xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เหี้ย..ผิดตรงไหน!? ทำไมจึงต้องระบายพ้นสวนลุมฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เวรกรรมอะไรของ เหี้ย! อาศัยอยู่สวนลุมพินีมานมนานกาเล จู่ๆ โดน กทม. ตั้งข้อหาทำลายระบบนิเวศน์ - ก่อกวนความไม่สงบ ถูกล่อจับด้วยปลาดุกอุย ก่อนนำตัวส่งไปยังสถานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี

เค้าลางไม่สู้ดีของพวกมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องการดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวนลุมพินี สังคายนายกใหญ่ตั้งแต่ทำความสะอาดภายในและภายนอกพื้นที่ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการภายในสวนสาธาณะ ปรากฏว่าภายในสวนลุมพินี มีประชากรเหี้ยอาศัยอยู่หนาแน่น เพราะเป็นแหล่งที่มีระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์

พบว่า เหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทอง หรือ วรนุช จะเรียกอะไรก็ตาม อาศัยอยู่ในสวนลุมพินีกว่า 400 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่ กทม. มองว่ามากเกินไป และพวกมันเป็นต้นเหตุทำลายระบบนิเวศน์ภายในสวนลุมพินี สร้างความเสียหายแก่แปลงปลูกต้นไม้ ทำลายตลิ่งพัง ซ้ำร้ายสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนเป็นครั้งคราว

งานนี้ กทม. ไม่ได้กล่าวหาลอยๆ เพราะมีหลักฐานบันทึกชัดเจน อาทิ ประชาชนได้รับอุบัติเหตุ เพราะตัวเหี้ยดันออกมาเดินตัดหน้าขณะปั่นจักรยาน หรือในอดีตก็มีบันทึกว่า เหี้ยพลัดตกลงมาจากต้นไม้ เป็นเหตุให้หญิงสาวที่นั่งอยู่ใต้ร่มเงาไม้ต้นนั้นได้รับบาดเจ็บเย็บไปหลายเข็มทีเดียว

14 ก.ย. 59 ปฏิบัติการควบคุมเหี้ยของ กทม. เริ่มต้นขึ้น

สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงถึงเจตนารมณ์ในครั้งนี้ ความว่า เพื่อเป็นการรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ภายในสวนลุมพินี และความปลอดภัยให้กับประชาชนที่มาใช้บริการสวนลุมพินี สำนักสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบายลดจำนวนตัวเหี้ย และได้ประสานสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ทางธรรมชาติที่มีระบบนิเวศน์อุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่รองรับและดูแล ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

ปัจจุบัน สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ดูแลสัตว์ป่าประมาณ117 ชนิด มากกว่า 3,112 ตัว ทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน เช่น เสือโคร่ง หมีควาย ลิง ชะนี งู เหี้ย รวมทั้งนกชนิดต่างๆ

โดยก่อนหน้านี้ กทม. ได้จับไปปล่อยแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 87 ตัว ปักหมุดหมายว่าจะดำเนินจับเหี้ยอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 ข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยกว่า พบตัวเหี้ยภายในสวนลุมพินี ประมาณ 400 ตัว กระจายอยู่บริเวณทั่วบริเวณ

ปฏิบัติการครั้งล่าสุด ตัวเหี้ย 40 ตัวถูกจับนำส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน เป็นที่เรียบร้อย ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพราะการเคลื่อนย้ายตัวเหี้ยไม่สามารถทำได้โดยพละการ เนื่องจาก เหี้ย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 19 ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 หากใครทุบตี หรือทำร้าย จะมีโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 40,000 บาท รวมทั้งสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศที่แห่มาทำข่าวและบันทึกภาพกันเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวของ กทม. ที่ระบุว่า ตัวเหี้ยทำลายทัศนียภาพ สร้างความเสียหายแปลงปลูกต้นไม้และตลิ่ง หรือแม้กระทั่งสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนบางราย ข้อมูลทางฟากของนักวิจัยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กลับคัดง้างข้อกล่าวหาเหล่านี้ เพราะโดยธรรมชาติ เหี้ยไม่ใช่สัตว์นักล่า รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญของห่วงโซ่อาหารภายในสวนสาธารณะอีกด้วย

ตามหลักการจัดการสัตว์มีหลายวิธีแก้ปัญหา เช่น ควบคุมการเกิดใหม่โดยการทำหมัน จำกัดพื้นที่ และการย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งกรณีนี้เห็นด้วยกับวิธีการทำหมัน และจำกัดพื้นที่มากกว่า รวมทั้งเน้นย้ำว่าการประชากรเหี้ย บริเวณสวนลุม ฯไ ม่ว่าจะมีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็อาจส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศน์

เตือนใจ นุชดำรงค์ ผู้อำนวยการสำนักสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบายว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีทั้งคุณและโทษต่อมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น ตัวเงินตัวทอง ทำหน้าที่เหมือนคนเก็บขยะในระบบนิเวศน์ ดำรงอยู่ด้วยการกินซากเน่าเปื่อยของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ซึ่งตามสวนสาธารณะจะอุดมไปด้วย หนู งู ปลา เต่า ฯลฯ พวกมันก็จะทำหน้าที่เก็บกวาดซากสัตว์เหล่านี้ทั้งเป็นและตาย แม้กระทั่ง เศษอาหารที่คนทิ้งเกลื่อนกลาดเอาไว้

การที่ปริมาณของตัวเงินตัวทองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายพันธุ์ของพวกมันโดยปกติแล้วจะวางวางไข่ครั้งละ 40 - 60 ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ 7 - 9 เดือน ฝังไข่อยู่ตามจุดต่างๆ การเอาไข่ไปทำลายถือเป็นการควบคุมประชากรอีกทางหนึ่ง สำหรับการจับทำหมันจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าสัตว์อื่นๆ ถึงตัวละเกือบ 1,000 บาท อย่างไรก็ตาม วิธีกำจัดตัวเงินตัวทองที่ดีที่สุด ไม่ใช่การไล่จับแต่ต้องทำลายแหล่งอาหาร หรือกำจัดห่วงโซ่อาหารบริเวณนั้นๆ

“มองอีกแง่หนึ่ง ตัวเงินตัวทองจะช่วยกำจัดหนูในเมือง ซึ่งปกติกำจัดยาก รูปลักษณ์ที่น่าเกลียดน่ากลัวของมัน ทำให้คนคิดว่าเป็นอันตราย ทั้งที่มันไม่ใช่สัตว์อันตรายที่จะไปจู่โจมทำร้ายใครก่อน ยกเว้นตอนตกใจ อย่างไรก็ดี พื้นที่สวนลุมฯ ซึ่งกำหนดให้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสวนสาธารณะที่ไม่ใช่พื้นที่ป่า จึงถูกมองว่าไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสำหรับตัวเงินตัวทองนัก แต่หากมองระบบนิเวศน์โดยรวมของทั้งประเทศ ปริมาณของสัตว์ชนิดนี้ยังไม่มากจนน่าเป็นห่วงนัก”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ เคยเสนอให้นำตัวเหี้ยออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อให้สามารถเพาะพันธุ์ เอาหนังไปขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ข้อเสนอดังกล่าวมีผู้ไม่เห็นด้วยหลายฝ่าย ปริมาณตัวเหี้ยในธรรมชาติจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การศึกษาวิจัยการเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากตัวเงินตัวทองเพื่อผลเชิงเศรษฐกิจ โดย สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ค้นพบว่า หนังเหี้ยเป็นอุตสาหกรรมเครื่องหนังได้ครบวงจร สามารถนำไปผลิตกระเป๋า เข็มขัด รองเท้า ฯลฯ ลวดลายธรรมชาติมีละเอียดสูง หนังมีความเหนียวนุ่ม และทนทาน ขณะที่ราคาค่างวดของหนังเหี้ยแพงกว่าหนังจระเข้เสียอีก เป็นที่ต้องการของตลาดแถบยุโรป อย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส หรือแถบเอเชีย อย่าง จีน ฯลฯ

แน่นอน หากรัฐบาลปลดล๊อก 'ตัวเหี้ย' ออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง มันจะกลายเป็น 'ตัวเงินตัวทอง' เป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างแท้จริง ดังเช่นการจัดการของประเทศเพื่อนบ้าน อินโดนีเซีย หรือ มาเลเซีย ขณะเดียวกัน ถือเป็นแนวทางควบคุมปริมาณด้วย แต่ในทางปฏิบัติวิธีการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ความคืบหน้าล่าสุด กทม. ประสานไปยัง กรมอุทยานฯ เพื่อวางแนวทางการดูแลระบบนิเวศน์ในสวนลุมพินี สวนสาธารณะขนาดใหญ่อยู่ใจกลางเมือง ซึ่งกำลังจะมีอายุครบรอบ 100 ปี ในอีก 10 ข้างหน้า โดยวันธรรมดามีผู้ใช้บริการถึง 10,000 คนต่อวัน ส่วนวันหยุดมีผู้ใช้บริการกว่า 13,000 คนต่อวัน

ปัญหาการเพิ่มจำนวนของประชากรเหี้ยอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ เตรียมเข้าสู่แผนบริหารจัดการสัตว์ป่า 4 ชนิด ประกอบ เสือ ช้าง ลิง และเหี้ย แผนเตรียมควบคุมดูแลภายใน 20 ปีนับจากนี้ ซึ่งได้ผ่านการประชาพิจารณ์ เตรียมเสนอกระทรวงทรัพย์ฯ ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติเห็นชอบต่อไป

ปฏิบัติการปราบเหี้ยของ กทม. เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีอีกหลายแห่งเผชิญปัญหาความหนาแน่นของประชากรเหี้ย อย่างแถวๆ “เขาดิน” ใกล้รัฐสภาโน่นก็ออกอาละวาดหนัก เป็นข่าวใหญ่โตบุกห้องโถงมาแล้วก็มี

งานนี้คงได้แต่เฝ้าจับตาอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ว่า เหี้ยที่ย้ายที่อยู่ไปจะมีสภาพชีวิตเป็นอย่างไร รวมทั้งสวนลุมฯ ที่ปริมาณเหี้ยลดลงว่า จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์หรือไม่ อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น