xs
xsm
sm
md
lg

จราจรติดขัด : หนึ่งในปัญหาเรื้อรังของกทม.

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

เป็นที่รู้และยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นภาวะปกติของเมืองใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และมีการบริหารจัดการไม่ดีพอ จะต้องมีปัญหานานัปการเกิดขึ้น เช่น ปัญหาขยะมูลฝอย น้ำท่วมขัง และปัญหาจราจรติดขัด และในบรรดาปัญหาของเมืองใหญ่เหล่านี้ ปัญหาจราจรติดขัดดูเหมือนว่าจะมีความสำคัญเหนือปัญหาอื่นใด ทั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นเหตุให้เกิดปัญหาตามมาอย่างน้อย 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ทำให้เสียเวลาในการเดินทาง และทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

2. เผาผลาญเชื้อเพลิงโดยเปล่าประโยชน์ เนื่องจากสูญเสียพลังงานแต่ไม่ได้ระยะทาง

3. ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนในเมืองนั้น

ส่วนว่าเมืองใดจะได้รับผลกระทบจากปัญหาจราจรติดขัดมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ขนาดของเมือง ความหนาแน่นของประชากร โดยเปรียบเทียบจำนวนกับพื้นที่ และจำนวนยวดยานเปรียบเทียบกับพื้นผิวจราจรที่มีอยู่

2. การบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวกับการวางผังเมือง และการจัดระเบียบสังคมว่ามีความรอบคอบรัดกุม เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพียงไร ตลอดถึงการควบคุมจำนวนยวดยานให้สอดคล้องกับพื้นผิวการจราจรได้มากน้อยแค่ไหน และมีการจัดให้มีบริการขนส่งสาธารณะในจำนวนที่เพียงพอ และมีคุณภาพดีพอที่จะจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการแทนการนำรถยนต์ส่วนตัวออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน และเพียงไร

3. ผู้ใช้รถใช้ถนนเคารพกฎหมาย และมีวัฒนธรรมในการใช้ถนนหนทางร่วมกันมากน้อยแค่ไหน

กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของประเทศไทยเป็นเมืองใหญ่ และมีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดของประเทศ

ดังนั้น ในแต่ละวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าและเย็น ประชาชนผู้อยู่ในวัยเรียน และในวัยทำงานจะออกจากบ้านเดินทางไปทำงาน และเดินทางกลับบ้านมีผลทำให้ถนนทุกสายทั้งสายหลักและสายรองเต็มไปด้วยยวดยานนานาชนิด ทั้งที่เป็นของส่วนตัว และประเภทบริการสาธารณะ จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดแทบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ในถนนบางสายเฉลี่ยความเร็ว 15 กม.ต่อชั่วโมง และที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. จำนวนยวดยานมีมาก เมื่อเปรียบกับพื้นผิวถนน กล่าวคือ ขณะที่ถนนทั้งหมดใน กทม.มีศักยภาพรองรับยวดยานได้ประมาณ 1.5 ล้านคัน แต่มีจำนวนยวดยานอยู่ทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคัน

2. จำนวนยวดยานใน กทม.เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ปริมาณพื้นผิวจราจรไม่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นน้อย เนื่องจากมีข้อจำกัดในการก่อสร้างถนนใหม่ หรือแม้กระทั่งการขยายถนนเก่า

3. ผู้ใช้รถใช้ถนนไม่เคารพกฎหมาย และมีอยู่ไม่น้อยติดนิสัยมักง่าย ไร้วัฒนธรรมในการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน จะเห็นได้จากการจอดรถกีดขวางการจราจร จอดรถในที่ห้ามจอด จอดรถในซอยแคบสองข้างทางจนทำให้รถวิ่งสวนกันไม่ได้ต้องหยุดหลีกกัน ตัวอย่างเช่น ในซอยเฉลิมพระเกียรติ 30 ในช่วงที่มีบ้านอยู่สองข้างมีรถจอดเต็มขับผ่านได้ยาก หรือแม้กระทั่งในเมือง เช่น ถนนผดุงกรุงเกษมช่วงสะพานขาวถึงหัวลำโพงมีรถจอดเต็มสองข้างทาง รถขับผ่านได้ยาก เป็นต้น

ส่วนคนทางเท้าไม่ข้ามถนนในทางคนข้าม ทำให้รถต้องชะลอและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้รถติดเป็นเวลานานในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง

4. ทางด่วนขาลงในบริเวณในเมือง ซึ่งมีรถหนาแน่นเป็นประจำอยู่แล้วเท่ากับเพิ่มจำนวนรถติดให้มากขึ้นไปอีก ทั้งนี้เนื่องจากว่ารถจากบนทางด่วนวิ่งมาด้วยความเร็วเฉลี่ย 60-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่เมื่อมาถึงทางลงต้องรอรถข้างล่างซึ่งวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงทำให้รถติดสะสมที่บริเวณทางลง และล้นขึ้นไปบนทางด่วน จะเห็นได้ที่ทางลงพระราม 4 ขาเข้าจากดินแดง เป็นต้น

5. สถานศึกษาและศูนย์การค้า ซึ่งในแต่ละวันโดยเฉลี่ยโรงเรียนจะมีรถมาส่ง และรับนักเรียนเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้การจราจรในช่วงที่ผ่านโรงเรียนมีรถติด

สำหรับศูนย์การค้าแต่ละแห่งมีผู้เดินทางมาใช้บริการจำนวนมาก จึงมีรถเข้าออกตลอดเวลาที่ศูนย์การค้าเปิดทำการ

6. จุดที่ถนนตัดกับทางรถไฟ ซึ่งไม่มีสะพานข้าม ทำให้รถที่มาต้องจอดรอทุกครั้งที่รถไฟวิ่งผ่านทำให้รถติดและเสียเวลา

จากเหตุปัจจัย 6 ประการดังกล่าวข้างต้น การจราจรในกรุงเทพฯ จึงติดขัด และแก้ให้หมดไปได้ยากตราบเท่าที่ปัจจัยเหล่านี้ยังคงมีอยู่

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลต้องการแก้ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่แห่งนี้ให้หมดไปอย่างถาวร จะต้องดำเนินการแก้ปัญหาเป็นขั้นตอน โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้

1. ระยะแรก หรือระยะเร่งด่วน

ระยะนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควรดำเนินการดังนี้

1.1 กวดขันมิให้การจอดรถกีดขวางจราจร และจอดรถในที่ห้ามจอดเพื่อให้รถที่ต้องการใช้ความเร็วสามารถวิ่งไปได้ด้วยความสะดวก

1.2 กวดขันและจับกุมผู้ขับขี่ซึ่งไม่เคารพกฎจราจรซึ่งเป็นเหตุให้รถติด เช่น แซงในทางแคบและคับขัน ทำให้รถคันอื่นต้องชะลอ เป็นต้น

1.3 ห้ามรถที่ไม่มีผู้โดยสารมาด้วย (ขับมาคนเดียว) เข้ามากลางใจเมืองในเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น

2. ระยะกลาง

ระยะนี้เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับการแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังนี้

2.1 ให้ กทม.ศึกษาและออกแบบก่อสร้างอาคารจอดรถในทุกถนนทุกสายในกลางใจเมืองหรือถนนรอบใน เพื่อให้บริการจอดรถสำหรับผู้ที่อยู่อาศัย และสถานที่ประกอบการธุรกิจแต่ไม่มีที่จอดรถ และห้ามจอดรถในจุดที่มีอาคารจอดรถรองรับแล้วอย่างเด็ดขาด

2.2 เมื่อดำเนินการตามข้อ 2.1 แล้วเสร็จออกกฎหมายมิให้ผู้อยู่อาศัย และสถานประกอบการซึ่งมีรถแต่ไม่มีที่จอด ต้องนำรถไปจอดตามอาคารที่จัดให้โดยเสียค่าบริการในราคาที่ไม่แพงเกินไป แต่จะต้องมีผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนมาลงทุนสร้างอาคารที่ว่านี้

2.3 ให้กระทรวงคมนาคมโดยกรมขนส่งทางบกออกกฎหมายบังคับมิให้ผู้ที่จะซื้อรถต้องมีที่จอด จึงจะขออนุญาตครอบครองรถได้

3. ระยะยาว

ระยะนี้เป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบครบวงจร ซึ่งกำหนดเป็นขั้นตอนได้ดังนี้

3.1 ย้ายสถานีรถไฟหัวลำโพงออกนอกเมือง ส่วนจะเป็นที่ใดนั้นขึ้นอยู่กับการศึกษาความเหมาะสม โดยคำนึงถึงการจราจรต่อเชื่อมกันเป็นระบบ ทั้งรถประจำทางและรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

3.2 จัดระบบการเดินรถประจำทาง และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สอดคล้องกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง

3.3 ยกเลิกรถตู้โดยสาร และรถจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากกีดขวางการจราจร และเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

3.4 กำหนดอายุการใช้งานของรถยนต์ส่วนบุคคลในกรุงเทพฯ ไม่เกิน 12 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น