เมื่อจุดแลนด์มาร์กในกรุงเทพฯ กว่า 20 แห่งถูกบันทึกไว้ด้วยกล้อง DSLR พร้อมเลนส์นาโน ได้ออกสู่สายตาจนต้องร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “โอ้ มาย กอช” ที่นี่คือเมืองไทยจริงๆ น่ะหรือ ภาพเส้นขอบฟ้าแสงนวลอร่าม วัดวาอารามที่สวยเด่นขึ้นมาเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า หรือตึกสูงเสียดฟ้าและสะพานที่ข้ามผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างสวยงามสะกดทุกสายตา
นี่คือภาพถ่ายมุมสูงและสถานที่สำคัญๆ ในกรุงเทพมหานคร จากการลั่นชัตเตอร์ของช่างภาพหนุ่มที่หลงรักเมืองไทย “ภัทร คงศิริมงคลชัย” พร้อมคุยกับเราและบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของเขา ในฐานะนักถ่ายภาพที่มีชัตเตอร์เป็น “สายตา” และมีเมมโมรี่คือ “หัวใจ”
“ผมรักเมืองไทย”
“ผมคิดว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่สวยนะครับ เป็นเมืองที่ดึงดูดคนให้ต้องมา”
เขาพูดขึ้นและเราก็เห็นด้วยอย่างไม่ปฏิเสธ มองไปรอบๆ กรุงเทพฯ คือเมืองมีเสหน่ที่ดึงดูดสายตาคนทั่วโลกให้มาเยือน แน่นอนว่ายังมีสถานที่อีกมากมายที่รอให้นักถ่ายภาพทั้งหลายเดินทางเข้าไปทักทาย ซึ่ง “ภัทร คงศิริมงคลชัย” ก็เป็นหนึ่งในนั้น
“มันมีทั้งวัด สถาปัตยกรรมแบบใหม่-แบบเก่ารวมอยู่ในเมืองเดียวกัน เวลาถ่ายภาพผมต้องหาจุดเด่น หาแลนด์มาร์กว่าที่ไหนน่าสนใจ หามุมที่ดี ต้องลองดูว่าจะถ่ายบนตึก ถ่ายข้างล่าง ถ่ายมุมสะท้อน มันอยู่ที่จินตนาการครับ
ช่วงที่ถ่ายเซตแลนด์มาร์กในกรุงเทพฯ นี่ต้องไปทุกวันขนาดที่เวลาตื่นมาก็ต้องดูท้องฟ้า หรือตื่นมาตอนตี 3-4 เพื่อจะดูว่าวันนี้พอจะถ่ายภาพได้ไหม ฟ้าใสไหม วันไหนที่ฝนตกยังไงก็จะไป พอตอนนี้มานึกๆ ดูก็คิดว่าตอนนั้นเราทำไปได้ยังไง(หัวเราะ)”
ฟังเขาเล่าว่าช่วงนั้นเสพติดการถ่ายภาพแบบเข้าเส้น จึงอดถามไม่ได้ว่าก่อนหน้าที่เขาจะมาตกหลุมรักการถ่ายภาพนี่มันเริ่มต้นมาจากอะไร คุณภัทรจึงย้อนความรู้สึกให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล
“แรงบันดาลใจในการถ่ายภาพมันเริ่มมาจากที่ผมเรียนสถาปัตยฯ ม.เทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ครับ เวลาผมออกแบบห้องหรือตึก ผมอยากใช้โปรแกรมทำภาพเสมือนจริง ถ้าเราถ่ายภาพเราจะได้รู้ว่าบรรยากาศจริงๆ มันเป็นยังไง เราสามารถที่จะทำงานให้เหมือนของจริงได้ด้วย นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจแรกของผม”
นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เขาจับกล้องและมันก็ทำให้ชีวิตเขาได้เปลี่ยนแปลงไป เขาออกเดินทางเพื่อเปิดมุมมองบางอย่าง ด้วยการใช้เวลาในช่วง 3-4 เดือนเก็บภาพจุดแลนด์มาร์กสำคัญในกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งมันได้ทำให้เขาหลงรักเมืองไทยมากขึ้นกว่าเดิมอีก
“ผมคิดว่าน่าจะเกิน 20 ที่นะครับที่ผมถ่าย แต่มีหลายมุม บางทีเราไปเราไม่ชอบเราก็ไปซ้ำจนกว่าจะได้ที่พอใจ เฉลี่ยแล้ว 2-3 ครั้งต่อสถานที่นั้น อย่างภาพจากมุมสูงผมขึ้นไปถ่ายเองหมดเลย ไม่ได้ใช้โดรนนะครับ ผมต้องหาทางขึ้นไปเก็บภาพเองให้ได้ ถ่ายจากกล้องหมดเลย
เรื่องที่สำคัญที่สุดคือการศึกษาข้อมูลครับว่า สถานที่ตรงนี้มันถ่ายได้ไหม ถ้ามันเป็นตึกส่วนบุคคลเราก็ขึ้นไม่ได้ เราต้องไปในที่มันสาธารณะ หรือบางทีมุมข้างล่างมันก็สวยได้ ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ หาเองครับว่าตรงไหนมันพอถ่ายภาพได้”
ม่านตาคือชัตเตอร์ : ภาพถ่ายคือความทรงจำ
“ความสุขของคุณคืออะไรเหรอ”
“ความสุขของผมคือการถ่ายภาพสถานที่สวยๆ กับเพื่อนที่ชอบเหมือนกับเรา”
อาจเป็นคำถามที่เดาได้ไม่ยากว่าช่างภาพก็ต้องชอบถ่ายภาพแน่นอนอยู่แล้ว แต่เขาให้คำตอบเราลึกซึ้งไปกว่านั้น เขาบอกว่าเวลาที่ได้ถ่ายภาพในสถานที่สวยๆ กับเพื่อนที่รู้ใจ มันทำให้สมองจัดเก็บความรู้สึก ณ ขณะถ่ายได้โดยอัติโนมัติ ซึ่งเมื่อย้อนกลับมาดูภาพนั้นกี่ทีความรู้สึกเหล่านั้นจะย้อนกลับมาเสมอ
“ความสุขของผมคือการที่ผมถ่ายภาพในสถานที่ที่สวยกับเพื่อนที่ชอบเหมือนกัน เพื่อนที่พูดคุยกันถูกคอ ไปด้วยกันถ่ายด้วยกัน มันเป็นอารมณ์ในขณะที่รูปมันออกมา เราจะจำอารมณ์ตอนนั้นได้ว่าเราอยู่ที่ไหน ทำอะไรกับใครอยู่ เวลาเห็นภาพนี้แล้วความทรงจำมันเลยออกมาเลยว่าตอนนั้นเรารู้สึกยังไง”
นอกจากความรู้สึกที่น่าประทับใจในช่วงเวลานั้นจะย้อนกลับมาแล้ว การได้เห็นภาพถ่ายที่ตัวเองเป็นคนกดชัตเตอร์ก็ทำให้รู้สึกมีความสุขเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นมันยังทำให้คนที่ได้ชมภาพถ่ายของเรารู้สึกดีในความสวยงามของสถานที่ได้อีก แล้วแบบนี้ความสุขจะหายไปไหนได้
“ผมเคยนำภาพถ่ายที่เมืองไทยไปให้เพื่อนชาวต่างชาติดู ตอนผมไปเรียนภาษาที่อเมริกาเมื่อ 2 ปีก่อน ผมพยายามโชว์ให้เห็นว่าเมืองไทยเรามีดีนะ มันเป็นเมืองที่สวยมากๆ ผมภูมิใจในความเป็นไทย หลังจากที่เขาเห็นภาพเขาก็จะพูดเหมือนกันว่าอยากมาเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่ทัศนคติของเพื่อนต่างชาติที่เขามีค่อนข้างดีต่อประเทศไทยอยู่แล้ว”
แน่นอนว่าเมื่อเขาเดินทางไปเรียนภาษาที่อเมริกา ด้วยนิสัยรักการถ่ายภาพที่ไหลเวียนอยู่ในตัว เขาจึงไม่พลาดที่จะตามเก็บภาพสถานที่สำคัญในอเมริกาด้วยเหมือนกัน เขาเล่าว่าได้เดินทางไปยังรัฐต่างๆ ในอเมริกามากกว่า10 รัฐ ซึ่งการเดินทางถ่ายภาพเพียงคนเดียวในประเทศที่กว้างใหญ่แบบนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายเขาอยู่เหมือนกัน
“ผมไปเป็นสิบๆ รัฐเลยครับ ซึ่งประสบการณ์ที่ผมไปถ่ายแลนมาร์กที่ต่างประเทศ มันจะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือไม่กล้าออกเดินทางคนเดียว แต่ถ้าเป็นประเทศไทยเรากล้าไปคนเดียว ตอนนั้นภาษาก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เราก็ต้องออกไปให้ได้ มันเป็นการท้าทายเราอย่างหนึ่ง
ที่นั่นจะคนละสไตล์กับของกรุงเทพฯ มันยิ่งใหญ่แต่ผมก็ยังชอบที่เมืองไทยมากกว่า มันน่าหลงใหลมากกว่า ในความคิดผมยังไงแล้วเมืองไทยก็สวยกว่าเยอะ มันเป็นเมืองที่มีเรื่องราว การสร้างสตอรี่มันเป็นเรื่องยาก ถึงจะสร้างใหม่-สร้างสวยยังไงคุณก็สร้างได้ แต่ว่าประวัติศาสตร์หรือเรื่องราวมันสร้างกันไม่ได้ครับ”
ราคากล้องหลักแสน..แต่ความสุขหลักล้าน
พูดถึงตัวกล้องกันบ้างว่าจากผลงานของเขาที่เราเห็น ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าเขาใช้กล้องอะไรในการถ่าย ซึ่งต้องบอกเลยว่ามูลค่าของเลนส์ที่เขากำลังจะบอกกับเรานั้น ทำให้เราถึงกับร้อง “โอ้โห” ออกมาดังๆ
“มูลค่าทั้งหมดที่ผมเล่นกล้องมาอยู่ที่ประมาณ 250,000 บาทครับ” คุณพระ! ฟังไม่ผิดแล้วในระยะเวลา 3 ปีที่ชายคนนี้เข้าสู่วงการการถ่ายภาพ เขาใช้งบประมาณไปทั้งสิ้นราวๆ เกือบ 3 แสนบาท
“กล้องตัวแรกคือกล้องดิจิตอลธรรมดาเลยครับ ราคาราวๆ 3,000 บาท ต่อมาเป็นกล้อง DSLR ผมซื้อมาตอนที่เรียนสถาปัตยฯ เพราะเข้าปี 5 ผมจะต้องใช้กล้อง Pro ในการใช้พรีเซนต์งานจบการศึกษา ส่วนเลนส์ที่ผมใช้ถ่ายจุดแลนด์มาร์กในกรุงเทพฯ ผมใช้เลนส์นาโนครับ
เลนส์ทั้งหมดจะมี 3 ช่วง มีช่วงกว้างก็คือเลนส์วาย เลนส์ปกติ และเลนส์เทเลครับ ที่ต้องมี 3 เลนส์เพราะว่าการออกไปถ่ายแต่ละครั้ง เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าช่วงที่เราต้องการจะใช้เลนส์ตัวไหน จึงต้องเอาไปเผื่อ 3 ตัวครับว่าอยู่ในระยะใกล้ กลาง หรือว่าไกล”
หากใครที่ชอบเล่นกล้องหรือชอบถ่ายภาพอยู่บ้าง คงจะพอรู้ว่าการถ่ายภาพของแต่ละคนจะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน สไตล์ที่ดูแล้วรู้เลยว่าเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากข้างใน เขาเองก็คือหนึ่งในนั้นที่มีเอกลักษณ์ในการถ่ายและมีมุมมองเฉพาะตัวที่บ่งบอกได้ว่านั่นคือตัวเขา
“ผมพยายามถ่ายภาพเหมือนกับที่ตาเห็นให้มากที่สุด อยากให้ภาพเป็นธรรมชาติมากที่สุด จะไม่พยายามทำให้สีมันสดจนเกินไป มันดูสวยก็จริงแต่ดูได้ไม่นานครับ ผมพยายามถ่ายภาพให้มีชีวิต มีองค์ประกอบให้มีเรื่องราว และพยายามจัดองค์ประกอบให้มันอยู่ในตำแหน่งที่สวยงาม”
“ถ่ายสวยขนาดนี้ต้องเคยเรียนถ่ายภาพมาแน่ๆ” แต่ใครจะเชื่อล่ะว่าเขาไม่เคยเรียนถ่ายภาพมาก่อน นี่คือสิ่งที่เขาบอกกับเราว่าทุกๆ อย่างเขาได้มาจากการสะสมประสบการณ์จากการออกไปถ่ายภาพล้วนๆ แม้จะเคยเรียนในคลาสมหาวิทยาลัยอยู่บ้าง แต่การตกตะกอนที่หยิบใช้ได้จริงคือการออกไปข้างนอกเพื่อเรียนรู้เสียมากกว่า
“ผมว่าหลังๆ มันอยู่ที่ประสบการณ์มากกว่านะ ถามว่าได้เรียนถ่ายภาพไหมก็มีเรียนตอนอยู่มหา’ลัยนะครับ เรียนในคลาสเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เรียนเป็นจริงเป็นจังมาก แต่ถ้าที่ใช้ได้จริงๆ ก็จากประสบการณ์จริงเลยครับ ถ้าใครที่อยากถ่ายภาพเป็นผมแนะนำว่าให้ออกไปถ่ายทุกวันครับ”
เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ : @Tam Patra
ชมภาพ