xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อะโลฮ่า ฮาวาย แตะเธอโลกแตกแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคงร้อนฉ่าเป็น Talk of the Town โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ที่นักเลงคีย์บอร์ดละเลงข้อมูลเชื่อมโยงกันมันหยดตึ๋ง กับ “ทริปอะโลฮ่า ฮาวาย” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จริงๆก็ไม่มีใครว่าอะไรกับการที่คนระดับรองนายกรัฐมนตรี เบอร์ 2 ของรัฐบาล จะมีภารกิจไปประชุมในต่างแดน ซึ่งที่ผ่านมาคณะของ “บิ๊กป้อม” เองก็เทียวไปเทียวมาจับเครื่องไปต่างประเทศบ่อยครั้ง เสียกว่า “นายกฯตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยซ้ำ แค่ 2-3 เดือนมานี้ “พี่ป้อม” ก็ไปมาแล้วหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ และรัสเซีย เป็นต้น

หากแต่ภารกิจการเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอาเซียน-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อย่างไม่เป็นทางการ ณ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา กลับเป็นเรื่องราวเป็นราวเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมา

เมื่อจู่ๆมี “มือดี” นำข้อมูลที่ปรากฏใน เว็บไซต์ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี มาจุดประเด็นถึงความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณของบุคคลระดับสูงของรัฐบาล เป็นข้อมูลราคากลางจัดซื้อ - จัดจ้าง ประจำปี พ.ศ.2559 รายการ “การจ้างการรับขนคนโดยสารทางอากาศ โดยเครื่องบินพาณิชย์” ณ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 ก.ย.-2 ต.ค.2559 รับผิดชอบโครงการโดย กองการต่างประเทศ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อ้างอิงราคากลางจาก จาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา สรุปเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 20,953,800.00 บาท

พูดง่ายๆ คือ “ทริปฮาวาย” ของ “พี่ป้อมและคณะ” ใช้บริการ “เช่าเหมาลำ” จากการบินไทย สนนราคาที่เป็นตัวเลขกลมๆ กว่า 21 ล้านบาท

ในช่วงแรกก็มีการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของจำนวนงบประมาณกับความจำเป็นของภารกิจ ในการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนจำนวนมาก เพียงเพื่อไปร่วมประชุมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งย้อนแย้งกับ “ประกาศิต” ที่ “นายกฯตู่” ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยลั่นเอาไว้ภายหลังจากการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 หมาดๆ ในการกำชับให้ทุกหน่วยงานภาครัฐ “ประหยัด” ค่าใช้จ่ายการเดินทางไปศึกษาดูงานในประเทศและต่างประเทศโดยเครื่องบิน

กระทั่งเป็นที่มาของ ร่างพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ซึ่งสาระสำคัญกำหนดความจำเป็นในการโดยสารเครื่องบิน แบ่งชัดเจนว่าระดับไหน ระยะทางเท่าไร ถึงจะได้นั่งชั้นเฟิร์สคลาส ชั้นธุรกิจ หรือชั้นประหยัด

หลักใหญ่ใจความต้องคำนึงถึงความเหมาะสมที่ประเทศจะได้รับประโยชน์ และยึดหลัก “พอเพียง” เป็นสำคัญ

พอมีประเด็น “ป้อม ฮาวาย” ขึ้นมาก็เท่ากับตบหน้าหัวหน้า คสช.ดังฉาด เพราะเมื่อฟังเพียงผิวเผินก็เท่ากับเป็นการเดินทางที่ไม่ได้ยึดหลักที่ “ท่านผู้นำ” เคยให้นโยบาย อีกทั้งการประชุมครั้งในวงเล็บว่า “อย่างไม่เป็นทางการ” ประจวบเหมาะกับ “ฮาวาย” ในฐานะเมืองตากอากาศอันดับต้นๆของโลก

ทุกเสียงต่างสรุปตรงกันว่า “ไปเที่ยวแน่ๆ”

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งตัว “รองฯประวิตร” หรือ “นายกฯตู่” กระทั่ง “เสธ.ต้อง” พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาประสานเสียงแก้ต่างว่า เป็นภารกิจที่มีความสำคัญในการไปกระชับความสัมพันธ์กับรัฐมนตรีความมั่นคงประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งประเทศสหรัฐฯในฐานะเจ้าภาพด้วย

ส่วนกรณีที่ต้อง “เช่าเหมาลำ” ไปนั้นก็ชี้แจงว่า เนื่องจากไม่มีเที่ยวบินตรงจากประเทศไทยไปยังเกาะฮาวาย อีกทั้งเครื่องบินของกองทัพที่มีศักยภาพอยู่ในระหว่างซ่อมบำรุง จึงเลือกใช้บริการเครื่องบินพาณิชย์ในการเดินทาง ซึ่งก็ต้องเป็นเครื่องที่ “สเปกสูง” ด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกลไปอีกซีกโลก

แต่คำชี้แจงของ “บิ๊กป้อม” ดูจะแปร่งหูไปนิดที่ว่า การใช้บริการ “การบินไทย” ในฐานะ “สายการบินแห่งชาติ” ก็เหมือนการล้วงเงินจากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา โดยลืมไปว่าแม้การบินไทยจะมีสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติ แต่ก็เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้นอยู่เพียง 51 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ดังนั้นรายได้จาก “เที่ยวบินอะโลฮ่า” ก็ไม่ได้เข้ารัฐแบบเต็มๆ ตามที่พยายามเปรียบเปรย

นอกเหนือจากยอดรวมกว่า 21 ล้านบาทแล้วนั้น ก็ยังถูกขุดคุ้นเขี่ยทุกรายละเอียด ทั้งจำนวนผู้โดยสารที่ระบุว่ามีเพียง 40 คน ก่อนจะมีการยกเลิกภายหลัง 2 คน เหลือ 38 คน จากความจุของเครื่องบินที่โดยสารได้ 400 กว่าที่นั่งสบายๆ ซึ่งก็มีการอรรถาธิบายว่า เป็นการเลือกผู้เดินทางให้เหมาะสมกับภารกิจเท่านั้น หากแต่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินโอบิ้ง 747-400 ขนาดจัมโบ้เจ็ตลำใหญ่ เนื่องจากระยะทางไปไกลถึงเกาะฮาวาย

อีกเรื่องที่ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นด้วยงบประมาณค่าอาหาร-เครื่องบินในระหว่างการเดินทางที่ถูกกำหนดไว้สูงถึง 600,000 บาท จนเกิดคำถามว่า คนแค่ 38 คนกินอะไรกันตั้งหลายแสน ก่อนจะมีภาพหลุดรายการอาหารออร์เดิร์ฟมื้อแรกของทริปออกมา ระบุว่าเป็น “คาเวียร์” พร้อมเครื่องเคียง อาหารว่างเลิศรส ทอดมันปู กุ้ง และแฮมอิตาเลียนรมควัน ซึ่งเป็น “อาหารระดับเหลา” ที่ขึ้นโต๊ะบุคคลระดับวีไอพีเป็นปกติอยู่แล้ว

จริงๆเรื่อง “ไข่ปลาคาเวียร์” ถือเป็นประเด็นยิบย่อยที่ไม่น่าจะเป็นเรื่อง แต่ก่อนหน้านั้นไม่นาน “บิ๊กป้อม” เองให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องงบค่าอาหาร 600,000 บาทว่า ไม่มีอะไรมากแค่อาหารไทยธรรมด๊า..ธรรมดา พอถูกจับได้ก็แถไปอีกว่า “คนอื่นกินกัน อั๊วโซ้ยแต่ก๊วยเตี๋ยว”

ในระหว่างที่ “ฝ่ายรัฐ” พยายามหาทางแก้ต่าง-แก้ตัวเรื่อง “ทริปฮาวาย” กับงบประมาณ 21 ล้านบาท ก็มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึง “ตัวละครลึกลับ” ที่ไม่น่าจะปรากฏอยู่ใน “คณะทัวร์ฮาวาย” จึงมีความพยายามสืบเสาะ และสอบถาม “เสธ.ต้อง” ในฐานะโฆษกกระทรวงกลาโหม ถึงรายชื่อ 38 บุคคลที่เดินทางไปกับเที่ยวบิน TG8886 กรุงเทพฯ-ฮอนโนลูลู แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยยืนยันว่าจะให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

ท่าทีลับๆล่อๆของ “โฆษกทหาร” แทนที่จะทำให้เรื่องเงียบ แต่กลับเข้าทาง “เจ้ากรมข่าวลือ” ที่คงมีข้อมูลทีเด็ดอยู่ในมือ

ที่สำคัญคือตัวละครลับที่ว่านี้โยงใยอิรุงตุงนังกับความสัมพันธ์อันซับซ้อนเรื่อง “พี่กับน้อง” ของ พล.อ.ประวิตร โดยตรง

แต่ไม่ทันไรลิสต์รายชื่อ “คณะทัวร์ฮาวาย” ก็ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนผ่านแฟนเพจ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” ที่ตั้งตนอยู่ตรงกันข้ามกับ “รัฐบาลทหาร” อยู่แล้ว ลิสต์รายชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษปรากฏมีด้วยกัน 43 รายชื่อ แบ่งเป็น 40 คนที่เปิดทางไปกลับ กรุงเทพฯ-ฮอนโนลูลู- กรุงเทพฯ ขณะที่อีก 3 คน เดินทางขากลับอย่างเดียว

ในรายชื่อมีทหาร-ตำรวจที่มียศนำหน้า 35 ราย โดย 1 รายเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งระบุในภายหลังว่าเป็นผู้ประสานงานของทางสหรัฐฯที่ติดตามคณะไปด้วย อีก 8 รายเป็นพลเรือน รายหนึ่งเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ อีก 2 รายเป็นข้าราชการสังกัดสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีชื่อเป็นผู้จัดทำราคากลางของทริปนี้ด้วย อีก 2 รายถูกเป็นบรรณาธิการข่าวทหารและช่างภาพของ ททบ.5 และรายหนึ่งค้นหาในโลกออนไลน์ปรากฏเป็นสาวหน้าแฉล้ม แต่ไม่มีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจน

ส่วน 2 ใน 8 พลเรือน ก็เป็นผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก “กลุ่มทุนใหญ่” ที่มีภารกิจสำคัญในการร่วมทางครั้งนี้

กระนั้นก็ดี จากรายชื่อทั้ง 43 คน สปอตไลท์กลับสาดส่องไปที่ “หมายเลข 20” ที่นั่ง 24F อยู่ในหมวดที่นั่งชั้นธุรกิจ ชื่อแปลเป็นไทย คือ ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ มีชื่อเล่นที่ทราบกันในวงการว่า “ทิพย์” เป็นชื่อที่ตรงกับ “ตัวละครลับ” ที่ถูกกล่าวถึงก่อนหน้านี้

เป็น “ชลรัศมี” ผู้ที่ใครๆ ก็รู้จักเธอ โดยเฉพาะทหาร เนื่องจากเธอเป็นนายทหารยศพันตรี เป็นผู้ประกาศข่าวและผู้ดำเนินรายการของ ททบ.5

แถมก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยรายชื่อ “ทริปฮาวาย” ออกมา ก็มีความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผิดปกติ ทั้งสกู๊ปข่าว “ปีทองของชลรัศมี ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน” ของสำนักข่าวอิศรา ที่นำเสนอไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557 กลับมาถูกแชร์มากผิดปกติในช่วงที่ผ่านมา เช่นเดียวกับประวัติส่วนตัวของ “ชลรัศมี” ที่ถูกกล่าวถึงเป็นจำนวนมาก
 
กระทั่ง พ.ต.หญิงชลรัศมีต้องออกมาปฏิเสธเสียงดังฟังชัดว่า ไม่ได้ร่วมคณะเดินทางไปด้วย อย่ามามโนให้เป็นประเด็นทางการเมือง พร้อมโชว์หลักฐานว่ากำลังนั่งอ่านข่าวอยู่กับ “ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน” ทางช่อง 5 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา

“อย่างฮา เมื่อวันศุกร์อยู่กรุงเทพฯ อ่านข่าวตัวเป็น ๆ อยู่หน้าจอช่อง 5 แต่มีคนมโน! ว่าทิพย์ไปต่างประเทศ แสดงว่า รายการข่าว ที่ทำสดจันทร์ - ศุกร์ ยังไม่ดังพอ ฝากติดตามชมรายการด้วยนะคะ เช้านี้ประเทศไทย 7.00 - 8.00 น. ช่อง 5 ค่ะ”พ.ต.หญิงชลรัศมีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม

และนั่นคือความจริง เพราะเธอไม่ได้ไปจริงๆ ซึ่งไม่เพียงเจ้าตัวออกมายืนยันเท่านั้นกระทรวงกลาโหมก็ยืนยันว่า “หนูทิพย์” เป็น 1 ใน 2 ชื่อที่ยกเลิกการเดินทาง ทำให้เหลือ 38 จาก 40 รายที่ได้ไปเหยียบแดนอะโลฮ่า

ส่วนการตัดสินใจไม่ไปด้วยเหตุผลกลใดนั้น เป็นเพราะติดภารกิจหรือมี “พรายกระซิบ” ให้รู้ว่ากำลังจะโดนเพ่งเล็ง จึงต้องสละเรือบินอย่าง “กะทันหัน” ก็ไม่รู้ได้

แต่ถึงกระนั้นก็ดีเรื่องก็ลุกลามลามบานปลายชนิดหยุดไม่อยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มคนเสื้อแดงที่เชื่อเป็นตุเป็นตะว่าเป็นเรื่องจริงแบบไม่ลืมหูลืมตา

กรณีที่เห็นได้ชัดคือการนำภาพ “ผู้หญิง” คนหนึ่งมาเผยแพร่และยืนยันว่าเป็น พ.ต.หญิงชลรัศมี ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็ไม่ใช่น้องทิพย์ แต่คนเสื้อแดงก็เชื่อและส่งต่อกันอย่างสนุกสนาน

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือเกมทางการเมืองที่เคลื่อนอย่างเป็นขบวนการ และงานนี้ต้องใช้คำว่าเดชะบุญที่เธอไม่ได้ไปร่วมทริปจริงๆ ไม่งั้นคงยุ่งกว่านี้อีกหลายเท่า

อย่างไรก็ตาม เรื่องของ พ.ต.หญิงชลรัศมีไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะมีการออกโรงมาปกป้องเธอกันอย่างเอิกเกริกจนผู้คนสงสัยว่า เธอเป็นใครกันแน่ มีความสัมพันธ์อย่างไรถึงได้กลายมาเป็นตัวละครสำคัญจนทำให้เรื่องเงินค่าเช่าเหมาลำเครื่องบิน รวมทั้งไข่ปลาคาเวียร์กลายเป็นเรื่องจิ๊บๆ ไปในฉับพลันทันที

กรณีของช่อง 5 ที่เธอทำงานอยู่ ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ออกมาแถลงข่าวช่วยยืนยันว่าเธอจัดรายการอยู่จริง เพราะเป็นรายการสด ไม่ได้เดินทางร่วมทริปฮาวาย พร้อมทั้งเอาผิดกับเฟซบุ๊กแฟนเพจของคนเสื้อแดงที่ปั้นเรื่องเป็นตุเป็นตะ

แต่ที่ชวนให้สงสัยยิ่งก็คือ กรณีที่สำนักข่าวอิศราได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2559 ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศราได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ดูแลเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา ว่า admin ผู้ดูแล server ได้แจ้งขอความร่วมมือให้ สำนักข่าวอิศรา ปิดรายงาน เรื่อง 'ปีทองของ“ชลรัศมี”ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน' ที่นำเสนอไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2557 โดยระบุเหตุผล ว่า เนื่องจาก CS Loxinfo ได้รับแจ้งจากเว็บไซด์กลางของหน่วยงานราชการขอความร่วมมือในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลรายงานเรื่องนี้ บนสื่ออินเตอร์เน็ต

ทว่า กองบรรณาธิการสำนักข่าวอิศรา ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ดูแลเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา ประสานไปยัง admin ผู้ดูแล server เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงชื่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่ประสานงานขอให้ปิดรายงานเรื่องนี้ โดยขอให้แจ้งตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า การประสานขอความร่วมมือสำนักข่าวอิศรา ให้ปิดรายงาน เรื่อง ปีทองของ“ชลรัศมี”ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน' เกิดขึ้นภายหลังจาก เพจหยุดดัดจริตประเทศไทย นำเอกสารข้อมูลรายชื่อผู้โดยสารจำนวน 43 คน ที่ร่วมคณะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ ที่เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเผยแพร่ในโลกออนไลน์ ซึ่งปรากฏชื่อ พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ทางช่อง 5 ร่วมเดินทางไปด้วยในลำดับที่ 20 พร้อมกล่าวอ้างว่าเป็นเอกสารจริง ขณะที่ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กปฏิเสธ กระแสข่าวลือดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

งานนี้ทำไปทำมาทำท่าจะชุลมุนชุลเกพัวพันไปกันใหญ่ เพราะยิ่งแก้ก็ยิ่งเป็นลิงแก้แห

แถมเรื่องราวก็ลุกลามบานปลายออกไปในทำนอง “แตะเธอโลกแตกแน่” อีกต่างหาก

โดยเฉพาะกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้นไปกว่าเก่าว่า พ.ต.หญิงชลรัศมีเป็นใคร ทำไมหน่วยราชการต้องมีการร้องขอ และถ้าจะว่าไปแล้ว ข้อมูลของสำนักข่าวอิศราก็เป็นข้อมูลการทำธุรกิจปกติที่ต้องรายงานตามระเบียบของกฎหมายอยู่แล้ว

ที่สำคัญ หน่วยงานราชการที่ร้องขอนั้นคือกระทรวง ทบวง กรม ใดกันแน่

ทำไมถึงแตะเธอโลกแตกแน่

ส่วนถามว่า ทำไมชื่อของเธอจึงกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

ต้องตอบว่า “จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไป” และให้ย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของเรื่องทริปอะโลฮ่า ฮาวายในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี บทเรียนจาก “ทริปอะโลฮ่า ฮาวาย” ของ “บิ๊กป้อม”สะท้อนข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า นับจากนี้เป็นต้นไป ทุกย่างก้าวของรัฐบาลทหารจะต้องเต็มไปด้วยความระแวดระวังเพราะยากยิ่งต่อการควบคุม แม้ผลของการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้คะแนนเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาพุ่งสูงขึ้นก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า จะอยู่ยั้งยืนยงตลอดไป

เพราะต้องยอมรับว่า ขณะนี้มรสุมได้ถาโถมเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์ลูกแล้วลูกเล่าแม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ไล่เรียงมาตั้งแต่เรื่องราวของ “จันทร์โอชาผู้น้อง” มาจนถึงเรื่องของ “บูรพาพยัคฆ์ผู้พี่”



กำลังโหลดความคิดเห็น