xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่านวาระ 3 ป.วิอาญาฯ นักโทษต้องแสดงตนยื่นอุทธรณ์-ฎีกาเอง ห้ามใช้ทนาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
ประชุม สนช. ผ่านวาระ 3 ป.วิอาญาฯ นักโทษต้องแสดงตนยื่นอุทธรณ์ - ฎีกา ห้ามใช้ทนายยื่นแทน “สมชาย” ชี้ ดัดหลังพวกหนีคดีแล้วจ้างทนายมาทำแทน และยื่นอุทธรณ์ไม่มาแสดงตน เหตุผลไม่พอ ศาลก็ไม่รับ แย้มทำร่าง กม. ให้รวมถึงผู้ถูกฟ้องด้วย

วันนี้ (15 ก.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่สาม โดยที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 166 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิก สนช. ได้อภิปรายทักท้วงข้อความในกรณีที่จำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้ ต่อเมื่อต้องมาแสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะที่ยื่นอุทธรณ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลให้ขยายระยะเวลาแสดงตัว หรือระยะเวลาที่ศาลกำหนด มิฉะนั้น ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ โดยเห็นว่า การไม่กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์อาจเป็นช่องว่างได้ เพราะแต่ละศาลในประเทศไทยอาจวินิจฉัยไม่เหมือนกัน จึงเสนอให้เปลี่ยนเป็น “ให้ประธานศาลฎีกาออกข้อบังคับใช้ ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไข การแสดงตนของจำเลย ซึ่งข้อบังคับนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้” เช่น ประธานศาลฎีกากำหนดระยะเวลาแสดงตนในยื่นอุทธรณ์ เป็น 30 วัน หรือ 60 วัน ก็ตามแต่ที่ได้ประชุมหารือกัน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งทุกศาลในประเทศจะต้องใช้เป็นเกณฑ์ปฏิบัติเหมือนกันจะทำให้คดีความต่าง ๆ ได้รับการพิจารณาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งที่สุดที่ประชุมก็ได้เห็นควรให้มีการปรับแก้ตามที่สมาชิกเสนอ

หลังลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้นักโทษที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกเเล้ว หรือหลบหนีเที่ยวลอยนวลไปจิบไวน์ต่างประเทศแล้ว จะไปจ้างทนายมายื่นอุทธรณ์ หรือฎีกาต่อศาล โดยที่เจ้าตัวไม่มาแสดงตนไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์แต่ละครั้งหากขอขยายระยะเวลาด้วยเหตุจำเป็น เช่น ป่วย ต้องมีหลักฐานมายืนยัน และเมื่อครบกำหนดก็จะต้องมาแสดงตนในการยื่นอุทธรณ์ครั้งต่อไป เพราะหากไม่มาแสดงตน และไม่มีเหตุผลพอในการขยายเวลาแสดงตน ศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ หรือฎีกา นอกจากนี้ ตนกำลังจัดทำร่างกฎหมาย กำหนดให้รวมไปถึงการฟ้องคดี ที่ผู้ฟ้องจะต้องมารายงานตัวต่อศาลด้วย โดยไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นมาฟ้องคดีแทนได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการทำร่างให้มีความเหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น