xs
xsm
sm
md
lg

เตือน7จว.รับมือน้ำท่วม บิ๊กกรมชลฯปัดผันน้ำใส่นนทบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดหมายว่า ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ จะมีน้ำเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 2,800 ลบ.ม./วินาที ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,300 ลบ.ม./วินาที เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น และรักษาสมดุลระหว่างน้ำเหนือเขื่อนและน้ำท้ายเขื่อน ซึ่งจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 25–75ซม.
“รัฐบาลจึงขอให้ ผวจ.7 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จ.ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวังและเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยให้แต่ละจังหวัดประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ให้รีบดำเนินการโดยด่วน รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน แพร้านอาหาร ที่ประกอบกิจการริมแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ เตรียมนำทรัพย์สินมีค่าขึ้นที่สูง” พล.ท.สรรเสริญกล่าว
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หากมีปริมาณน้ำมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เตรียมการรับมือ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
"ท่านนายกฯ ยังได้ฝากแสดงความเห็นใจ และขอบคุณเกษตรกรบางส่วน ที่ต้องเสียสละพื้นที่ของตนเพื่อรองรับน้ำจากเขื่อน ซึ่งถือเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่ยังเก็บเกี่ยวไม่แล้วเสร็จ โดยได้กำชับให้ ผวจ.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกรว่า จะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการอย่างทั่วถึง"
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกันลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอย่างละเอียด ทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชสวน เพื่อพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้เหมาะสมกับสภาพความเสียหายที่แท้จริงอันเกิดจากการระบายน้ำของรัฐ ซึ่งอาจจะสูงกว่าค่าชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติปกติ เช่น น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง ภัยหนาว พายุ เป็นต้น
ด้านศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. รายงานเมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (9 ต.ค.) ระบุว่าพบฝนเล็กน้อย-ปานกลางกระจายเขตหลักสี่ บางซื่อ จตุจักรลาดพร้าว ดุสิต พญาไท ดินแดง ห้วยขวาง วังทองหลาง ราชเทวี ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบฯบางกอกน้อย บางขุนเทียน ลาดกระบัง จ.นนทบุรี อ.คลองหลวง อ.พระสมุทรเจดีย์ อ.เมืองสมุทรสาคร เคลื่อนทิศใต้ค่อนตะวันตกเล็กน้อย ปริมาณฝนสูงสุดเขตสายไหม 19.0 มม.

***กรมชลฯปัดทำน้ำท่วมนนทบุรี

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวลือแจ้งเตือนกันในโซเซียลมีเดีย ว่า ปริมาณน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น และเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ในคันกั้นน้ำในเขต อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีว่า ในกรณีของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ ว่า ร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มากกว่าวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร และใกล้จะเต็มอ่างฯ แล้ว จึงต้องปรับการระบายน้ำออกจากเขื่อนเพิ่ม เป็นวันละ 55 - 60 ล้านลูกบาศก์เมตร
“เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ และน้ำที่ระบายออกจากอ่างฯ ทำให้มีพื้นที่ว่างที่จะรองรับปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ ได้อีก และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำล้นอ่างฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนเป็นบริเวณกว้างได้” นายทองเปลวกล่าวและยืนยันว่า จะไม่ล้นคันกั้นน้ำเข้าไปส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่เศรษฐกิจในเขต อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อย่างที่ลือกันในสื่อโซเชียลอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะไหลลงสู่เขื่อนพระรามหก ซึ่งกรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในเกณฑ์ 600 – 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ณ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 607 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนพระรามหก ในเขต อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนที่จะไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ปริมาณน้ำที่ อ.บางไทร อยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,076 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น