ประชาชนจากทั่วสารทิศเดินทางมาร่วมกราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างต่อเนื่อง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
วันนี้ (3 พ.ค.) บรรยากาศการไว้อาลัยและกราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 182 ตลอดทั้งวันยังคงมีประชาชนจากทั่วสารทิศทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพ อย่างต่อเนื่อง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
น.ส.นวรัตน์ ทองคำ อายุ 37 ปี ชาวเขตบางเขน กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย (รามอินทรา) เดินทางมาพร้อมครอบครัว นางประกอบ ทองคำ นางจันทร์ฉาย บุญอุ้ม และลูกสาวนักเรียนชั้น ม.1 และ ป.4 กล่าวว่า เดินทางมาเป็นครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ติดตามข่าวเห็นมีประชาชนจากทั่วประเทศมากันมาก เราซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ เลยอยากให้คนที่อยู่ไกลได้มีโอกาสก่อน และลูกๆ ก็อยากมาด้วย จึงใช้เวลาช่วงปิดเทอมรอมาพร้อมกัน ทั้งนี้เพราะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวไทย พระองค์เสด็จฯ ไปยังถิ่นทุรกันดาร สถานที่เราเองยังไปไม่ถึง ทุกวันนี้เรายังเหนื่อยไม่ถึงเศษเสี้ยวของพระองค์ จึงอยากตอบแทนพระองค์ด้วยการยึดหลักคำสอนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตทั้งการสอนลูกๆ ให้รู้จักเก็บออม ประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย มีความเพียร หรือใช้ในการทำงานซึ่งสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่รับราชการทหารจึงเน้นความอดทนเป็นหลัก รวมถึงทำงานอย่างซื่อสัตย์ พร้อมให้บริการความช่วยเหลือสังคม อีกทั้งการพาลูกๆ มากราบพระบรมศพยังสามารถสอนเขาได้หลายๆ อย่าง นอกจากพามาได้รู้จักในหลวง รัชกาลที่ ๙ ยังสอนให้เขาได้อดทนไม่ว่าจะในเรื่องของการเดินทาง การเข้าแถว สอนให้รู้จักการดูแลตัวเอง การช่วยเหลือผู้อื่นที่มีเหล่าจิตอาสามาให้บริการ เห็นถึงความมีน้ำใจที่มีต่อกันด้วย
ผศ.ดร.ลักขณา เพ็ชรประดับ อายุ 68 ปี อดีตหัวหน้าภาควิชาพืชสวน และ รอง ผอ.สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ พร้อมกับลูกชาย น้องสะใภ้ และหลานชาย ตั้งใจอยากมากราบสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ มากๆ แต่ช่วงแรกๆ คนเยอะประกอบกับตนเป็นโรคภูมิแพ้ จึงได้อดใจรอและเห็นว่าช่วงนี้คนไม่ค่อยเยอะแล้วจึงเดินทางมาในวันนี้รู้สึกดีใจมาก
ผศ.ดร.ลักขณา กล่าวต่อว่า ตนเป็นคนกรุงเทพฯ แต่สามีเป็นคนเชียงใหม่ จึงได้ย้ายไปอยู่ จ.เชียงใหม่ และไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ ม.แม่โจ้ ซึ่งเริ่มแรกเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรกรรม ก่อนเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และในปี 2521ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิตรุ่นแรก ตนได้มีโอกาสรับเสด็จฯ ทุกปี ต่อมาในปี 2537 ในหลวง รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตรแทน และปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานปริญญาบัตร
“ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อ ม.แม่โจ้ อย่างมาก ท่านทรงวางพื้นฐานด้านการเกษตรไว้มากมาย ท่านทรงมองเห็นความสำคัญด้านเกษตรกรรม ทรงรับสั่งให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้พัฒนาในทุกๆ ด้านของการเกษตร และเสด็จฯ ทอดพระเนตรหลังมหาวิทยาลัย ก่อนรับสั่งให้สร้างเขื่อน และฝายเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ที่บริเวณบ้านโปง ซึ่งก่อนหน้านี้ขาดแคลนน้ำทางการเกษตรอย่างมาก แต่เดี๋ยวนี้เจริญขึ้นมากมีต้นไม้เขียวขจีชาวบ้านมีน้ำทำการเกษตร พระองค์ยังอยู่ในความทรงจำและอยู่ในใจของทุกคน ในฐานะอาจารย์ ก็ได้น้อมนำหลักคำสอนที่ว่า ทำความดีโดยที่ไม่ต้องหวังให้ใครมาสรรเสริญเยินยอ ถ้าทำได้ก็จะมีความร่มเย็น สุขสงบ ชีวิตเจริญก้าวหน้า รวมทั้งนำพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานแก่ ม.แม่โจ้ ด้านการเกษตร มาปฏิบัติหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ จนสามารถผลิตบัณฑิตได้เข้าไปทำงานในโครงการหลวงจำนวนมาก”
ขณะที่ นายเชาวลิต สังขสุข พนักงานขายอุปกรณ์และอะไหล่เครื่องบิน บริษัทเอกชน กล่าวว่า เดินทางมาจากบ้านย่านลาดพร้าว กรุงเทพฯ พร้อมคุณแม่ ภรรยา และลูกชาย ซึ่งเพิ่งจะมีโอกาสเดินทางมากราบสักการะพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งแรก ซึ่งก่อนนี้เคยเดินทางมาแล้วแต่เข้าไม่ได้เนื่องจากมีประชาชนเดินทางมาเยอะมาก ส่วนวันนี้เดินทางมาถึงสนามหลวงแต่เช้าจึงได้เข้ากราบเร็วและใช้เวลารอไม่นาน
“ประทับใจในพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทั้งโครงการพระราชดำริต่างๆ อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนา ช่วยบำบัดน้ำเน่าเสีย โครงการแก้ปัญหาดิน และโครงการฝนหลวง และอีกหลายๆ โครงการที่ช่วยให้พสกนิกรชาวไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ทรงชี้แนวทางให้รู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงิน รู้จักเก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น จึงรู้สึกภูมิใจที่ได้เกิดภายใต้ร่มพระบารมีในหลวง รัชกาลที่ ๙ ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสมอเหมือน” นายเชาวลิต กล่าว