xs
xsm
sm
md
lg

ความปวดหลังผ่าตัดเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องทนจริงหรือ ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความปวดหลังผ่าตัดเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องทนจริงหรือ ?
รศ.พญ.วิมลลักษณ์ สนั่นศิลป์
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา

เป็นการเข้าใจผิดทีเดียวถ้าท่านคิดว่า ท่านจำเป็นต้องทนทุกข์ทรมานจากความปวดที่เกิดจากแผลผ่าตัด เพราะมีวิธีระงับปวดหลายอย่างที่ช่วยท่านได้ ข้อดีของการระงับปวดหลังผ่าตัด คือทำให้ท่านหายใจได้ลึกขึ้น ไอได้ดีขึ้น ฟื้นตัวเร็ว รู้สึกสบาย และยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการที่มีความปวดอยู่นานด้วย
วิธีระงับปวดหลังผ่าตัดมีอยู่หลายวิธี เช่น ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำ ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อที่ต้นแขนหรือต้นขา ให้ยาแก้ปวดร่วมกับยาชาเข้าไขสันหลังตั้งแต่ก่อนผ่าตัด หรือวิธีรับประทานยา ยาที่ใช้ในการระงับปวดมีความปลอดภัยสูง ประโยชน์จากยาที่ทำให้หายปวดมีมาก ท่านไม่จำเป็นต้องกลัวเรื่องการติดยา
อีกทั้งยังมีวิธีระงับปวดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นอีก เป็นวิธีระงับปวดแบบพิเศษ ซึ่งท่านสามารถปรึกษากับวิสัญญีแพทย์ที่มาเยี่ยมท่านก่อนผ่าตัด เพื่อพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับการผ่าตัดของท่าน ได้แก่ การให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลัง (Epidural block) และทางช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal block)
การให้ยาชาเพื่อระงับปวดเฉพาะส่วนแขนหรือขา (Peripheral nerve block) การใช้วิธีพีซีเอ (Patient-Controlled Analgesia, PCA) ให้ยาทางหลอดเลือดดำ และวิธีพีซีอีเอ (Patient-Controlled Epidural Analgesia, PCEA) ให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลัง

การให้ยาทางช่องเหนือไขสันหลัง ทำได้โดยการให้ยาทางสายเล็ก ๆ ที่คาไว้ที่หลังของท่าน วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุดสำหรับการผ่าตัดใหญ่ที่อาจมีอาการปวดอยู่นาน ทั้งนี้แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าวิธีนี้เหมาะสมกับท่านหรือไม่
ผลข้างเคียงของวิธีนี้ บางคนอาจรู้สึกหนักขาหรือขาชาระหว่างได้รับยาก็ได้ เนื่องจากยาที่ใช้เป็นยาชาจาง ๆ หากมีอาการดังกล่าว ขอให้แจ้งแพทย์ทราบ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม
ภาวะแทรกซ้อนอื่น ที่มีโอกาสเกิดได้แต่น้อยมาก เช่น การติดเชื้อ หรือ อาจมีเลือดออกในช่องไขสันหลัง เป็นต้น ดังนั้น ถ้าท่านมีอาการกดเจ็บที่หลังตรงตำแหน่งที่ใส่สายไว้ หรือมีขาอ่อนแรง ขอให้ท่านรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาล ปัญหาทั้งสองอย่างนี้ ถ้าทราบได้เร็วและให้การแก้ไขทันท่วงที ก็สามารถป้องกันอาการรุนแรงที่จะเกิดตามมาได้

การให้ยาชาเฉพาะส่วนแขนหรือขา อาจเป็นการฉีดยาชาครั้งเดียวตั้งแต่ในห้องผ่าตัด หรือ การให้ยาชาอย่างต่อเนื่องรอบเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณแผลผ่าตัดผ่านทางเครื่องให้ยา
ผลข้างเคียงของวิธีนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการให้ยาชา จึงทำให้เกิดการชาหรืออ่อนแรงได้ ให้แจ้งแพทย์ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม หรืออาจเกิดอาการของระดับยาชาในเลือดสูง เช่น ขมปาก ตาลาย โปรดแจ้งแพทย์เช่นกัน

การใช้พีซีเอ (PCA) หรือ พีซีอีเอ (PCEA) เป็นวิธีที่ท่านสามารถระงับความปวด โดยเป็นผู้กดปุ่มปล่อยยาให้ตัวเอง จากเครื่องมือพิเศษที่แพทย์เป็นผู้ตั้งเครื่องกำหนดขนาดยาให้ท่าน
หลักการใช้คือ “เริ่มปวดก็กดปุ่ม ไม่ปวดไม่ต้องกด” ยาที่ปล่อยออกมาแต่ละครั้งจะมีขนาดน้อย หลังจากกดปุ่ม 1 ครั้ง ให้รอสักครู่ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ท่านกดปุ่มได้อีก ไม่จำกัดจำนวน แต่ถ้ารู้สึกว่ากดหลายครั้งแล้วยังไม่หายปวด ให้บอกพยาบาลได้
ข้อสำคัญคือ ห้ามให้ผู้อื่นกดปุ่มให้ เพราะตัวท่านเองเท่านั้นที่จะทราบว่าท่านต้องการยาหรือไม่
ผลข้างเคียง อาจเกิดจากยาที่ใช้ บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือคันตามตัวเหมือนมีอะไรไต่ หรือมีอาการชาจากยาชาที่ได้ทางสายที่คาไว้ที่หลัง ขอให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาล เพื่อแก้ไขอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ทีมแพทย์และพยาบาลทุกท่านได้ร่วมใจกันพยายามทำให้คนไข้หลังผ่าตัดปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จนในปี 2549 ได้ตั้งทีมพิเศษขึ้นมา เรียกว่าหน่วยระงับปวดเฉียบพลันหลังผ่าตัด (Acute Pain Service หรือเรียกย่อว่า APS) สังกัดภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยเป็นทีมของวิสัญญีแพทย์และพยาบาล ที่ให้การดูแลเรื่องปวดหลังการผ่าตัดโดยเฉพาะ รวมถึงความปวดหลังจากอุบัติเหตุที่ไม่ได้ผ่าตัดด้วย เช่น กระดูกซี่โครงหัก หากได้รับการแจ้งปรึกษา เพื่อให้ท่านได้รับการระงับปวดที่ดี และปลอดภัยที่สุด ท่านสามารถขอรับบริการระงับปวดหลังผ่าตัดได้ โดยแจ้งความประสงค์กับแพทย์ที่ดูแลท่าน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการปรึกษาหน่วย APS ล่วงหน้า
ในโอกาสครบ 10 ปี ของหน่วยระงับปวดเฉียบพลันหลังผ่าตัด ภาควิชาวิสัญญีฯ จึงจัดงานวิสัญญีภาคประชาชนขึ้น เป็นบูธความรู้ด้านต่าง ๆ จาก 6 หน่วยงาน ที่โถงชั้น 1 อาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ วันที่ 10-15 ตุลาคม แต่ในวันที่ 14 เต็มวัน และ 15 ครึ่งวันเช้าเท่านั้น ที่จะมีแพทย์และพยาบาลมาตอบคำถามหรือข้อข้องใจของท่าน และเฉพาะวันที่ 14 ที่จะมีกิจกรรมมากมายบนเวทีและร่วมสนุกตามบูธความรู้ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ท่านได้ทราบว่าวิสัญญีคือใคร ทำอะไรกันบ้างเพื่อท่าน ตามธีมของงานนี้คือ “Now You See Me: วิสัญญีคือใคร?”
จึงขอเชิญชวนท่านให้มาร่วมงาน และรับความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะเมื่อท่านหรือคนที่ท่านรักจะต้องมารับการผ่าตัด เพื่อท่านจะได้ไม่ต้องกลัวการระงับความรู้สึก หรือ “ดมยา” อีกต่อไป เพราะรู้แล้วว่า วิสัญญีเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น