บนความโศกเศร้าของประเทศและความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ นี่อาจจะเป็นเรื่องราวดีๆ ที่ยังทำให้ยิ้มได้อยู่บ้างในช่วงเวลาที่คนไทยทั้งประเทศต้องข้ามผ่านความเจ็บปวดนี้ไป “Volunteers For Dad” อาสาสมัครทำดีเพื่อพ่อหลวงจากศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขอส่งต่อพลังใจสีขาวผ่านงานอาสา ณ ท้องสนามหลวงเพื่อเพื่อนคนไทย . .
“อย่างที่เราเห็นกันว่าพอคนเอาของมาแจกเยอะ ทุกอย่างที่คนเอามาแจกถ้าไม่ได้ใช้มันก็จะกลายเป็นขยะ เช่นเดียวกับอาหารพอมันเยอะขึ้นเรื่อยๆ คนก็ทิ้งขยะกันโดยที่ไม่ได้แยกขยะ ที่นี้มันก็กลายเป็นปัญหา”
“โบนัส-ณัฐกาณ ประเสริฐรัตน์” นักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในอาสาสมัคร ณ ศูนย์ประสานงานอาสาสมัครบอกกับเราถึงปัญหาที่มีขนาดใหญ่พอๆ กับขยะรอบๆ ท้องสนามหลวง
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชาวไทยจากทั่วทุกสารทิศได้เดินทางมาสักการะพระบรมศพพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ กันอย่างหนาแน่น จึงทำให้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนผู้คนที่หลั่งไหลกันมา ยังไม่รวมถึงการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของที่ล้นเกินความจำเป็น
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องเห็นด้วยว่าควรจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานอาสาสมัคร” เพื่อทำให้ทุกอย่างเป็นระบบระเบียบมากกว่าเดิม รวมถึงเพื่อลดขนาดของปัญหาที่เกิดขึ้นให้เล็กลงไปด้วย
“จากเหตุการณ์ที่เรารู้กัน ทางม.ธรรมศาสตร์กับกทม. ได้ปรึกษาหารือกันว่าควรจะตั้งศูนย์นี้ขึ้นครับ เพราะเห็นปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น เช่น คนที่เข้ามาแจกจ่ายอาหาร จนความต้องการให้ของคนไทยมันมากเกินกว่าความต้องการที่จะรับ มันเลยทำให้สิ่งที่เหลือตรงนั้นกลายเป็นปัญหาของสังคมไป”
ตอนนี้คนไม่ได้มาเดินกินอาหารเพื่อที่จะอยู่ตรงนี้แล้ว เราไม่อยากให้เป็นการยัดใส่มือประชาชน เพราะมันไม่ตรงตามความต้องการ ศูนย์ของเราเลยตั้งขึ้นมาเพื่อรับบริจาคและกระจายไปตามบูธที่เขารีเควสมา ของอะไรขาดแคลนเราจะส่งไป”
ไม่เพียงแต่ช่วยลดปัญหาในเรื่องขยะเท่านั้น ทว่า เหล่าจิตอาสาที่หลั่งไหลเข้ามาที่ศูนย์ประสานงานอาสาแห่งนี้ ยังมีหน้าที่สำคัญอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอาสาประชาสัมพันธ์ อาสาประจำรถ Shuttle Bus และประจำรถสุขา อาสาจุดคัดกรองคน อาสาล่ามแปลภาษา อาสาเก็บและคัดแยกขยะ อาสาแจกคู่มือประชาชน อาสาพยาบาล และอาสาขนย้ายสิ่งของ
อาจจะบอกแบบนี้ก็ได้ว่าพวกเขาไม่ได้เข้ามาทำงานอาสาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พ่อแม่พี่น้องที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพเท่านั้น แต่พวกเขายังมีจิตอาสาที่หวังบำรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ท้องสนามหลวงให้ยังคงสวยสดงดงามคู่พระบรมมหาราชวังต่อไป
“การแจกของมันคือสิ่งที่ดี แต่การขจัดปัญหาขยะหรืออะไรก็ตามมันคือขั้นกว่าของบริบทนั้น มันทำให้รู้สึกว่าคนเรายังเห็นว่าไม่ใช่แค่การให้อย่างเดียวที่ทำให้คนอื่นได้ แต่การลงไปให้อย่างอื่นที่ทำให้สถานที่นี้ดีขึ้น มันทำให้เรารู้สึกดีครับ” โบนัส-ณัฐกาณ พูดทิ้งท้ายและเราก็เห็นด้วยอย่างไม่ปฏิเสธ
หนึ่งเดือนได้แล้วที่เหล่าอาสายังคงเดินทางกันมาช่วยแบ่งเบาหน้าที่กันและกัน จนวันนี้จำนวนคนที่ลงชื่อเป็นจิตอาสามากถึงหลักหมื่น ถือว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่ยังทำให้ยิ้มได้บ้างบนความโศกเศร้าของประเทศ
หันไปอีกทางหนึ่ง เรามองเห็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา นักเรียน ร.ด. หรือแม้แต่หน่วยงานบริษัทที่กำลังเตรียมตัวสวมถุงมือและคล้องป้ายอาสาสมัครด้วยสีหน้าที่พร้อมสำหรับทำภารกิจ เราได้พูดคุยกับน้องๆ จิตอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เพิ่งเดินทางมาเป็นอาสาสมัครเป็นวันแรกเช่นกัน
“มาวันนี้วันแรกค่ะ ตามเพื่อนๆ ในกลุ่มมา หนูเองก็มีเวลาว่างด้วยเลยคิดว่าลองมาช่วยทำตรงนี้น่าจะเป็นประโยชน์กว่า” มายด์-เสาวลักษณ์ วิลาจันทร์ บอกกับเราด้วยท่าทีมั่นใจ เธอยังบอกขั้นตอนการมาเป็นอาสาสมัครที่ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่พกใจที่อยากช่วยเหลือสังคมมาด้วยก็สามารถทำความดีได้แล้ว
“ขั้นแรกคือเข้ามากรอกข้อมูลก่อนค่ะ จากนั้นเขาจะให้ป้ายสำหรับทำงานอาสาเพื่อขึ้นไปชั้นสองที่หอประชุม จะมีเจ้าหน้าที่แจกจ่ายงานอาสาให้เรา คนหนึ่งทำงานอาสาประมาณ 1 ชั่วโมงก็จะมีคนมาเปลี่ยน
ที่มาทำตรงนี้หนูได้เห็นคนไทยช่วยเหลือกัน คนไทยด้วยกันที่ถึงแม้ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะไม่ปกติ ทุกคนมีความโศกเศร้า แต่คนไทยก็ยังนึกถึงมิตรภาพหรือความมีน้ำใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนคนไทยด้วยกัน”
เช่นเดียวกันกับ2 สาวจากมหาวิทยาลัยมหิดลที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเดินถือถุงขยะไปรอบๆ ท้องสนามหลวง ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส เธอบอกกับเราว่าแม้จะเป็นงานที่ใครหลายคนอาจมองว่าต้องอยู่กับสิ่งสกปรก แต่เธอไม่ได้คิดเช่นนั้นเธอบอกกับเราว่าทุกคนล้วนมีส่วนในการสร้างขยะ
“หนูรู้สึกว่าคนที่เขามานั่งรอเขาเหนื่อยแล้ว ถ้าเราช่วยแบ่งเบาอะไรได้บ้างมันก็จะดี อีกอย่างถ้าเรามีเวลาว่างมาช่วยเขาคัดแยกขยะได้ด้วยมันน่าจะทำให้ง่ายขึ้น จริงๆ ไม่ได้รู้สึกรังเกียจที่จะต้องมาเก็บขยะ เพราะเราทุกคนต่างก็มีขยะที่ต้องทิ้งเหมือนกัน
ตอนแรกเห็นพี่เขาทำก็คิดว่าทำได้ยังไง เขาไม่รังเกียจเลย หนูว่าทุกคนก็มีส่วนที่ช่วยสร้างขยะและต้องมีส่วนที่ช่วยเก็บขยะของเราเหมือนกัน” ไนซ์-รวิวรรณ ผสมประโยชน์ และหนิง-สุมิตา หนูทองแก้ว จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลพูดทิ้งท้าย
แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้คือ มิตรภาพและความมีน้ำใจในการช่วยเหลือกันและกันของคนไทย สีหน้าที่ยิ้มแย้มบนความรู้สึกโศกเศร้าบอกกับเราว่าคนไทยจะอยู่เคียงข้างกันและต่อสู้กับความสูญเสียในครั้งนี้เพื่อให้พ่อหลวงของประเทศมองดูอย่างสุขใจ . .
ชมภาพ