ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่สำคัญของไทยที่ถือเป็นฟันเฟืองชิ้นใหม่ ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชูเป็นธงนำหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
ทั้งนี้การเดินหน้าในเรื่องเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นทำให้ต้องมีการร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลจำนวน 8 ฉบับ ซึ่งเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายเดิม 4 ฉบับ และเสนอกฎหมายใหม่ 4 ฉบับ และหนึ่งในนั้นคือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่.. พ.ศ. ..)
หากแต่ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ฯ) ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนนั้น หลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นห่วงใยต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ดังกล่าวว่า อาจจะส่งผลกระทบในเชิงลบที่อาจรวมไปถึงเสรีภาพการแสดงออกของสื่อ การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลและสถาบันการเงินต่างๆ ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มักจะถูกพ่วงเข้ามาในการฟ้องร้องจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทต่อประชาชน ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่กำลังกังวลในกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน
ซึ่งเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ได้รับเสนอจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ซึ่งร่างแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวกำลังอยู่ในวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.) ต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย เครือข่ายพลเมืองเน็ต และ Privacy International ได้ส่งความคิดเห็นทางกฎหมายต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวแก่ สนช. ซึ่งในครั้งนั้นองค์กรเหล่านี้ได้เสนอแนะในประเด็นที่ว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และร่างแก้ไขที่อยู่ในการพิจารณาโดย สนช. นั้น ควรเป็นไปตามพันธกรณีทางกฎหมายในเรื่องของเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิความเป็นส่วนตัว
ทั้งนี้ ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึงหลักความจำเป็นและสัดส่วนที่เหมาะสม นอกจากนี้พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มักถูกนำมาใช้ในการกล่าวโทษปัจเจกบุคคล และผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างเป็นธรรม
ปลายเดือนตุลาคมนี้ สนช. จะเสร็จสิ้นการพิจารณาทบทวนควบร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้ต้องมั่นใจว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ. จะคุ้มครองความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ สิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก ตลอดจนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
เศรษฐกิจดิจิทัล ที่ภาครัฐกำลังเร่งเร้าให้เกิดการขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพเพื่อคาดหวังให้เกิดประสิทธิผลที่เป็นรูปธรรม ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อผลงาน ใช้เวลาน้อยลงแต่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับนานาชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สังคมไทยอุดมไปด้วยดีไวซ์หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สายความเร็วสูง ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แทบจะทุกวงการ
ขณะที่ธุรกิจ E-Commerce ของไทยเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา เป็นผลพวงมาจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยี ช่องทางในการซื้อและการขายมีมากขึ้น ทำให้การเข้าถึงสินค้าและบริการทำได้ง่าย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นช่องทางในการที่จะขยับรุกคืบ เพื่อขยายฐานลูกค้าและธุรกิจของตัวเองจากเดิมที่มีหน้าร้านเข้าสู่ระบบร้านค้าแบบออนไลน์ ในยุคปัจจุบันผู้ประกอบการหน้าใหม่จำนวนไม่น้อยที่มีเปิดร้านเฉพาะแต่ในระบบออนไลน์เท่านั้น เพราะนับเป็นการลดต้นทุนทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่ง E-Commerce เอื้อประโยชน์หลายอย่างต่อธุรกิจ
ตลาด E-Commerce ในไทยเริ่มเกิดการแข่งขันและมีความคึกคักมากขึ้น เห็นได้จากมูลค่ารวมของตลาด E-Commerce ปี 2558 อยู่ที่ 41,998 ล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2559 ธุรกิจ E-Commerce น่าจะเติบโตถึง 48,297 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บนเวทีเสวนา “ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ใหม่ ความหวังใหม่เพื่อเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” ที่จัดขึ้นเมื่อวานนั้น ประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจคือมาตรา 14 (1) จากการเข้าไปควบคุมด้านเนื้อหา ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์เติมที่ให้ความสำคัญกับคอมพิวเตอร์พลวัต สแกมมิ่ง ฟิชชิ่ง
ขณะที่ แซม ซารีพี คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) มองว่าหากปล่อยให้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขใหม่ออกมา มีหลายประเด็นที่ไม่ผ่านมาตรฐานอันเป็นสากล ด้านความเสียหายที่ตามมานั้นไม่เพียงแต่ทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นนโยบายที่จะสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0
ในห้วงยามที่หลายสิ่งหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผู้คนแทบจะทุกลมหายใจเข้าออก และแม้ว่าในหลายๆ ครั้งความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสารจะไม่ได้แนบมาด้วยคำเตือนสติให้เกิดการชั่งใจ หรือคำแนะนำให้พิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับก่อนจะแชร์ลงสู่โลกออนไลน์
สิ่งที่ดีที่สุดในเวลานี้อาจไม่ใช่การพัฒนาความเร็วแบบไร้สายแต่เพียงอย่างเดียว สิ่งที่ต้องพัฒนาไปแบบคู่ขนานด้วยคือ สติ เพราะปลายเดือนตุลาคมนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาทบทวนร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จาก สนช. แล้ว ทิศทางของผู้คนที่ใช้ชีวิตออนไลน์ และเศรษฐกิจดิจิทัล จะดำเนินต่อไปอย่างไร ยังคงต้องหาคำตอบ