รายงาน
ทีมข่าววิเคราะห์เศรษฐกิจ
บทความชุดต่อไปนี้จะเป็นการสืบค้นจากงบดุลของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อหาคำตอบในประเด็นที่ประชาชนสงสัยและตั้งคำถามว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ฟอกเงินหรือไม่? โดยในตอนแรกจะปูพื้นฐานทั่วไป และในตอนต่อๆ ไป จะลงรายละเอียดเพื่อหาคำตอบที่แท้จริง
นิยาม การฟอกเงิน (Money Laundering [ML]) คือ การทุจริตคอร์รัปชันที่ซับซ้อน เป็นการทำให้อาชญากรรม เสมือนถูกกฎหมาย
Proceeds of Crime หมายถึง ทรัพย์ที่ได้มาอย่างฉ้อฉลแบบผิดกฎหมายถือเป็นอาชญากรรม เช่นการปล้น การริบทรัพย์โดยไม่ชอบธรรมทางกฎหมาย โดยทั่วไปจะเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กระทำในลักษณะของ White Collar Crime (อาชญากรรมแบบคนมีการศึกษา)
การฟอกเงิน (ML) คือ การทำให้ Proceeds of Crime (ที่ สกปรก เป็นทรัพย์ที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย เช่น ปล้นผู้อื่นมา ริบทรัพย์ของผู้อื่นมาอย่างไม่เป็นธรรม) กลับกลายถูกฟอกให้ดูเหมือนสะอาดกลายเป็น เงินบริสุทธิ์ โดยการฟอกเงินจะเป็นลักษณะของ “กระบวนการฟอกเงิน”
กระบวนการฟอกเงิน (Money Laundering Process) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ
1. Placement คือ การนำ “Proceeds of Crime” เข้าสู่ระบบทางการเงิน
2. Layering คือ การทำให้เกิดรายการที่หลากหลายทางการเงินเพื่อทำให้สับสน ปิดบัง อำพราง แหล่งที่มาของ “Proceeds of Crime”
3. Integration คือ การรวมรับเป็นเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย ด้วยการสร้างรายการทางการเงินให้เป็นไปตามที่กฎหมายรับรอง
ตัวอย่าง “รูปแบบของการฟอกเงิน (Money Laundering Typologies)” ที่มีความซับซ้อนมากกว่าการฟอกเงินในอดีต ที่มักจะรู้จักกันเพียงเรื่องของการค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ บ่อนการพนัน กาสิโน ในปัจจุบันนี้ การฟอกเงินเพิ่มความซับซ้อนและมีการใช้ความรู้ของผู้มีการศึกษาที่หลากหลาย โดยเฉพาะการฟอกเงินซึ่งถือว่าผิดกฎหมายผ่านทางธุรกรรมทางการเงินให้ถูกกฎหมาย และเพื่อให้เกิดการฟอกเงินเป็นวงกว้าง
ระบบการฟอกเงินนี้จะมีการใช้วงจรของบริษัท มหาชน จำกัด ที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงตลาดหลักทรัพย์ของแต่ละประเทศได้ทั่วทั้งโลก ส่งผลให้เกิดการฟอกเงินที่มีห่วงโซ่เชื่อมกันระหว่างประเทศ สำหรับรูปแบบของการฟอกเงินในปัจจุบันจะมี Proceeds of Crime ในลักษณะดังต่อไปนี้คือ (1) Trade Based Money Laundering (TBML) ได้แก่ ทรัพยากรธรรมชาติ (เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ) และพืชผลทางการเกษตร (ได้แก่ ข้าว) (2) Sales/Transfer of Financial Instruments (คือ การขาย/การโอนเครื่องมือทางการเงิน), และ Transfer of Valuable “Fixed Commodities” (คือ การโอนอสังหาริมทรัพย์ และการโอนทรัพย์สมบัติของแผ่นดินที่เกิดจากเงินของแผ่นดิน)
Proceeds of Crime ในกรณีของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการฟอกเงินหรือไม่ มีทั้งในส่วนของทรัพยากรธรรมชาติเอง คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แล การโอนทรัพย์สมบัติของแผ่นดินที่เกิดจากเงินของแผ่นดิน คือ ท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งถูกก่อสร้างขึ้นมาจากเงินแผ่นดินในช่วงของการก่อตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2521 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.2544 รัฐบาลในยุคนั้นมีการนำการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ไปแปรรูปจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในชื่อ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.
สำหรับบทความนี้ จะขอวิเคราะห์ในส่วนของท่อก๊าซธรรมชาติ ว่าถูกนำไปใช้เป็น Proceeds of Crime ในกระบวนการฟอกเงินของ ปตท. หรือไม่? ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “Illegal activities to make it legal” การฟอกเงินเช่นนี้ถือเป็น “Specified Unlawful Activities (SUAs) และในปัจจุบันยังมีการดำเนินการอยู่ ซึ่งเป็นปัญหาด้านคอร์รัปชั่นชั้นสูงแบบ “ฟอกเงินให้ขาว” ด้วยทรัพย์สินของประชาชนคนไทยหรือไม่?
ตามหลักการบัญชีแล้ว ทรัพยากรทั้งหลายที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรคือ สินทรัพย์ (Assets) ซึ่งถูกรับรู้ว่าเกิดจากแหล่งที่มาของทรัพยากรได้ 2 แหล่งด้วยกันคือ (1) ทุน (Capital) หรือส่วนของเจ้าของ (Owners’ Equity) และ (2) หนี้สิน (Liabilities) การที่รัฐบาลมีเพียง 1 เดียวเพื่อเป็นผู้บริหารประเทศ ดังนั้น งบการเงินของทั้งประเทศจึงมีเพียง 1 งบการเงินเท่านั้น
การที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยถูกนำไปแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน จำกัด นั้น จะถูกตั้งคำถามว่าเป็นการนำ 1 องค์กรไปเป็น 1 บริษัทมหาชน จำกัด ย่อมผิดหลักการรับรู้ความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศหรือไม่? เพราะรัฐบาลมิใช่บริษัทแม่ (หรือบริษัทใหญ่) และกระทรวงต่างๆ ก็มิใช่บริษัทลูก(หรือบริษัทย่อย) ดังเห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่เหมือนฝ่ายบัญชีและการเงินขององค์กรทั่วไป เพราะทั้งรัฐคือ 1 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรนั่นเอง จะเปรียบเทียบไปแล้วก็เหมือนบ้าน 1 หลัง
ทั้งนี้ สำหรับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย “ท่อก๊าซธรรมชาติ” (คือ สินทรัพย์ที่มีแหล่งความเป็นเจ้าของ คือ รัฐบาลในฐานะตัวแทนของประชาชน) เป็นของประชาชนไทยรวมทั้งประเทศ 100% เมื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้ถูกแปรรูปจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อมาในปี 2544 นั้น สัดส่วนการถือหุ้นของรัฐลดลงจาก 100% เหลือเพียงรัฐถือหุ้น 51% ในส่วนของ ปตท. ต่อจากนั้นสินทรัพย์ในส่วนของท่อก๊าซธรรมชาติก็ถูกโอนไปเป็นสินทรัพย์ในงบการ เงินของ ปตท. นั้น หากเราทำการวิเคราะห์จากปัญหาการฟอกเงินแล้ว ย่อมเกิดคำถามว่า ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดควรถูกรับรู้ว่าเป็น “Proceeds of Crime” หรือไม่?
การวิเคาระห์มีดังนี้คือ หากเราเปรียบเทียบกับแนวคิดธรรมชาติว่า ประเทศไทยคือ บ้าน 1 หลัง ห้องแต่ละห้องมีหน้าที่ซึ่งแตกต่างกัน ห้องแต่ละห้องคือ กระทรวงแต่ละแห่ง กระทรวงหนึ่งในบ้านหลังนี้ คือ ห้องครัวที่มีพลังงานก๊าซใช้หุงต้มให้ความร้อน ถ้าเป็นในต่างประเทศ ท่อก๊าซก็จะใช้ในการให้ความร้อนแก่บ้านทั้งหลังด้วย ในพื้นที่นี้ มีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ในขณะที่บ้านทั้งหลังมีการเดินท่อก๊าซเชื่อมต่อกัน ในที่นี้คือท่อก๊าซธรรมชาติ โดยธรรมชาติแล้ว ท่อก๊าซที่เดินท่อผ่านทั้งบ้านเป็นของบ้าน ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ของห้องครัว หากลูกคนหนึ่งในบ้านที่ดูแลห้องครัว ชื่อการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จะแต่งงานออกไปจากบ้าน ลดสัดส่วนการเป็นเลือดเนื้อวงศ์ตระกูลลงเสีย 49% เพราะไปแต่งงานกับครอบครัวอื่น แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า ปตท. ในขณะที่ทรัพย์สมบัติบางส่วนนั้นพ่อแม่ของครอบครัวก็ให้ติดตัวไปด้วยอีก 51% แล้ว การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก็ไม่สามารถถอดท่อก๊าซออกไปจากการครอบครองของบ้านได้ และส่งผลให้บ้านหลังนี้ขาดท่อก๊าซที่จะให้พลังงานแก่บ้าน หากใครก็ตามได้ฉกฉวยฉ้อฉลเอาท่อก๊าซติดมือออกไปจากบ้านหลังนี้ ก็มีสิทธิ์ถูกตั้งคำถามได้ว่าเป็นการปล้นทรัพย์หรือไม่ ดังนั้นท่อก๊าซธรรมชาติ จึงสมควรถูกรับรู้เป็น Proceeds of Crime ใช่หรือไม่?
ต่อจากนั้น เราต้องทำการวิเคราะห์ต่อว่า ท่อก๊าซธรรมชาติ ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการฟอกเงิน หรือไม่?
1.Placement คือ การนำ “Proceeds of Crime” เข้าสู่ระบบทางการเงิน
ถ้าการฉกฉวยท่อก๊าซฯ เป็นการเอาไปแอบซ่อนซุกไว้ใต้ดินก็เป็นเพียงการปล้น แต่ท่อก๊าซฯ นี้ได้ถูกเอาไปรับรู้อยู่ในงบการเงินของ ปตท. เรียกว่าเกิดการ Placement ให้ถูกกฎหมาย โดยมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เซ็นรับรองความถูกต้องของงบการเงินในฐานะผู้สอบบัญชี จริงหรือไม่?
2. Layering คือ การทำให้เกิดรายการที่หลากหลายทางการเงินเพื่อทำให้สับสน ปิดบัง อำพราง แหล่งที่มาของ “Proceeds of Crime” สำหรับขั้นตอนนี้ มี 2 เหตุการณ์แรก กล่าวคือ
เหตุการณ์ที่ 1 การรับรู้รายการ ท่อก๊าซธรรมชาติ ในงบการเงินของ ปตท.นั้น เป็นการรับรู้รายการประเภท “สินทรัพย์ถาวร คือ กลุ่มที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน
เหตุการณ์ที่ 2 หลังจากที่ทางมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคได้ฟ้องต่อศาลปกครองและชนะคดี ซึ่งมีผลทำให้ทาง ปตท.ต้องคืนท่อก๊าซธรรมชาติให้กับประชาชนให้เสร็จภายใน วันที่ 2 มีนาคม 2551 งบการเงินของ ปตท.หลังจากนั้น ได้ทำการเปลี่ยนแปลงประเภทสินทรัพย์ของท่อก๊าซธรรมชาติ จากที่เป็น “สินทรัพย์ถาวร คือ กลุ่มที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์” ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตน ให้กลายเป็นรายการ “สิทธิ การเช่า/สิทธิการใช้” ซึ่งถือในทางปฏิบัติว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เท่ากับไม่ต้องถูกตรวจสอบทางกายภาพโดยผู้สอบบัญชีในการยืนยันรายการของทะเบียนสินทรัพย์ถาวรอีกต่อไป ใช่หรือไม่?
3. Integration คือ การรวมรับเป็นเงินกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างถูกกฎหมาย ด้วยการสร้างรายการทางการเงินให้เป็นไปตามที่กฎหมายรับรอง
สำหรับ ประเด็นนี้ งบการเงินของ ปตท.ได้แสดงให้เห็นถึงการได้รายได้จากการหาผลประโยชน์จากท่อก๊าซธรรมชาติที่เป็นทรัพย์ของประชาชน พี่น้องบ้านหลังใหญ่ที่เรียกว่า “ประเทศไทย” และรับรองยืนยันความถูกต้องดังกล่าวโดย สตง. ในฐานะผู้สอบบัญชีของบ้านหลังใหญ่นั่นเอง และผลกำไรที่ได้ยังถูกนำไปแบ่งปันเป็นผลตอบแทน โบนัส แก่ผู้บริหาร และเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งไม่ใช่ประชาชนทั้งประเทศ Integration จึงเกิดขึ้นใช่หรือไม่?
สรุป เพื่อตั้งคำถามได้ว่า ตามหลักมาตรฐานสากลระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การวัดความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการฟอกเงินโดย ปตท. มีความเป็นไปได้หรือไม่?
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกับองค์กรอิสระ ชื่อ Asia/Pacific Group (APG) ที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2540 ปัจจุบันมีสมาชิก 41 ประเทศ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา APG ทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงเรื่องการฟอกเงินของประเทศสมาชิก รวมถึงประเทศไทยด้วย ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.-11 พ.ย. 2559 APG ได้มา on site visit ที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงจากการฟอกเงินครบรอบ 10 ปี
ครั้งที่ผ่านมา คือ พ.ศ.2550 ประเทศไทยถูกประเมินความเสี่ยงจากการฟอกเงิน โดย IMF ในรายงานที่เรียกว่า “Mutual Evaluation Report (MER) Thailand 2007” ในรายงานดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในช่วงที่ 4 คือ ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง (ในขณะที่ช่วงที่ 5 ความเสี่ยงสูงสุด) ซึ่งทำให้ประเทศไทยถูกจัดกลุ่มอยู่ในระดับความเสี่ยงจากการฟอกเงินเหมือนรัสเซีย กัมพูชา ปานามา และไนจีเรีย (อ้างอิงจา www.knowyourcountry.com/1ratingtable.html ณ วันที่ 16 กันยายน 2559)
ผลเสียของการที่ประเทศไทยถูกประเมินว่า “มีความเสี่ยงสูงจากการฟอกเงิน” ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของการทุจริตคอร์รัปชั่นและอาชญากรรม ความไม่มั่นคงของระบบธนาคารและสถาบันการเงิน ชื่อเสียงของประเทศถูกทำลาย ผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจ การถูกตัดออกจากกลุ่มประเทศร่วมค้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบทางการเงินระหว่างประเทศ ความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน เป็นแรงดึงดูดให้นักฟอกเงินซึ่งถือเป็นอาชญากรให้ความสนใจมาใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางของกระบวนการฟอกเงิน และปัญหาความมั่นคงของประเทศ
มาตรการของการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (Anti-Money Laundering Standards) เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ในระดับสหประชาชาติ (United Nations) ที่ร่วมกันกำหนดโดยมอบหมายผ่านองค์กรที่เรียกว่า The Financial Action Task Force (FATF) วัตถุประสงค์คือ เพื่อพัฒนานโยบาย การวัดผล และมาตรฐานสากลในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และได้รับการยอมรับระดับโลก ว่าเป็น The Anti-Money Laundering (AML)/ Combating the Financing of Terrorism (CFT) global Standards (ย่อว่า the AML/CFT global standards) เรียกมาตรฐานการวัดความเสี่ยงว่า “The Forty Recommendations และ 11 Immediate Outcomes” ซึ่งถือเป็น FATF Standards ที่ APG ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดความเสี่ยงการฟอกเงินของประเทศไทย
การปล้นทรัพย์ ยังไม่เป็นการฟอกเงิน แต่ต้องเป็นการกระทำครบทั้งกระบวนการฟอกเงิน นั่นคือ จนถึงการ Integration ทรัพย์ที่ฉ้อฉลมาให้กลับเป็นเงินเสมือนสะอาดบริสุทธิ์ เพราะหลังจากเกิดการ Integration แล้ว ผลของเงินจากทรัพย์ที่สกปรกนั้นจะยังเวียนว่ายหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ดังคำกล่าวที่ว่า “Dirty money never get clean” ดังนั้น คดีอาญาที่เกิดจากการฟอกเงิน จึงไม่มีการหมดอายุความ ตราบเท่าที่เงินสกปรกนี้ยังวนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ และทรัพย์ที่ได้มาอย่างฉ้อฉล (Proceeds of Crime) มาจากบุคคลใดๆ โดยมิชอบถูกรับรู้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปเข้าสู่กระบวนการฟอกเงิน
ธนาคาร และนายทุน ต้องถูกนำกลับเข้าสู่ระบบความถูกต้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติ มิฉะนั้น MER 2017 จะเป็นตัวชักนำและเชื้อเชิญให้ FinCEN (Financial Crimes Enforcement Network) ซึ่งเป็น FIU ของ US มีโอกาสเข้ามาล้วงลูกยึดเงินของประเทศไทยสำหรับรายการที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินที่เกี่ยวพันกับสหรัฐอเมริกา ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไนจีเรีย (กรณีเรื่องลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน) มาเลเซีย (กรณีเรื่องกองทุน 1MDB ของนายกนาจิบ) และเยอรมนี (กรณีของดอยซ์แบงก์)
ภายในเวลาที่เหลือประมาณ 23 สัปดาห์ (นับตั้งแต่วันนี้ คือ 25/11/59) ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหา ความเสี่ยงสูงถึงสูงมากของการฟอกเงินในประเทศไทย MER 2017 ซึ่งไทยจะถูกประเมินนั้น จะส่งผลลบต่อการบริหารจัดการของ คสช.ว่าไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่แล้วมา
ในทางตรงกันข้าม หาก คสช.สามารถยุติเรื่องความเสี่ยงสูงของการฟอกเงินได้ เศรษฐกิจไทยจะถูกลดระดับความเสี่ยงของการฟอกเงิน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องสิทธิมนุษยชน และการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยผู้นำยุค คสช.ผู้ซึ่งเป็นวีรบุรุษในการคืนความสุขแก่ประชาชนไทยโดยแท้จริง