ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สถานการณ์ข่าวภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยามนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ไม่เกิน 3 เรื่อง คือกรณีระเบิด7 จังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ ซึ่งยังไม่รู้ว่า สตช.จะสามารถกอบกู้ความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาได้หรือไม่ เพราะตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงวันนี้ยังไม่เห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากเลี้ยวไปจัดการกับขบวนการเสื้อแดง ส่วนการจับกุมผู้ต้องหา หรือผู้ร่วมในขบวนการที่มีพยาน-หลักฐานเชื่อมได้เจ๋งๆ ไม่มีแม้แต่คนเดียว
เรื่องที่สองคือการปฏิรูป ซึ่งข่าววงในแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชักไม่ปลื้มกับลีลาที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กับสมัครพรรคพวกเซิ้งกันไปเซิ้งกันมา จนดูเหมือนว่าท่านกำลังถูก “แหกตา”เพราะขบวนการปฏิรูปที่ สตช.ภายใต้การนำของ “กระโถนท้องพระโรง” หรือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. ที่มีอายุงานเหลืออีกเพียงเดือนเดียวนั้นมันเป็น “ตลกฝืด” เป็น “ลิเกหลงโรง”
เป็นการปะผุระบบบริหารงานมากกว่าเป็นการปฏิรูป เพราะถ้า สตช.จะปฏิรูปจริงๆ จะต้องไม่หวงอำนาจ งานสอบสวนจะต้องแยกเข้าสู่การดูแลของกระทรวงยุติธรรม ตำรวจทางหลวง ป่าไม้ เศรษฐกิจ และอีกมามายจะต้องอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวง - ทบวงที่เหมาะสม เช่นการเอ่ยปากของ “นายกฯลุงตู่” ให้ตำรวจท่องเที่ยวไปขึ้นกับกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬาฯ เป็นต้น
เรื่องสุดท้ายคงไม่พ้นคดีความต่างๆ ที่มีตำรวจไทยไปเกี่ยวข้องด้วยไม่ว่าจะเป็นกรณี 10 ตำรวจฝ่ายปราบปรามยาเสพติดของ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่ตกเป็นจำเลยสังคม จากการที่จับผู้ต้องหามียาไอซ์ในครอบครองรายหนึ่ง แล้วผู้ต้องหาคนนั้นเกิดถูกแขวนคอตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่
คดีนี้สื่อให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ประชาชนเฝ้าติดตามว่าผลจะออกมาอย่างไร เพราะล่าสุดศาลได้วินิจฉัยให้การตายของผู้ต้องหารายนั้นถูกกระทำโดยคนอื่น มิได้เป็นการแขวนคอตายเอง ตำรวจ 10 นายจะร่วมรับผิดชอบกันอย่างไร !!??
อีกคดีที่มีตำรวจไปพัวพัน นั่นคือเรื่องราวของตำรวจฝ่ายสอบสวน สน.ประชาชื่น ในคดีหญิงไก่ ซี่งตกเป็นจำเลยสังคมมานานหลายเดือนแล้ว...ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ตำรวจมีเหตุผลอะไรจึงรับแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษจากหญิงไก่ ที่เทียวขึ้นเทียวลง ใช้บริการตำรวจฝ่ายสอบสวน สน.ประชาชื่น เอาคนบริสุทธ์เข้าคุก เข้าตะรางรวมเกือบ 10 คดี แต่เมื่อสังคมช่วยกันพิสูจน์ทราบ แทนที่ตำรวจจะหาทางเยียวยาระงับความผิดพลาด กลับดันทุรัง เดินหน้าเล่นงานผู้บริสุทธิ์ต่อไป
ถ้าทนายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ไม่เดินหน้าร้องผู้ตรวจการแผ่นดินก็ไม่ทราบว่า พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. จะ “กลับลำ”กลางคันสั่งไม่ฟ้องคดีน้องก้อย หรือไม่
3 เรื่อง 3 รส ล้วนมีผลต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญไม่เพียง สตช.หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลเท่านั้นแต่ยังกัดกร่อนไปถึงศรัทธาที่ประชาชนมีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่ลงทุนแบกรับไว้ทั้งตัว
บาดแผลเน่าๆ ที่เกิดขึ้นใน สตช.นั้นกลายเป็น “ตัวถ่วง” มีคำถามทั้งเชิงสงสัย และไม่เชื่อมั่นในตัวผู้นำ จึงอยากฝากไปยังสต๊าฟทำงานของท่านนายกรัฐมนตรี หรือถ้าบังเอิญท่านอ่านพบข้อเขียนนี้ ขอแนะนำว่า การปฏิรูปตำรวจอย่าว่าประชาชนจะถูกใจเลย แม้แต่ตำรวจเอง “ส่วนใหญ่” ก็อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเขาเชื่อว่ายังไงเสียมันต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ จะมีเพียงตำรวจที่สูญเสียผลประโยชน์เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ยังหวงอำนาจ บ้าอำนาจ เพราะอำนาจก็คือผลประโยชน์
โฟกัสกันไปเลยก็คือ บรรดานายพล หรือตำรวจมีรุ่นทั้งหลายนั่นแหละที่เขาไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พวกนี้ไม่เคยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม คิดแต่ประโยชน์ส่วนตัว นายพลในราชการ นายพลนอกราชการ พวกตำรวจมีรุ่น พยายามยึดโยงระบบอุปถัมภ์กันอย่างเต็มที่ หมดรุ่นพ่อ สู่รุ่นลูก รุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ทำราวกับว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นสมบัติของพวกเขา
วันไหนถ้านายกฯลุงตู่ สั่งเดินหน้าปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างเต็มตัวเชื่อเหลือเกินว่า “วันนั้น” คะแนนนิยม พลังศรัทธาในตัวผู้นำจะกลับมาอย่างท่วมท้น เพราะตำรวจในระบบเก่าคือปัญหาของประชาชนที่สุดจะทนกันอีกต่อไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวในด้านอำนวยความยุติธรรม การป้องกันอาชญากรรม หรือแม้แต่เรื่องทุจริต คอร์รัปชัน รวมจนถึงการซื้อขายตำแหน่ง และการแต่งตั้งโยกย้าย ถือว่าเป็นยุคที่ตกต่ำและประชาชนไม่ยอมรับมากที่สุด
พูดถึงความล้มเหลวในทุกๆด้าน ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับงานสอบสวนของตำรวจที่ยืนยันกันว่าหลัง “ยุบแท่ง” สอบสวนไปแล้วจะไม่เกิดปัญหาอะไรตามมา แต่วันนี้ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนเค้าลางแห่งหายนะ เริ่มส่อออกมาให้เห็น
วันก่อนเฟซบุ๊กพนักงานสอบสวนหญิง ซึ่งมีประชาชนติดตามจำนวนมาก ขึ้นข้อความว่าจากกรณี สตช. ได้ปฏิรูปตำรวจด้วยการยุบแท่งพนักงานสอบสวน สกัดการลื่นไหล ตัดเบี้ยเลี้ยงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ปรากฏผลในทางที่ดีขึ้น หรือแย่ลง ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้ทราบดังต่อไปนี้.....
“คำสั่ง รองสารวัตรของ สตช. มีคนไปสรุปมาแล้วและนำมาเผยแพร่ในไลน์ ปรากฏว่า งานสอบสวนมีคนย้ายออกจากสายงานนี้ 598 คน ไปอยู่ฝ่ายอำนวยการ สืบสวน จราจร ปราบปราม ตรวจคนเข้าเมือง และมีคนย้ายเข้า 169 คน ติดลบ 429 คน ที่หายไปรวมระดับ ผกก.ที่ย้ายจาก สภ.ไปอยู่ บก. หรือ บช.อีกประมาณ 700 คน รวมเป็น 1,200 คน ที่หายไปจากสถานีตำรวจ...
ทำไมย้ายออก ก็เพราะงานมันหนัก มันเหนื่อย ไม่ได้พัก งานเอกสารที่ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ งานที่กดดันภายในเวลาจำกัดกับการควบคุมของเวลาฝากขังผู้ต้องหา และต้องปรับกฏหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริง และขาข้างหนึ่งเหยียบไปอยู่ในคุกตั้งครึ่งหนึ่งแล้ว ใครจะไปอยู่ เงินเดือนล้วนๆ โดนตัดเงินมาเดือนที่ 6 สถานการณ์แบบนี้ ใครมีทางไปที่ดีกว่าก็ต้องเลือกไปแน่นอน.... คนที่อยู่ก็ต้องทำให้ได้ภายใต้ความขาดแคลน...เฮ้อ...เพ้อฝันกับความจริงมันช่างแตกต่าง ขอคนเพิ่ม 5,000 คน มาช่วยงานจะได้มั้ยคะ ขอบ่นก่อนนะคะ ต้นธารความยุติธรรมกำลังแย่ละ ....
ชัดเจนจนไม่ต้องแปลเป็นอื่นคือ ตอนนี้ตำแหน่งพนักงานสอบสวนกำลังขาดแคลนจนถึงขั้นวิกฤติ...ส่วนสาเหตุมีคำตอบในตัวอยู่แล้ว ก็เพราะความซื่อบื้อของผู้มีอำนาจบางคน คงคิดว่า นี่คือการปฏิรูป และนี่คือวิธีแก้ปัญหา แต่กลับสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าจนพนักงานสอบสวน หรือตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชายังยอมรับว่า ต้นธารความยุติธรรมไทยกำลังแย่
อ่านจากบทความของพนักงานสอบสวนหญิง จึงเห็นภาพของปัญหา แต่ที่ยังเป็นขยะซ่อนอยู่ในพรมก็คือ การหลีกเลี่ยงจากตำแหน่งพนักงานสอบสวนจนเกิดสภาพขาดแคลนนั้น มิใช่เพียงมีการวิ่งเต้นไปอยู่ในตำแหน่งอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า หรือมีรายได้มากกว่า
ข้าราชการตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน หลายคนยังมีวิธีหนีงานด้วยการวิ่งเต้นให้ผู้หลักผู้ใหญ่ใน สตช. ดึงตัวไปช่วยราชการตามสำนักต่างๆ เช่น สำนักงานผู้ช่วย ผบ.ตร. สำนักงานรอง ผบ.ตร. หรืออาจรวมทั้งสำนักงาน ผบ.ตร.ด้วย
ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ การออกมาเปิดเผยตัวของ ร.ต.ท.หญิงสิริรัตน์ เพียรแก้ว รองสารวัตรสอบสวน สภ.เมืองราชบุรี เจ้าของเพจ “หมวดคะ” โด่งดังและประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้ติดตามมากถึง 1.4 แสนคน แต่การมาช่วยราชการที่สำนักงาน พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร.นั้น ต้องถามว่า มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหน และงานหลักคืองานสอบสวนประจำการอยู่โรงพักราชบุรี ตำแหน่งพนักงานสอบสวนไม่ขาดแคลนกระนั้นหรือ
กรณี ร.ต.ท.หญิงสิริรัตน์ ยังมองเห็นปัญหาอีกมิติหนึ่งว่า โครงการนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณจำนวนมากไปนั้น เกิดความคุ้มค่าจริงหรือไม่ หากพนักงานสอบสวนไม่ว่าหญิง หรือชาย ยังมองว่างานสอบสวนคืองานเสี่ยง ไม่มีความคุ้ม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
ทุกๆเรื่อง ทุกๆปัญหา สะท้อนถึงประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างแท้จริง และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องตอกย้ำ และร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปตำรวจกันอย่างแท้จริง
ปัญหาของตำรวจก็คือปัญหาของประชาชน ตราบใดที่ตำรวจยังอยู่ในวังวนแบบนี้ก็อย่าหวังว่าคนไทยทั่วทั้งประเทศจะได้นอนกันตาหลับ