โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับต้องปล่อยน้ำเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม หลังฝนตกหนัก ขอผู้ว่าฯ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวังยกของขึ้นที่สูง เผยนายกฯ ห่วงผลกระทบ สั่งเร่งสร้างการรับรู้ให้ลดความเสียหาย ขอบคุณเกษตรกรเสียสละพื้นที่รองรับน้ำ ส่งข้าราชการสำรวจพื้นที่ละเอียด แย้มชดเชยสูงกว่าภัยปกติ
วันนี้ (9 ต.ค.) พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดหมายว่า ในวันที่ 10 ต.ค. 59 จะมีน้ำเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 2,800 ลบ.ม./วินาที ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำจากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที เป็น 2,300 ลบ.ม./วินาที เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นและรักษาสมดุลระหว่างน้ำเหนือเขื่อนและน้ำท้ายเขื่อน ซึ่งจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 25 - 75 ซม.
“รัฐบาลจึงขอให้ ผวจ.7 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จ.ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวัง และเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำที่จะเพิ่มขึ้น โดยให้แต่ละจังหวัดประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ให้รีบดำเนินการโดยด่วน รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน แพร้านอาหาร ที่ประกอบกิจการริมแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ เตรียมนำทรัพย์สินมีค่าขึ้นที่สูง” พลโท สรรเสริญ กล่าว
พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการระบายน้ำออกจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หากมีปริมาณน้ำมากขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน เพื่อให้เตรียมการรับมือ และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
“ท่านนายกฯ ยังได้ฝากแสดงความเห็นใจ และขอบคุณเกษตรกรบางส่วน ที่ต้องเสียสละพื้นที่ของตนเพื่อรองรับน้ำจากเขื่อน ซึ่งถือเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกที่ยังเก็บเกี่ยวไม่แล้วเสร็จ โดยได้กำชับให้ ผวจ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจกับพี่น้องเกษตรกร ว่า จะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ มท. และ กษ. จะร่วมกันลงพื้นที่สำรวจความเสียหายอย่างละเอียด ทั้งนาข้าว พืชไร่ พืชสวน เพื่อพิจารณาจ่ายค่าชดเชยเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้เหมาะสมกับสภาพความเสียหายที่แท้จริงอันเกิดจากการระบายน้ำของรัฐ ซึ่งอาจจะสูงกว่าค่าชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติปกติ เช่น น้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง ภัยหนาว พายุ เป็นต้น” พลโท สรรเสริญ กล่าว