ผศ.ดร.รัฐกร พูลทรัพย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
การตลาดยุคใหม่ถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือการตลาดแบบเดิมและการตลาดแบบดิจิทัล สื่อโฆษณาของการตลาดแบบเดิม ได้แก่ โทรทัศน์ เคเบิล/ดาวเทียม ทีวีดิจิตอล วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร เป็นต้น ส่วนสื่อโฆษณาการตลาดแบบดิจิทัล ได้แก่ อีเมล์ เว็บไซต์ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เซิร์ชเอ็นจิ้น แอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ข้อมูลสถิติจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย สำรวจโดยบริษัท Nielsen ในเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่างบลงทุนในสื่อโฆษณาการตลาดแบบเดิมลงลงอย่างมาก สื่อโฆษณาในนิตยสารลดลงสูงสุดประมาณ 30% จึงไม่เป็นที่แปลกใจเลยว่านิตยสารอย่างสกุลไทยปิดตัวลงในเดือนตุลาคม 2559 ตามมาด้วยสื่อโฆษณาเคเบิล/ดาวเทียมและหนังสือพิมพ์ประมาณ 18% ในขณะที่สื่อโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นถึง 70% โดยมีเม็ดเงินในการลงโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตสูงถึง 983 ล้านบาทในช่วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา และคาดว่าจะใช้งบประมาณสูงถึง 1,600 ล้านบาทในปี 2559
ถึงแม้ว่าสัดส่วนในงบโฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตจะเป็นเพียง 1.5% เมื่อเทียบกับสื่อโฆษณาทั้งหมด แต่ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีสัดส่วนสูงขึ้นเรื่อยๆ จากพฤติกรรมของประชากรรุ่นใหม่กลุ่ม Millennials ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาทุกวันทำให้การใช้งานบนผ่านอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดสามารถเทียบได้กับสื่อโฆษณาบนโทรทัศน์
แต่สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เผยผลสำรวจมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของปี 2559 โดยผลสำรวจพบว่าเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลในปีนี้มูลค่ารวมกว่า 9,883 ล้านบาท เติบโตขึ้น 22% จากปี 2558 ซึ่งเป็นมูลค่าที่แตกต่างจากข้อมูลของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยมาก
ผลสำรวจยังระบุด้วยว่าโฆษณาในรูปแบบเฟซบุ๊ก(Facebook) ยังคงเป็นประเภทของการใช้สื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งคนไทยมีบัญชีของเฟซบุ๊กรวมกันมากกว่า 30 ล้านบัญชี งบโฆษณาในเฟซบุ๊กมีมูลค่าถึง 2,842 ล้านบาท และงบโฆษณาในยูทิวบ์ (Youtube) มีมูลค่าถึง 1,663 ล้านบาท
เม็ดเงินสื่อโฆษณาของการตลาดแบบเดิมจำนวนประมาณ 120,000 ล้านบาทต่อปี นั้นส่วนใหญ่จะไหลเวียนในประเทศกับผู้ประกอบการไทย ด้านโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นต้น แต่เม็ดเงินโฆษณาบนสื่อดิจิทัลมูลค่า 9,800 ล้านบาทต่อปีส่วนใหญ่จะจะตกอยู่ในกระเป๋าบริษัทต่างชาติ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับภาครัฐปัจจุบันมีนโยบายสนับสนุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมีมาตรการสนับสนุนและบ่มเพาะผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ ย่อมส่งผลให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัลมากขึ้น
ในประเทศจีนประชาชนไม่สามารถใช้เซิร์ชเอ็นจิ้นของกูเกิล (Google) ได้ ไม่สามารถใช้ยูทิวบ์ (Youtube) หรือไม่สามารถใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) ได้อย่างเสรีเหมือนในประเทศไทย แต่เขาก็มีเซิร์ชเอ็นจิ้นของไป่ตู้ (Baidu.com) ดูหนังผ่านโยวคู่ (Youku.com) และใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของเหรินเหริน (Renren.com) ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลจำนวนมหาศาลก็หมุนเวียนอยู่ภายในประเทศจีน
สำหรับในประเทศไทยมีการริเริ่มสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ (Tech Startup) เกิดขึ้นมากมาย เช่น ธุรกิจดูหนังไทยออนไลน์ ธุรกิจที่ใช้โปรแกรมรับฟังข่าวสารหรือข้อติชมตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ตามคำหลัก (keyword) ธุรกิจบริการส่งอีเมล์และวิเคราะห์ผลการเข้าถึง เป็นต้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มด้านสื่อโฆษณาออนไลน์แข่งขันกับต่างประเทศในหลายๆ โครงการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนไทยจะสนับสนุนผลิตภัณฑ์คนไทยด้วยกัน นักธุรกิจไทยจึงสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่องเพื่อการแข่งขันในระดับสากลต่อไป