศรี หมีเก็บเงิน เจ้าของแอปพลิเคชันกรุงศรี หมีเก็บเงิน แอปพลิเคชันที่สร้างสีสันให้กับการออมเงิน โดยมีลักษณะเป็นแอปพลิเคชันเกมแบบ simulation ฝึกการบริหารเงินและให้ความรู้แบบสนุกสนาน พร้อมเกมตอบคำถามที่ช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้ด้านกองทุน ภาษี มากยิ่งขึ้น

กลุ่มอีซี่ดีล (EasyDeal) สร้างแอปพลิเคชันจัดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่มีระบบช่วยเหลือทั้งในส่วนผู้ซื้อ เช่น มีร้านค้าแนะนำ มีช่องทางติดต่อไปยังร้าน ชำระเงินผ่านบัตรเครดิตได้ภายในแอป แจ้งการโอนเงิน และตรวจสอบสถานะของสินค้าได้แบบ Real-Time สำหรับผู้ขาย มีระบบตัดสต๊อกสินค้า ระบบแบ่งออเดอร์ตามสถานะ ดูสถิติการขาย ตรวจสอบยอดเงินอัตโนมัติ เป็นต้น

เทรนด์แอปพลิเคชันสาขาไหนมาแรง

อีกทั้งในเวทีเสวนา เรื่อง “Startup: Start Together” มีผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์สตาร์ทอัพในแง่มุมต่างๆ นั้น ดร.มนู อรดีดลเชษฐ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยว่า “ประเทศไทยต้องการนักนวัตกรรมที่นำความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิตอล ซึ่งกลุ่ม เทค สตาร์ทอัพ ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ มีอยู่ 4 สาขาหลัก ได้แก่ 1. สาขาวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างนวัตกรรมให้เป็นผลงานทางธุรกิจได้ 2. สาขาเทคโนโลยี เน้นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคิดนวัตกรรมเพื่อช่วยควบคุมการจราจร 3. สาขานวัตกรรมโปรแกรมทั่วไป แต่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และตอบโจทย์แก้ปัญหาของสังคม และ 4. สาขาการตลาดระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ”

ขณะที่เคล็ดลับแจ้งเกิดในวงการสตาร์ทอัพนั้น นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) เสริมว่า “สิ่งที่จะช่วยให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จนั้นคือ 1. สร้างจุดแตกต่างและคุณค่าแก่ผู้บริโภค 2. ต้องมีความเป็นไปได้ในเชิงการตลาดอย่างยั่งยืน 3. สามารถสร้างผลกำไร และที่สำคัญคือ 4. กลุ่มสตาร์ทอัพต้องเปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้างไกลและมีความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคอย่างรอบด้าน”

ส่วนคนในวงการเทคสตาร์ทอัพประเทศไทย นายธีระ ศิริเจริญ COO & Co-founder บริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด กล่าวถึงการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วงการว่า “สิ่งที่ผู้ทำธุรกิจสตาร์ทอัพต้องเจอ คือ 1. ทีมหรือคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำสตาร์ทอัพ คนหรือทีมที่เหมาะสมกับการทำสตาร์ทอัพต้องมี 3 ทักษะ ได้แก่ ทักษะทางธุรกิจ, ทักษะการพัฒนาโปรแกรม และทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ 2. ทุน เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไอเดียหรือนวัตกรรมเป็นจริงได้”

กำลังโหลดความคิดเห็น