ผศ.ดร.นิธินันท์ ธรรมากรนนท์
สาขาการจัดการระบบสารสนเทศและการจัดการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาการจัดการระบบสารสนเทศและการจัดการข้อมูล
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
หากพิจารณาภาพพระราชกรณียกิจจำนวนมากมายตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ได้มีผู้บันทึกไว้ยามที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จออกยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยเพื่อเยี่ยมเยียนพสกนิกรและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จะพบว่าสิ่งที่พระองค์ท่านมีติดตัวตลอดเวลาคือแผนที่ กล้องถ่ายรูป ดินสอ และวิทยุสื่อสาร ดังได้มีผู้ผลิตสารคดีและบทความต่างๆ เกี่ยวกับพระองค์ซึ่งได้เคยมีโอกาสกราบบังคมทูลสัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ต้องทรงงานหนัก และเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรและทหารในทุกๆ ภาคของประเทศไทย โดยระบุว่า เพื่อไปแก้ไขปัญหาความยากจน และต้องการยกระดับความเป็นอยู่ ให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดี เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ทั้งนี้พระองค์จึงต้องมีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกร เพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาและแผนที่ที่พระองค์มีอยู่นั้นถูกต้องครบถ้วน
ขณะเดียวกัน เพื่อที่จะได้รู้ปัญหาของพสกนิกรเกี่ยวกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต และจะได้ข้อมูลเพื่อระบุสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาเหล่านั้น ซึ่งขณะที่พระองค์ได้มีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกรจะทรงบันทึกข้อมูล หาข้อมูลจากแผนที่ที่ทรงถือมา และบันทึกประเด็นต่างๆ ลงในสมุดบันทึก หรือถ่ายภาพด้วยกล้องถ่ายรูปที่คล้องไว้ที่พระศอ เมื่อกลับมาจนถึงที่ประทับจะยังทรงนำเอาข้อมูลและปัญหาที่ได้รับมา มาศึกษา ค้นคว้า จนได้วิธีการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะต้องเสด็จพระราชดำเนินออกไปในพื้นที่นั้นๆ และบริเวณใกล้เคียงอีกหลายครั้ง จนได้ข้อมูลครบถ้วนและตรวจสอบความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา
ซึ่งทุกครั้งที่เสด็จออกพื้นที่จะได้ข้อมูลต่างๆ มากมายเช่น วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น พันธุ์พืชท้องถิ่น เป็นต้น นอกเหนือจากตำแหน่งและลักษณะภูมิศาสตร์ หรือการกินอยู่ของพสกนิกร ทำให้ปริมาณข้อมูลต่างๆ ที่ใช้ในการแก้ไขปัญหามีจำนวนมาก จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับข้อมูลมากดังพระบรมราโชวาทในงานพระราชทานปริญญาบัตรครั้งที่ 1 ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2519 ความว่า
“...เดิมทีเดียว ข้าพเจ้าตั้งข้อคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศไว้ว่า ในการทำโครงการพัฒนาเศรษฐกิจต่าง ๆ จะต้องอาศัยใช้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก และจะต้องใช้นักสถิติที่มีความรู้ความสามารถชั้นสูงเป็นผู้ปฏิบัติ...”
และจากคำประกาศราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เนื่องในโอกาสที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาพัฒนบริหารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางสถิติประยุกต์ ตามมติสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 1/2534 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2534 ความว่า
“…ด้วยพระราชดำริและพระราชหฤทัยที่มุ่งพัฒนาราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงเห็นว่าการพัฒนาที่จะได้ผลอย่างสมบูรณ์นั้น ควรดำเนินการให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นนั้น ในยามที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียน และทรงตรวจติดตามโครงการตามพระราชดำริในท้องถิ่นห่างไกลนั้น ทรงรวบรวมข้อมูลและสถิติด้วยพระองค์เอง ภาพที่พสกนิกรของพระองค์คุ้นเคย เจนตา และเจนใจ คือภาพที่ทรงจดบันทึกข้อมูลและทรงเพิ่มเติมข้อมูลในแผนที่ท้องถิ่นนั้นๆ ของพระองค์ .... ทรงเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี และทรงมีความรู้เกี่ยวกับขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์อย่างดีเยี่ยม ทรงสามารถแนะนำ ทดลอง และประเมินคุณค่าของเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนาประเทศด้วยความเป็นธรรมและเห็นการไกล....”
ซึ่งพระราชดำรินี้ยังได้ถูกถ่ายทอดและนำมาปฏิบัติโดยผ่านทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 7 พุทธศักราช 2535-2539 และฉบับที่ 8 พุทธศักราช 2540 -2544 โดยให้มีการพัฒนาระบบข้อมูล ระบบฐานข้อมูล และเครือข่ายเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จังหวัดและระดับชาติ เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ
ด้วยหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น จะพบว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์สามารถใช้เป็นแบบอย่างในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามหลักวิชาการที่ระบุโดยนักวิชาการต่างชาติเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ (Simon’s model of decision making) ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ระยะ คือระยะของการระบุปัญหา ระยะการหาวิธีการแก้ไขปัญหา และระยะของการเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด การแก้ไขปัญหาหรือการตัดสินใจภายใต้หลักการนี้จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อที่จะได้วิธีการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงใช้เวลาในการศึกษา รวบรวมข้อมูลจากพสกนิกร เพื่อที่จะระบุปัญหาของพสกนิกรได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะพบว่าปัญหาในแต่ละท้องที่มีความเฉพาะ และแตกต่างกันไป ข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมสำหรับแต่ละท้องที่จึงไม่เหมือนกัน ซึ่งจะส่งผลให้ทรงกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาในแต่ละท้องที่แตกต่างกัน พระองค์ทรงใช้เวลาในการเสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ที่ทรงต้องการแก้ไขปัญหาและพื้นที่ใกล้เคียง และทรงมีปฏิสันถารกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะพระราชทานโครงการตามพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาของพสกนิกร เช่นเดียวกันปัญหาทั้งหมดที่พระองค์ทรงดำเนินการแก้ไขส่วนมากจะเป็นปัญหาที่ต้องใช้ข้อมูลและความรู้จากหลากหลายสาขาวิชามาบูรณาการก่อนนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถแก้ไขสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำวิจัยของนักวิชาการทั่วโลกในปัจจุบันที่เรียกว่า transdisciplinary concept ซึ่งสามารถชี้ให้เห็นชัดว่าข้อมูล สารสนเทศ และองค์ความรู้ที่พระองค์ทรงนำมาประยุกต์ใช้มาจากหลากหลายแหล่ง หลายประเภท แต่นำบูรณาการและประยุกต์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันคือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงสำหรับแต่ละพื้นที่
จากการเยี่ยมเยียนพสกนิกรจนกลายเป็นโครงการในพระราชดำริหลากหลายโครงการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการนำข้อมูลและสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาประเทศ การเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้โดยเริ่มจากการเก็บข้อมูลในกระดาษ แผนที่ และแผ่นฟิล์ม พระองค์ทรงสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีหลายรูปแบบ (format) เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาของพสกนิกร โดยมีเนื้อหา ปริมาณและลักษณะของข้อมูลที่มีความแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ และหลังจากนั้นทรงนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ทั้งที่ทรงพัฒนาขึ้นเองและที่มีการพัฒนามาแล้ว เพื่อรวบรวมข้อมูลให้มีความครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์ สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
นอกจากนี้ยังโปรดให้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังเช่น โครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น ทั้งนี้เทคโนโลยีสารสนเทศที่โปรดให้นำมาใช้เป็นเครื่องมือจะมีความแตกต่างในวัตถุประสงค์และประเภทขึ้นอยู่กับวิธีแก้ไขปัญหาที่ได้มีพระราชวินิจฉัยมาก่อนหน้านี้ ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศที่มีในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันและมีความหลากหลายในการใช้งาน หลังจากนำเทคโนโลยีมาทดลองใช้งานจะทรงประเมินผลการแก้ไขปัญหา ประเมินคุณค่าของเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อให้มั่นใจว่าเหมาะสม และสอดคล้องต้องตามพระราชประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และจะทำการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นตามมาเพื่อให้คุณภาพชีวิตของพสกนิกรดีขึ้น และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่องกันไป
ข้าพระพุทธเจ้า และคณะอาจารย์ สาขาการจัดการระบบสารสนเทศและการจัดการข้อมูล คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูล และสารสนเทศ ว่ามีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศให้เกิดการพัฒนาและยั่งยืน โดยจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ครบถ้วน สมบูรณ์ ถูกต้อง และทันสมัย ระบบสารสนเทศรวมทั้งบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศหลากหลายรูปแบบต่าง จึงควรมีการออกแบบและพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานที่หลากหลายของหน่วยงานและองค์การต่างๆ และสามารถรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการแก้ไขปัญหาและการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานและองค์การเหล่านั้นสามารถนำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ หาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า
ผศ.ดร.นิธินันท์ ธรรมากรนนท์
ข้าพระพุทธเจ้า
ผศ.ดร.นิธินันท์ ธรรมากรนนท์