xs
xsm
sm
md
lg

พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

เผยแพร่:   โดย: รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพงค์ เอื้อวัฒนามงคล

(แฟ้มภาพ)
รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพงค์ เอื้อวัฒนามงคล
อาจารย์ประจำ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบทความนี้จึงขอรวบรวมพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่มีต่อปวงชนชาวไทยในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีความสนพระทัยในเทคโนโลยีการสื่อสารและวิชาการไฟฟ้าตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาอยู่ที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงมีความสนพระทัยในเรื่องเกี่ยวกับการรับส่งวิทยุ โดยทรงเคยนำชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ขดลวด คอนเดนเซอร์ และหูฟังมาต่อเป็นวงจรเครื่องรับวิทยุที่สามารถรับฟังคลื่นวิทยุในยุโรปได้ พระองค์ได้เคยเข้าศึกษาวิชาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ มหาวิทยาลัยโลซาน แต่ต้องเสด็จนิวัติพระนคร ในภายหลังจึงได้เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อทางด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ เพื่อเตรียมพระองค์ในการขึ้นครองราชย์

ในเดือนธันวาคม ๒๕๒๙ ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชพลัส ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระองค์ท่านจึงทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงสนพระทัยในการใช้คอมพิวเตอร์ ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๓๐) ความว่า

“เดี๋ยวนี้ เด็กๆ อายุ ๑๐ ขวบ เล่นคอมพิวเตอร์เป็นอย่างนี้ ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่ามีปมด้อยขึ้นมาว่าเล่นคอมพิวเตอร์ไม่เป็น ...แล้ววันหนึ่ง ก็มีคนหนึ่ง เอาคอมพิวเตอร์มาให้บอกว่า อันนี้ เขียนดนตรี ก็เลยรับเอาไว้ ที่จริงรับเอาไว้เขาไม่ได้ให้เพราะว่าไปซื้อมาก็เงินของเราเอง เราซื้อเราก็ยังกลัว มองดูแล้วไม่รู้จะทำยังไง แต่ถึงตอนปีใหม่ ก่อนปีใหม่ นิดหนึ่ง ก็เอาคอมพิวเตอร์ขึ้นไปตั้งในห้องทำงานแล้วก็จิ้มไป เขาบอกว่าเขียนหนังสือได้ เขียนรูปได้ ก็เริ่มลองเขียนหนังสือ ก็เขียนสำหรับอวยพรปีใหม่เป็นบัตร ส.ค.ส. แล้วก็เขียนไปๆ เอ้อ... ออกมาได้ เขียนออกมาเป็นตัวได้ ก็แปลกดี”

ทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการทรงพระอักษรและบันทึกพระราชนิพนธ์ ทรงใช้คอมพิวเตอร์เก็บโน้ตเพลงและเนื้อร้อง ทรงประดิษฐ์อักขระคอมพิวเตอร์หรือฟอนต์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการสร้างโปรแกรมเพื่อแสดงอักษรเทวนาครีที่ยุ่งยากบนจอคอมพิวเตอร์จนสำเร็จได้ภายใน ๔ เดือน ทั้งที่ทรงมีพระราชภารกิจมากมาย ทรงเห็นว่าการสามารถแสดงอักษรเทวนาครีหรือภาษาแขกจะช่วยในการศึกษาและเข้าใจภาษานี้ และทำให้สามารถเรียนรู้พระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ถูกบันทึกด้วยภาษานี้ได้โดยตรง ทรงสนพระทัยในการพัฒนาซอฟท์แวร์ด้วยพระองค์เอง ดังจะเห็นจากการที่พระองค์ทรงปรับปรุงโปรแกรมภาษาไทย CU Writer เพื่อสามารถใช้ทรงงานได้ตามพระประสงค์ ทรงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์ ส.ค.ส. เพื่ออวยพรปีใหม่แก่พสกนิกร เป็นต้น
ส.ค.ส. พระราชทาน ปี พ.ศ.๒๕๔๙
พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญและการนำคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ พระองค์ทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ทรงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนากำลังคนด้านคอมพิวเตอร์ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณ มูลนิธิเพื่อการศึกษาคอมพิวเตอร์และการสื่อสารจึงได้ก่อกำเนิดขึ้นโดยการสนับสนุนด้านการเงินจากบริษัท NEC มูลนิธินี้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้ที่มีความสามารถสูงเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร จนถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับทุนจากมูลนิธิจบการศึกษาออกไปเป็นบุคลากรสำคัญทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารเป็นจำนวนมาก พระราชกรณียกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่การที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา ที่ช่วยให้สามารถสืบค้นข้อมูลที่เกี่ยวกับพระไตรปิฎกและพระพุทธศาสนาได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

พระองค์ทรงเห็นความสำคัญที่จะต้องใช้ซอฟท์แวร์ในการทำงาน และความจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อซอฟท์แวร์จากต่างประเทศมาใช้งาน จึงทรงมีพระราชดำรัสให้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการวางแผนจัดซื้อซอฟท์แวร์ โดยให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการใช้งาน พระองค์ยังทรงแนะนำให้มีการพัฒนาและใช้ซอฟท์แวร์แบบโอเพนซอร์สเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อซอฟท์แวร์ที่มีราคาแพงและยังสามารถผลิตซอฟท์แวร์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของคนไทย ลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และเป็นการสร้างงานให้กับคนไทยในการผลิตซอฟท์แวร์เพื่อใช้เองในประเทศ

พระองค์ทรงริเริ่มและชี้แนะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น เกษตรกรรม การบริหารจัดการน้ำ การศึกษา การสื่อสารและโทรคมนาคม เป็นต้น พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านดังที่ได้กล่าวมานี้ก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติเป็นอเนกอนันต์ เราคนไทยจะขอสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ตลอดไป

อ้างอิง : http://mblog.manager.co.th/chutikran/
กำลังโหลดความคิดเห็น