xs
xsm
sm
md
lg

ชงตั้งกก.สอบจริยธรรม"ธีรวัฒน์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4ต.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวว่า ที่ประชุมกกต. มีมติรับทราบหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่แจ้งมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เห็นว่านายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กรรมการ กกต. มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดจริยธรรม ตามที่ประธานสภาพัฒนาการเมืองได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบ และดำเนินการตามระเบียบกกต. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของกกต. กกต.จังหวัด และพนักงานกกต. พ.ศ. 2551 แล้ว โดยระหว่างการพิจารณาเรื่องนี้ นายธีรวัฒน์ ผู้ถูกกล่าวหา ได้ออกจากห้องประชุม ซึ่งที่ประชุมกกต.ที่เหลือได้พิจารณาโดยมีมติให้ตั้งกรรมการสอบ โดยให้สำนักกฎหมายของสำนักงาน เสนอชื่อกรรมการ 3-5 คนเพื่อดำเนินการตามประมวลจริยธรรมให้กกต.พิจารณาโดยเร็ว ซึ่งประธานคณะกรรมการสอบต้องมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่า หรือเท่ากับผู้ถูกร้องเรียน
ทั้งนี้ กรรมการสอบทั้งหมดอาจเป็นคนใน หรือคนนอกก็ได้ โดยที่ประชุมกกต.ยังไมได้มีการพูดคุยกันถึงประเด็นการสอบ ว่าจะต้องเริ่มสอบใหม่ทั้งหมด หรือจะใช้สำนวนของผู้ตรวจฯ ในการสอบสวนต่อ ยืนยันว่ากกต.ไม่มีการปกป้อง หรือดึงเรื่องให้ช้า ทุกอย่างเป็นไปตามประมวลจริยธรรมของกกต. แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ กกต.ก็จะทำไปเลยโดยไม่ต้องรอผลสรุปจากป.ป.ช. ที่มีผู้ไปร้องเรียนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายธีรวัฒน์ ถูกสภาพัฒนาการเมืองร้องเรียนว่ากระทำการใช้ตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ และมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ต่อเนื่องจนดำรงตำแหน่งกกต. ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติ ยุติเรื่องในประเด็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ เนื่องจากผู้ร้องได้มีการยื่นร้องต่อป.ป.ช.ไปแล้ว
ส่วนข้อกล่าวหาที่มีต่อนายธีรวัฒน์ จะเข้าองค์ประกอบความผิดตามระเบียบกกต. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของกกต. กกต.จังหวัด และพนักงานกกต. พ.ศ. 2551 หมวด 2 มาตรฐานจริยธรรม ข้อ 4 (1) (2) และ ข้อ 8 ที่ระบุว่า กกต. กกต.จังหวัด และพนักงานทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นในมาตรฐานจริยธรรม อันเป็นค่านิยมหลัก 9 ประการ (1) การยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ( 2) การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ และข้อ 8 กกต. กกต.จว. และพนักงานทุกคนต้องไม่ประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติภูมิของตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งในกลไกและระบบการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม ข้อ 18 วรรคสาม ก็บัญญัติไว้ว่า กรณีมีการร้องเรียน หรือปรากฏเหตุว่า กกต. คนหนึ่งคนใด ประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้กกต.ที่เหลืออยู่เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 38 และ มาตรา 39 ได้บัญญัติไว้ กรณีหากผู้ตรวจแผ่นดินส่งให้เรื่องให้ผู้ที่รับผิดชอบในการบังคับการให้ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมแล้ว ไม่มีการดำเนินการ หรือเชื่อได้ว่าการดำเนินการของผู้ที่รับผิดชอบจะไม่เป็นไปด้วยความเป็นธรรม ผู้ตรวจฯ สามารถไต่สวนและเปิดเผยผลการไต่สวนต่อสาธารณะได้
กำลังโหลดความคิดเห็น