xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มหาธีร์” ออกโรงหนุน เสื้อเหลืองมาเลย์โค่น “นาจิบ” แต่โอกาสสำเร็จริบหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นกระแสข่าวที่น่าจับตามอง หลังชาวมาเลเซียนับหมื่นคนพากันสวมเสื้อสีเหลืองออกมาชุมนุมประท้วงปิดถนนสายหลักใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก สละตำแหน่งผู้นำประเทศและแสดงความรับผิดชอบต่อข้อหาคอร์รัปชัน

กิจกรรมชุมนุมใหญ่ครั้งนี้มีนักเคลื่อนไหวกลุ่ม “เบอร์ซิห์” (Bersih) เป็นตัวตั้งตัวตี ซึ่งประเมินว่าในช่วง “พีค” ของวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคมนั้นมีประชาชนมาร่วมแสดงพลังไล่นายกฯ กันถึง 200,000 คนเลยทีเดียว ในขณะที่ทางตำรวจประเมินตัวเลขผู้ชุมนุมไว้เพียง 29,000 คน

แรงกดดันที่มีต่อรัฐบาลเสือเหลืองยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่ออดีตนายกฯ ผู้ทรงอิทธิพลอย่าง “มหาธีร์ มูฮัมหมัด” เดินทางมาปรากฏตัวท่ามกลางกลุ่มผู้ประท้วง และเรียกร้องให้ นาจิบ ลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อข้อหาทุจริต

ในการตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างเร่งรีบ มหาธีร์ ได้ขอโทษประชาชนที่เขาเองเคยสนับสนุนให้นาจิบก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และตำหนิผู้นำคนปัจจุบันว่าใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกง พร้อมกันนั้นก็กล่าวสนับสนุนอุดมการณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม

“นาจิบจะไม่ยอมลาออกแน่ เขารู้ดีว่าถ้าไม่มีอำนาจในมือก็จะต้องถูกฟ้อง และถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิด เขาก็จะต้องไปนอนในคุก”มหาธีร์ กล่าว

อดีตผู้นำมาเลเซียวัย 90 ปี ซึ่งเคยมีประวัติปราบปรามการต่อต้านของภาคพลเมืองอย่างแข็งกร้าวในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศระหว่างปี 1981-2003 ยังหยิบยกเรื่องราวการปฏิวัติ “พลังประชาชน” ในฟิลิปปินส์ซึ่งทำให้ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ถูกโค่นเมื่อปี 1986 มากระตุ้นให้ชาวมาเลเซียลุกฮือขับไล่ นาจิบ ในลักษณะเดียวกัน

“ถ้ารัฐบาลไม่เคารพกฎหมาย เราซึ่งเป็นประชาชนก็ต้องแสดงพลังคัดค้าน พวกคุณลองนึกถึง มาร์กอส ตอนที่เขาปกครองฟิลิปปินส์ ประชาชนที่นั่นก็ลุกขึ้นมาโค่นอำนาจของเขาด้วยการประท้วงเช่นกัน”

นาจิบ เผชิญแรงกดดันอย่างหนักตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว หลังหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์เนิลในสหรัฐฯ ออกมาตีแผ่เรื่องเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของเขาโดยไม่ทราบที่มา และคาดว่าจะเป็นเงินที่ถูกดึงไปจากกองทุน วัน มาเลเซีย ดีเวลลอปเมนต์ เบอร์ฮัด (1MDB) กองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวที่รัฐบาลนาจิบก่อตั้งขึ้น

นาจิบ และกองทุน 1MDB ที่เขาก่อตั้งเมื่อปี 2009 ต่างปฏิเสธข่าวการยักยอกเงิน โดยอ้างว่าเป็นแผนของศัตรูทางการเมืองที่ต้องการใส่ความเพื่อล้มล้างรัฐบาล

คณะรัฐมนตรีของ นาจิบ ราซัก บางคนยอมรับว่า มีเงินสดจำนวนดังกล่าวถูกทยอยโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของนายกฯ จริงตั้งแต่ปี 2013 แต่เป็นเงินบริจาคจากแหล่งทุนในตะวันออกกลาง ต่อมาในวันที่ 3 ส.ค. คณะกรรมาธิการปราบปรามการทุจริตมาเลเซียก็ได้ประกาศผลการสอบสวน โดยยอมรับว่ามีเงิน 700 ล้านดอลลาร์ถูกโอนเข้าบัญชีส่วนตัวของ นาจิบ จริง ทว่าเป็นเพียง “เงินบริจาค” ไม่เกี่ยวข้องกับกองทุน 1MDB

บัญชีของ นาจิบ ถูกปิดไปเรียบร้อย และขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายไหนออกมาให้คำตอบว่าเงินอยู่ที่ใด

กระบวนการสอบสวนข้อกล่าวหาที่คุกคาม นาจิบ ดูเหมือนจะชะงักไปเฉยๆ หลังจากที่ นาจิบ ได้สั่งปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูง 2 คน คือ รองนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ที่เรียกร้องให้เขาออกมาอธิบายเรื่องกองทุนฉาว และ อับดุล กอนี ปาเตล อัยการสูงสุดซึ่งเป็นคนหนึ่งในทีมสอบสวนคดี 1MDB

กองทุน 1MDB ซึ่งก่อตั้งโดย นาจิบ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียอย่างยั่งยืน ถูกวิจารณ์ว่าบริหารเงินผิดพลาดจนมีหนี้สินพอกพูนเกือบ 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากเรื่องเงิน 700 ล้านดอลลาร์ที่ยังเป็นปริศนา ผู้ประท้วงยังไม่พอใจนโยบายจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (จีเอสที) ที่รัฐบาลนาจิบริเริ่ม และต้องการให้มีการปฏิรูประบบเลือกตั้งใหม่ไม่ให้ลำเอียงเข้าข้างพรรครัฐบาลอัมโน (UMNO) อย่างที่เป็นอยู่

พรรคอัมโนซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของแนวร่วม “บาริซาน เนชันแนล” (บีเอ็น) ผูกขาดอำนาจบริหารในแดนเสือเหลืองมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1957 ทว่าคะแนนนิยมของกลุ่มบีเอ็นชักจะแผ่วลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากพฤติกรรมคอร์รัปชันของนักการเมือง การจำกัดเสรีภาพ และนโยบายภูมิบุตรที่เอื้อประโยชน์แก่คนเชื้อสายมาเลย์มากกว่าพลเมืองกลุ่มอื่นๆ

นาจิบ เคยให้สัญญาว่าจะปราบปรามการทุจริต ส่งเสริมเสรีภาพแก่ประชาชน และปฏิรูปนโยบายภูมิบุตร ทว่าด้วยแรงกดดันจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมภายในพรรคอัมโนจึงทำให้สิ่งที่เขาสัญญาไว้ไม่สามารถเป็นจริงได้สักอย่าง และส่งผลให้กลุ่มบีเอ็นพ่ายคะแนนป๊อบปูลาร์โหวตแก่ฝ่ายค้านในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2013

ในส่วนของอดีตนายกฯ มหาธีร์ แม้จะอำลาตำแหน่งไปนานกว่า 10 ปี ทว่ามรดกจากการปกครองประเทศยาวนานถึง 22 ปีก็ยังทำให้เขาเป็นผู้ทรงอิทธิพลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผลงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจมาเลเซียซึ่งโดดเด่นจนเป็นที่กล่าวขาน อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนชี้ว่านโยบายของ มหาธีร์ ทำให้ระบอบทุนนิยมหยั่งรากลึกในมาเลเซีย และสถาบันตุลาการก็ถูกลิดรอนอิสระในการทำงาน

เป็นเวลากว่า 1 ปีมาแล้วที่ มหาธีร์ ออกมาพูดติเตียน นาจิบ เกี่ยวกับพฤติกรรมคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ และยุทธศาสตร์บริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาด ทั้งที่ตัวเขาเองเป็นคนสนับสนุนให้ นาจิบ ก้าวขึ้นมาแทนที่อดีตนายกฯ อับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี เมื่อปี 2009

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า โอกาสที่จะโค่น นาจิบ ลงจากเก้าอี้นายกฯ ยังเป็นไปได้ยาก เพราะเขายังสามารถคุมเสียงภายในพรรคอัมโนไว้ได้ ขณะที่รัฐบาลกลุ่มบีเอ็นก็ยังได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากพลเมืองเชื้อสายมาเลย์ ซึ่งคิดเป็นประชากรร้อยละ 60 ของประเทศ นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน “ปากาตันรักยัต” ซึ่งเคยมีคะแนนนิยมพุ่งพรวดจนท้าทายความอยู่รอดของรัฐบาลเมื่อช่วง 2-3 ปีก่อน ก็แตกกระสานซ่านเซ็นกันไป หลัง อันวาร์ อิบรอฮีม ถูกพิพากษาจำคุกเมื่อต้นปีนี้

“ผมว่า นาจิบ ยังไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้น เพราะหนทางเดียวที่จะเอาเขาลงจำตำแหน่งได้คือต้องใช้กระบวนการทางรัฐสภา หรือเสียงโหวตภายในพรรคอัมโนเอง” อิบรอฮีม ซุฟยาน ผู้อำนวยการสถาบันสำรวจความคิดเห็นเมอร์เดกา ระบุ

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ประชาชนที่ออกไปเดินขบวนขับไล่นายกฯ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 25% ของประชากรมาเลเซียทั้งประเทศ และยังแสดงให้เห็นว่า การออกมาเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวมาเลย์น้อยมาก

ผลสำรวจของสถาบันวิจัยเมอร์เดกาที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ส.ค. พบว่า พลเมืองเชื้อสายจีนในมาเลเซียสนับสนุนการเดินขบวนของกลุ่มเบอร์ซิห์มากถึงร้อยละ 81 ในขณะที่พลเมืองมาเลย์สนับสนุนเพียงร้อยละ 23 เท่านั้น





กำลังโหลดความคิดเห็น