xs
xsm
sm
md
lg

“อิมมานูเอลออร์เคสตรา” จากคลองเตยไปเวที : ความสุขของหนูคือเสียงเพลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ท่ามกลางความแออัดยัดเยียดในพื้นที่เล็กๆ และหลังคาบ้านที่ชนกันในชุมชนคลองเตย สถานที่ซึ่งถูกเรียกกันว่า “สลัม” “ชุมชนแออัด” และ “แหล่งมั่วสุม”

มองดูแล้วที่นี่ไม่น่าจะเป็นที่ที่สนุกนักสำหรับเด็กวัยซนที่เติบโตที่นั่น ทว่ายังมีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งไม่ได้ถูกซุกซ่อนเอาไว้ เพียงแต่รอการค้นพบด้วยหัวใจที่รักในเสียงดนตรี “โรงเรียนดนตรีอิมมานูเอล” สวนสนุกของเด็กๆ ที่หลงรักตัวโน็ต

เมื่อเข้ามาในย่านชุมชนคลองเตย เราได้ยินเสียงดนตรีขับกล่อมเป็นระยะ ราวกับเป็นเสียงชักชวนให้เดินทางตามหาต้นตอของเสียง และยิ่งเข้าใกล้ก็ยิ่งมีคำถามมากมายเกิดขึ้นว่า “ทำไมที่นี่ถึงมีเสียงดนตรีที่ไพเราะงดงามขนาดนี้”

จนได้พบกับ “ครูต้นกล้วย-วรินทร์ อาจวิไล” ครูสอนดนตรีผู้มีความฝันไม่เพียงแต่ให้เด็กในชุมชนแห่งนี้ก้าวขึ้นสู่การมีวงออร์เคสตราครั้งแรกในชีวิต แต่เขามีความตั้งใจที่ใหญ่กว่านั้น คือการแสดงสู่สายตาคนนอกให้เห็นว่าชุมชนคลองเตยมี “ดี” ยิ่งกว่าที่ใครหลายคนคิด

“ครูต้นกล้วย” ศิษย์เก่าดุริยางค์ฯ ม.มหิดล

หนัง “Seasons Change” เลยครับ

ครูต้นพูดขึ้นมาทำให้เราพอเข้าใจความรู้สึกของนักเรียนม.ปลายในช่วงที่ภาพยนตร์เรื่อง “Seasons Change” เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยเข้าฉายใหม่ๆ ถือได้ว่าเป็นหนังที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่น และแน่นอนว่าเขาเองได้รับแรงบันดาลใจการเรียนดนตรีมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้เช่นกัน

“มันเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีเราเลยรู้สึกชอบที่นั่น สุดท้ายรู้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ตอนแรกบอกพ่อว่าจะเรียนแต่พ่อเขาคิดว่าเราบ้าตามหนัง (หัวเราะ) เขาไม่เชื่อว่าเราจะเรียนจริง เราก็พยายามให้เขาเห็น

แรกๆ ไปสอบก็ไม่ผ่าน ผมผ่านข้อสอบปฏิบัติ แต่ทฤษฎีสอบตกเลยไม่ได้เข้าเรียน แต่โชคดีมากที่มีมิชชันนารีชาวฟินแลนด์ เขาเป็นนักไวโอลินอาชีพที่เดินทางมาเมืองไทยพอดี เขาสอนผมจน 3 ปีนั้นผมสามารถสอบเข้ามหา'ลัยมหิดล คณะดุริยางคศิลป์ เอกไวโอลินได้”
ครูต้นกล้วย
“คริสตจักรอิมมานูเอล” จุดเริ่มต้นสู่เสียงเพลง

เสียงเพลงและศาสนจักรของพระคริสต์ดูเหมือนว่าจะเป็นของคู่กัน ความงดงามของดนตรีมีส่วนช่วยในการขับกล่อมและเกิดความสงบเงียบในจิตใจ จากความรักในเสียงดนตรีของนักสอนศาสนา นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสอนดนตรีกว่า 18 ปี

“เริ่มต้นมาภายใต้คริสตจักรครับ มีสองสามีภรรยาคู่หนึ่งเป็นชาวนอร์เวย์สอนศาสนา แต่ภรรยาที่มาด้วยเป็นนักดนตรีก็ไม่รู้จะทำอะไร จึงเริ่มสอนดนตรีสำหรับรับใช้ในโบสถ์ ตอนแรกเริ่มจากเปียโนก่อน แต่ลูกเขาเรียนไวโอลินที่นอร์เวย์แล้วได้มาเมืองไทย มาที่นี่เลยนำพื้นฐานมาสอนเด็กๆ

ตอนแรกมีเรียนประมาณ 6-7 คน จากลูกหลานของสมาชิกในโบสถ์ เขาเห็นว่าทำไมเด็กไม่พัฒนาขึ้นเลย นั่นเพราะว่าเด็กไม่มีไวโอลินเป็นของตัวเอง เขาก็เลยใช้เงินตัวเองซื้อไวโอลินให้เด็กๆ หลังจากนั้นทำมาเรื่อยๆ รวมเวลาตอนนี้ที่อยู่เมืองไทย 18 ปีแล้วครับ”


เซย์โน..ไวโอลิน 1 ปี

ใครจะเชื่อว่าวีรกรรมของครูต้นเมื่อตอนเป็นเด็ก เขาเคยไม่ชอบเรียนไวโอลินมาก่อน ด้วยเสียงที่แปลกประหลาดของมัน บวกกับเขาเองไม่รู้สึกว่ามันน่าสนุก ทำให้เขาตัดสินใจหยุดเรียนดนตรีไปเป็นเวลา 1 ปี

“ผมเป็นคนหนึ่งที่เรียนดนตรีจากที่นี่เหมือนกัน แต่สมัยนั้นเขามีเปิดอีกเซนเตอร์หนึ่งที่ชุมชนผม “ชุมชนน้องใหม่” เพื่อให้เด็กในชุมชนนั้นได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีวิชาศิลปะ ภาษาอังกฤษ ดนตรี ผมเลือกเข้าไปเรียนศิลปะก่อนอันดับแรก ตอนนั้นผมอายุ 8 ขวบยังไม่อยากเรียนดนตรีเลย

วันหนึ่งอาจารย์ดึงไปเรียนดนตรี เรารู้สึกว่ายังไม่ชอบอะไรเลย รู้สึกว่าเสียงอะไรน่าเกียจจัง (หัวเราะ) พอเรียนๆ ไปรู้สึกว่าไม่ชอบ ผมห่างหายไปจากมันเลย 1 ปี หลังจากนั้นมาถามเพื่อนว่าเรียนถึงเล่มนี้แล้วเหรอ จบเล่มนี้แล้วเหรอ เรารู้สึกอิจฉาเพื่อนเลยกลับไปเรียนใหม่ ต้องตามให้ทันไล่เก็บจนนำทุกคน”

เขายังบอกอีกว่าแบบทดสอบที่จะวัดว่าเด็กคนไหนเรียนจบเล่มได้ เด็กๆ จะต้องขึ้นแสดงดนตรีที่โบสถ์ก่อน จากนั้นครูจะให้สติกเกอร์ที่เป็นเครื่องหมายว่าผ่านแบบทดสอบแล้ว

“นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเรียนไวโอลินจริงจัง และได้มาเล่นในโบสถ์นี้เหมือนเป็นที่แสดงของคนที่จะผ่านเล่มนั้นได้ ต้องผ่านการแสดงที่โบสถ์ก่อน เด็กทุกคนได้มีโอกาสแสดงเหมือนกับเป็นเวทีจริงๆ เลย”

ผมโตมาใน “ชุมชนแออัด”

“ยาเสพติด ความแออัดยัดเยียด ครอบครัวหย่าร้าง แหล่งมั่วสุม” นี่คือคำจำกัดความที่ใครหลายคนต่างมอบให้กับชุมชนแห่งนี้ “คลองเตย” แต่เขาเติบโตมากับที่นี่ ที่ที่เป็น “บ้าน” และแน่นอนว่าเขาอยากเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งเดียวที่เปลี่ยนแปลงชุมชนแห่งนี้ได้คงไม่ใช่ “เงินทองหรือความร่ำรวย” ทว่าคือ “การศึกษา” 

ตั้งแต่เด็กผมโตมาก็เห็นสภาพแวดล้อมต่างๆ ยาเสพติด ครอบครัวหย่าร้าง อบายมุข เพราะว่าบ้านเราก็เป็น ไม่ใช่แต่ครอบครัวคนอื่น เพราะฉะนั้นเราจะสัมผัสได้ทุกอย่างในสิ่งเหล่านั้น เติบโตมาอย่างนั้น เห็นมาอย่างงนั้นมาตลอด

จนมีที่นี่เข้าไปเหมือนเราได้ออกมาจากตรงนั้นสเตปหนึ่ง เราได้ใช้เวลาว่างที่แต่ก่อนเราเที่ยวเล่นกับเพื่อน แต่พอมีที่นี่เขาพาเราไปสถานที่ต่างๆ เรารู้สึกชอบอยากออกไปเห็นโลกใหม่ๆ

จริงๆ ในใจผมก็มีปมด้อยนะเพราะว่าเราอยู่ที่นั่น เราจะทำยังไงให้คนอื่นยอมรับ เราคิดว่าเราคงรวยไม่เท่าเขาแน่ๆ เราทำไม่ได้อยู่แล้วสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการศึกษาที่ทำให้เราเทียบเท่าคนมีเงินได้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถเก็บเกี่ยวได้”

สานฝัน “วงออร์เคสตราเด็ก”

“หลังจากที่เรียนจบ ผมได้มาทำงานที่มหา'ลัยมหิดล 1 ปีในวงออร์เคสตรา ตอนนั้นก็ห่างจากที่นี่ไปเลย จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คริสตจักรแห่งนี้มีแขกมาบ่อย ผมเลยต้องมาสอนเด็กที่นี่บ่อยๆ แล้วพอดีกับตอนนั้นผมสอบออดิชั่นเข้าวงไม่ผ่านด้วย อาจารย์ที่โบสถ์เลยชวนให้มาทำที่นี่ครับ”

เหมือนกับว่านี่เป็นความบังเอิญที่ถูกจัดวางเอาไว้ ให้เขาได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่แบบฟูลไทม์ ได้คลุกคลีอยู่กับเด็กๆ จนเกิดไอเดียที่จะรวมวงขึ้นมาและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนชุมชนแห่งนี้ให้มีแต่เสียงดนตรี นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวงออร์เคสตราเด็กที่กำลังถูกพูดถึงอยู่มากที่สุด

“ที่นี่ไวโอลินเยอะเลย ผมมีความคิดว่าน่าจะรวมวงดู จนได้มาจับกลุ่มเป็นวงออร์เคสตรา นี่คือจุดเริ่มต้นของวงที่เกิดขึ้น เด็กที่นี่อายุตั้งแต่ 4-5 ขวบ จนถึง 20 ปีครับ ส่วนเครื่องดนตรีตอนนี้มีไวโอลิน 80 กว่าตัว เชลโล 6 ตัว วิโอลา 6 ตัว และดับเบิลเบสอีก 1 ตัว

โดยวงจะแบ่งออกเป็นสามวงครับ วงใหญ่คือวง A เราจะเชิญคนจากหลายๆ ที่มาเล่นและมีเด็กของเราเล่นร่วมด้วย วง B คือวงที่เล่นได้กลางๆ เล่นเพลงคนที่แต่งมาให้ เพลงที่เขียนใหม่ขึ้นมา ส่วนวง C คือเบสิก ซึ่งกำลังพัฒนาให้เป็นวง B และคอนเสิร์ตที่ผ่านมาเราให้เด็กวง A กับวง B เล่นด้วยกัน เขาจะได้รู้สึกว่าฉันสามารถเล่นได้นะ”


“สลัม” สู่แหล่งผลิตดนตรีคลาสสิก!

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำคือหนึ่งอยากเปลี่ยนมุมมองคนว่า คลองเตย สลัม จากแหล่งที่เป็นแบบนี้ ถ้าวันหนึ่งดนตรีที่นี่มันใหญ่ขึ้น เราได้ทำให้คนเห็นว่านี่มันเป็นแหล่งผลิตดนตรีคลาสสิกที่ดี ไม่ใช่แหล่งมั่วสุมอีกต่อไป”

จากน้ำเสียงทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจที่เขามี กับความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นสถานที่ที่ถูกพูดถึงในเรื่องดนตรีและวงออร์เคสตราของหนูน้อยทั้งหลาย ด้วยปมด้อยลึกๆ ภายในใจเกี่ยวกับสิ่งที่ใครหลายมองชุมชนคลองเตยด้วยความรู้สึกติดลบ เขาจึงต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าที่แห่งนี้มีดีเหมือนกัน

“ผมรู้สึกมีปมด้อยนะว่า ทำไมคนถึงมองคนในชุมชนแบบนี้ ทำไมถึงไม่มีการศึกษา ด้อยค่า หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมอยากให้ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเห็นว่า คลองเตยมีดีกว่าที่คนข้างนอกเขามอง แต่คนที่นี่แค่ขาดโอกาสที่จะออกไปเห็นโลกภายนอกมากกว่า

ผมอยากให้มันเป็นไอเดียแก่ชุมชนอื่นๆ ด้วยครับ ผมไม่ได้คิดไกลว่ามันจะต้องไปทั่วประเทศ ทั่วโลก แต่ผมอยากจะเป็นคนๆ หนึ่งที่เป็นจุดแรกในการทำ พัฒนาที่ที่ตัวเองอยู่ พอทำหลายคนมันก็เป็นแรงกระเพื่อมได้ เราต้องทำให้มันเป็นจริงจากตัวเราก่อน”

(ชมคลิป)


เรื่อง : พิมพรรณ มีชัยศรี
ภาพ : วชิร สายจำปา

**คอนเสิร์ตของเด็กๆ จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่คริสตจักรไคร้สตเชิช กรุงเทพฯ (Christ Church Bangkok) สามารถร่วมระดมทุนกับแคมเปญ “From Klongtoey to Concert Hall” ได้ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2559




กำลังโหลดความคิดเห็น