xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านร่างแก้ไขป.วิอาญา ยื่นอุทธรณ์-ฎีกาต้องแสดงตน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15ก.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 3 โดยที่ประชุมมีมติ ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย166 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ได้อภิปรายทักท้วงข้อความในกรณีที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ ต่อเมื่อต้องมาแสดงตน ต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะที่ยื่นอุทธรณ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลให้ขยายระยะเวลาแสดงตัว หรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โดยเห็นว่าการไม่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ อาจเป็นช่องว่างได้ เพราะแต่ละศาลในประเทศไทย อาจวินิจฉัยไม่เหมือนกัน จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็น “ให้ประธานศาลฎีกาออกข้อบังคับใช้ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไข การแสดงตนของจำเลย ซึ่งข้อบังคับนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้”เช่น ประธานศาลฎีกา กำหนดระยะเวลาแสดงตนในยื่นอุทธรณ์ เป็น 30 วัน หรือ 60 วัน ก็ตาม แต่ที่ได้ประชุมหารือกัน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทุกศาลในประเทศจะต้องใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติเหมือนกัน จะทำให้คดีความต่างๆได้รับการพิจารณาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งที่สุดที่ประชุมก็ได้เห็นควร ให้มีการปรับแก้ตามที่สมาชิกเสนอ
หลังลงมติผ่านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้นักโทษที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกเเล้ว หรือหลบหนีเที่ยวลอยนวลไปจิบไวน์ต่างประเทศเเล้ว จะไปจ้างทนายมายื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อศาล โดยที่เจ้าตัวไม่มาแสดงตนไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์ แต่ละครั้งหากขอขยายระยะเวลาด้วยเหตุจำเป็น เช่น ป่วย ต้องมีหลักฐานมายืนยัน และเมื่อครบกำหนด ก็จะต้องมาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ครั้งต่อไป เพราะหากไม่มาแสดงตนและไม่มีเหตุผลพอในการขยายเวลาแสดงตน ศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกา นอกจากนี้ ตนกำลังจัดทำร่างกฎหมาย กำหนดให้รวมไปถึงการฟ้องคดี ที่ผู้ฟ้องจะต้องมารายงานตัวต่อศาลด้วย โดยไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทนได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำร่างให้มีความเหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น