ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปตำรวจ(ไทย)นอกจากเสียงเรียกร้องให้แยกงานสอบสวน ไปสังกัดกับกระทรวงยุติธรรมแล้วยังมีเรื่องของกองพิสูจน์หลักฐาน - นิติเวชฯ และตำรวจอีกหลายหน่วยงานที่ไม่สมควรจะให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริหารอีกต่อไป
ความล้มเหลวในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาประชาชนทั้งประเทศย่อมประจักษ์แล้วว่าถึงเวลาที่องค์กรแห่งนี้สมควรได้รับการพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เหมาะสม กล่าวคือตำรวจจะเหลือเพียงแต่เป็นผู้ป้องกันเหตุร้าย และออกติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด ส่วนงานอื่นๆเช่นการจราจร ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจรถไฟ ตำรวจทางหลวง ตำรวจป่าไม้ ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกระทั่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อเกิดการปฏิรูปกันอย่างจริงจังแล้วหน่วยงานดังกล่าวจะต้องไปอยู่ในสังกัดที่เหมาะสม สอดคล้อง
เช่นตำรวจทางหลวง - รถไฟ-ตำรวจน้ำ ขึ้นกับกระทรวงคมนาคม หรือมหาดไทย ตำรวจเศรษฐกิจ ขึ้นกับกระทรวงพาณิชย์ ตำรวจป่าไม้ขึ้นกับกระทรวงเกษตรเป็นต้น โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องมีพนักงานสอบสวนเป็นของตนเองซึ่งสามารถทำได้จากสายงานสอบสวนที่มีอยู่แล้ว และพัฒนาขึ้นมาใหม่
พูดถึงการปฏิรูปตำรวจ ในรอบปีที่ผ่านมาตำรวจป่าไม้ หรือที่มีชื่อใหม่ว่า “กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ( ปทส.)มีความรู้สึกว่าหน่วยงานนี้ไม่มีผลงานเด่นชัด จนแทบลืมไปว่ายังมีหน่วยงานนี้อยู่
การปราบปรามเกี่ยวกับขบวนการตัดไม้ทำลายป่าที่ผ่านมาดูเหมือนว่าไม้พะยูง กับไม้ชิงชัน จะมีข่าวการจับกุมอย่างต่อเนื่อง แม้ทางการจะใช้มาตรการเด็ดขาด กวดขันกันอย่างเข้มข้นแต่ความถี่ของขบวนการลักลอบไม้ชนิดนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่าจากข่าวต่างๆที่นำเสนอให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผุ้กระทำผิดพร้อมของกลางมากบ้างน้อยบ้างอยู่แทบทุกวัน
เมื่อเป็นเช่นนี้คำตอบที่ตามมาก็คือเราจะรักษาผืนป่าไว้ได้นานแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม้พะยูง และอื่นๆอีก 4-5 ชนิดคือไม้ชิงชัน ไม้สัก ไม่มะค่าโมง ไม้ประดู่ และไม้แดง ยังเป็นที่ต้องการของตลาด เฉพาะราคาไม่พะยูงกับไม้ชิงชันว่ากันว่าปัจจุบันมูลค่าดีดขึ้นยิ่งกว่าทองคำ การซื้อ-ขายใช้การชั่งน้ำหนักซึ่งตกกิโลกรัมละนับหมื่นบาท
ราคาขนาดนี้จึงเป็นสิ่งล่อใจ ขบวนการมอดไม้พะยูงซึ่งประกอบด้วยนายทุนนักการเมือง-ผู้มีอิทธิพลในทุกระดับ ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่บางคน และระดับปลายแถวที่สุดคือชาวบ้าน หรือแรงงานต่างด้าวอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งกินพื้นที่หลายแสนไร่ใน 2 จังหวัดคือ อ.ปักธงชัย - วังน้ำเขียว -ครบุรี -เสิงสาง จ.นครราชสีมา และอ.นาดี จ.ปราจีนบุรี กำลังอยู่ในอันตรายอย่างต่อเนื่องเพราะการลักลอบตัดไม้พะยูงมาถึงวันนี้ก็ยังไม่หยุด
หนำซ้ำรูปแบบยังรุนแรง ท้าทายอำนาจรัฐมากขึ้นเช่นมีการบุกปล้นของกลาง หรือใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากเข้าไปตัดไม้
นอกจากป้องกันตัวเองแล้วเมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช เข้าจับกุมก่อนส่งมอบให้ตำรวจดำเนินคดีความผิด พรบ.ป่าไม้ส่วนใหญ่ตำรวจจะเลือกเป็นดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายซึ่งทำแค่เพียงผลักดันกลับประเทศต้นทาง เพราะถ้าดำเนินคดีอื่นตามาที่ฝ่ายปราบปราม หรือเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯแจ้งมาก็จะมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย อยู่กินของเหล่าผู้ต้องหาซึ่งครั้งหนึ่งมีจำนวนมาก จึงเลือกทำกันแบบง่ายๆ หรือถ้าจะตำหนิว่า “มักง่าย”ก็คงไม่ผิด คนงานต่างด้าวเหล่านั้นจึงไม่เข็ดหลาบ จับได้จับไป พอทางการไทยเผลอก็กลับเข้ามาทำความผิดกันอีกขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่ในหลายระดับร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วย
นี่คือกลุ่มแรกหรือกลุ่มต้นทาง เมื่อลักลอบตัดไม้ได้แล้วจะทยอยขนไปรวมกันยังจังหวัดชายแดน ส่วนใหญ่มากองรวมกันที่ จ.สระแก้ว ซึ่งน่าแปลกใจมากว่าไม้พะยูงเหล่านั้นขนผ่านเส้นทางต่างๆมาได้อย่างไร เพราะมีข้อมูลยืนยันว่าแม้ศูนย์กลางไม้พะยูง ส่วนใหญ่ลักลอบตัดกันที่อุทยานทับทาน แต่แหล่งอื่นๆที่เป็นเป้าหมายก็มีเช่นกันโดยเฉพาะอีสานตอนใต้ คือ จ.บุรีรัมย์ -สุรินทร์ -ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ เป็นต้น
กลุ่มที่สองคือชุดที่นำไม้ต้องห้ามใส่ตู้คอนเทรนเนอร์ แล้วทำทีว่าเป็นสินค้าผ่านแดน ซึ่งจะต้องผ่านกรรมวิธีของศุลกากร โดยมีชิปปิ้งเป็นผู้ประสานทั้งหมด
สินค้าผ่านพรมแดนหรือทรานซีส มีข้อจำกัดในการตรวจสอบมากมาย และถือเป็นหนามยอกอกเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามฯเป็นอย่างยิ่งเพราะหากได้ข้อมูลไม่แม่นยำ เกิดความผิดพลาดระหว่างตรวจค้นก็อาจถูกฟ้องร้องเป็นปัญหาได้
จึงไม่น่าแปลกใจที่เคยเห็นข่าวว่ามีการจับไม้พะยูง คาท่าเรือคลองเตย หรือแหลมฉบัง ชลบุรี อยู่บ่อยครั้ง ตามข้อมูลของฝ่ายปราบปรามกรมอุทยานฯระบุว่ามีไม้พะยูง ของกลางตกค้างอยู่ที่ท่าเรือทั้งสองแห่งนับพันตู้คอนเทรนเนอร์ รวมปริมาณเนื้อไม้ทั้งสิ้นน่าจะมากกว่า 1 หมื่นลูกบาศก์เมตร มูลค่าคิดกันไม่ถูกเพราะตลาดมืดซื้อขายไม่ต่ำกว่า กก.ละหมื่นบาทไปแล้ว คาดว่ามูลค่าไม้พะยูงของกลางทั้งหมดน่าจะเป็นหมื่นล้านบาทเป็นอย่างน้อย
ด้วยราคาที่สูงไม่ต่างกับทองคำนี้เองข้อมูลล่าสุดทราบมาว่ากรมศุลกากร เคยพยายามพลักดันให้รัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอขายไม้พะยูงของกลางแบบ จีทูจี.กับประเทศจีนแต่คณะกรรมการจัดการไม้มีค่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน อันประกอบด้วยหน่วยงานหลักหลายแห่ง อาทิทหาร -ตำรวจ -กรมป่าไม้-กรมอุทยานฯ ออกมาคัดค้านข้อเสนอของศุลกากร จึงตกไป
วันนี้ไม้พะยูง จำนวนมหาศาลยังอยู่ในการดูแลของกรมศุลกากร
หลายคนแสดงความห่วงใยว่าไม้ของกลางดังกล่าวซึ่งเคยขึ้นบัญชีของกลางไว้อย่างครบถ้วนนั้น ขณะนี้จะแปลสภาพเป็นไม้สน ไม้รังหรือถ่านหุงข้าวหรือไม่
เพื่อความโปร่งใสไม่ให้เกิดข้อครหาใดๆ รัฐบาลภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา สมควรหรือไม่ที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบไม้พะยูงของกลางซึ่งขณะนี้กลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประเทศไทย ที่หายากที่สุดในโลกไปแล้ว