xs
xsm
sm
md
lg

การใช้ดุลพินิจแบบดันทุรังหักดิบ...

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป้อมพระอาทิตย์
โดย โสภณ องค์การณ์

บ้านเมืองยังรอการปฏิรูปหลายภาคของสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ เช่นกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลาย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ความเที่ยงธรรม ให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม ประชาสังคมโลกยอมรับ

กระบวนการยุติธรรมบ้านเราถูกมองว่ามีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือในบางกรณีของการใช้ “ดุลพินิจ” นอกเหนือจากประเด็นกฎหมายและข้อเท็จจริง บางยุคมีเสียงร่ำลือเรื่องใบสั่ง การปั้นพยานเท็จ การใช้อิทธิพลกำหนด เบี่ยงเบนทิศทางของคดีไปตามที่ต้องการ

มีเสียงร่ำลือว่าบางกรณีมี “เสียงกระซิบ” จากผู้มีอำนาจ ทรงอิทธิพล ให้คนในกระบวนการยุติธรรมจัดการให้รูปแบบและผลแห่งคดีเป็นไปอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏชัด ทำให้เรื่องพรรค์นี้เป็นเพียงคำร่ำลือต่อๆ กัน ไร้หลักฐานชัดเจน

เรื่องอำนาจจับกุม สอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยังเป็นประเด็นสำคัญ ในสังคมอื่นๆ การจับกุม สอบสวน จะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นเช่นอัยการมาร่วมงานด้วย เพื่อให้การค้นหาหลักฐาน การสั่งฟ้องคดี หรือการสั่งไม่ฟ้อง เป็นไปตามข้อเท็จจริงและพยาน

ความมีอิสระในการใช้ดุลพินิจได้สร้างการถกเถียง โต้แย้ง กล่าวหาว่าเป็นเพราะมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องโดยทั่วไปจะเกี่ยวโยงกับอำนาจอิทธิพลของตัวบุคคล และ “เงิน” ส่วนใหญ่มักไม่ได้สร้างความถูกต้อง บางกรณีเป็นเพราะเกิดจากแรงกดดันกระแสสังคม

ด้วยเหตุนี้ในการสอบสอบคดี จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีฝ่ายอื่นรับผิดชอบหรือมีสวนร่วม ดังเช่นการจับกุมต้องมีฝ่ายอื่น เช่นฝ่ายปกครองร่วมสอบสวนดังที่เคยเป็นในอดีต ในสหรัฐเจ้าพนักงานอัยการมีอำนาจในการดูแลการสอบสวน สั่งฟ้อง หรือสั่งไม่ฟ้องเต็มที่

แต่ในบ้านเรา การใช้ “ดุลพินิจ” ในการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องมีในระดับตำรวจและอัยการ ถ้าเป็นการรังแก สร้างหลักฐานน่าสงสัย ดังเช่นกรณี “นางไก่” เล่นงานลูกจ้างมีนายตำรวจเป็นตัวช่วย เมื่อเกิดเรื่องฉาวทำให้คดีพลิก ผู้ต้องหาไม่ถูกสั่งฟ้อง แบบนี้ดูดี

ในคดีดัง ผู้ต้องหามีเงิน อิทธิพล เครือข่ายผู้ทรงอำนาจ การสั่งไม่ฟ้องมักอยู่ในกระแสของการถูกครหาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะการสั่งไม่ฟ้องถูกมองว่าเป็นการตัดตอนคดีให้จบง่าย ไม่ไปถึงระดับอัยการหรือศาล บางครั้งถ้าหลักฐานอ่อน อัยการอาจให้สอบเพิ่ม

ล่าสุดมีความพิสดารเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาว่าควรถอนฟ้องจำเลยคนดัง ทรงอิทธิพลในคดีสั่งการตำรวจใช้กำลังและอาวุธสลายการชุมนุมของประชาชนหน้ารัฐสภามีผู้บาดเจ็บล้มตาย พิการ ทั้งๆ ที่คดีอาญานี้ได้อยู่ในการพิจารณาของศาลแล้วด้วย

ความพยายามจะถอนฟ้องเกิดขึ้นหลังจากคำอ้างที่ว่าจำเลยได้นำเสนอหลักฐานเรียกร้องขอความเป็นธรรม ในความน่าจะเป็น หลักฐานที่ว่านั้นควรนำสู่การพิจารณาโดยศาลในการต่อสู้คดี ผิดหรือถูกก็ไปว่ากันเพื่อความกระจ่าง โดยให้ศาลเป็นผู้ตัดสินในที่สุด

จำเลยผู้กระทำความผิดจริง “ไม่ต้องการความยุติธรรม” แต่ต้องการให้หลุดจากคดี!

การใช้วิธีประชุม หาทางให้เกิดมติเพื่อถอนคำฟ้องออกจากศาลย่อมถูกมองว่า “น่าเกลียด” อย่างยิ่ง ไม่ต้องพูดถึงประเด็นเงือนงำต่างๆ ซุบซิบกันให้แซ่ดว่ามีความเกี่ยวโยงกันระหว่างคนบางคนใน ป.ป.ช. และตัวจำเลยบางราย แต่ก็ยังจะดันทุรังทำกันโดยไม่อาย

จะถูกมองว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงในการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรมขั้นศาลหรือไม่ขึ้นอยู่กับความทันสมัยของกฎหมาย ถ้ามองแบบชาวบ้านคือการพยายามตัดตอนไม่ให้คดีถึงที่สุดในศาลนั่นเอง จึงส่ออาการพิรุธ ลุกลี้ลุกลนถูกสงสัยว่าได้ทำผิดจริง

ความพิสดารน่าหัวร่ออีกอย่างคือ การทำคดีฟ้องเป็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดก่อนหน้านี้ และที่มาของกรรมการบางรายในคณะปัจจุบันยังสร้างเสียงร่ำลือกันให้แซ่ดว่ามี ภารกิจพิเศษเฉพาะ รู้กัน ลือกันถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่มีใครรู้สึกกว่ามันเกินระดับต้องอาย

นี่จึงเป็นปัญหาความน่าเชื่อถือของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยิ่งถ้ามีความกล้าหาญลงมติดำเนินการถอนฟ้องคดีทั้งๆ ทียังอยู่คาศาลย่อมสร้างปรากฏการพิสดาร ประวัติศาสตร์ใหม่ของกระบวนการพิจารณา เมื่อกูรูกฎหมายบอกว่าไม่มีข้อห้ามหรือข้ออนุมัติในเรื่องนี้

แต่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. บางส่วนหรือทั้งหมด เห็นดีเห็นงามกับแนวปฏิบัติเช่นนี้ และเดินหน้าถอนฟ้องได้สำเร็จโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือประเด็นอื่นๆ ย่อมเกิดปัญหาคำครหา ความน่าเชื่อถือ และสภาพความเป็นองค์กรอิสระ ในสายตาของประชาชน

นี่ย่อมถูกมองว่าเป็นการ “หักดิบตัดตอน” ไม่ให้คดีคืบหน้าต่อสู้กันโดยหลักฐานพยานต่างๆ เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้เสียหายเพราะการบาดเจ็บล้มตาย และเป็นสภาพการณ์ที่ “ไม่มีผู้กระทำความผิด” และ “ผู้ต้องรับผิดชอบ” ประชาชนเจ็บตายฟรี!!

หวังว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะใช้ “ดุลพินิจ” อย่างถูกต้องดีงามในเรื่องนี้!

ถ้าการแสวงหาความยุติธรรมในศาลสถิตยุติธรรมถูกสกัดตัดตอนในลักษณะเช่นที่ว่านี้ ประชาชนผู้รู้สึกว่าถูกปล้นโอกาสในการแสวงหาความเป็นธรรมย่อมไม่มีทางเลือกอื่น อาจรู้สึกร่วมกันว่าต้องรวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากคุณท่านผู้นำรัฐบาล

อาจไปยื่นเรื่องต่อทำเนียบรัฐบาลก่อนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เดินหน้าอย่างจริงจัง แม้มีคำอ้างว่าจะพิจารณาเรื่องนี้พร้อมกับคำร้องกรณีรัฐบาลประชาธิปัตย์มีคำสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งๆ ที่รูปแบบความรุนแรงในช่วงการชุมนุมแตกต่างกันชัดเจน

การแสวงหาความยุติธรรมบนท้องถนนย่อมสร้างปัญหาให้ทุกฝ่าย ถ้าไปไกลถึงขั้นนั้น ผู้เรียกร้องเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายห้ามการชุมนุม ข่าวด้านลบย่อมทำให้รัฐบาลดูไม่ดีเพราะการกระทำขององค์กรอิสระ ขณะที่คุณท่านดูดีได้โกยคะแนนไปเยอะ

ถ้ามีมติสั่งให้ถอนฟ้องจริง แนวทางการกระทำของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมถูกมองว่าเป็น “การเหยียบย่ำซ้ำเติมผู้เสียหาย” อาจนำไปสู่การเรียกร้องเป็นวงกว้างให้คุณท่านผู้นำใช้อำนาจพิเศษเพื่อจัดการปัญหา ดังเช่นการสั่งพักงานผู้ว่า กทม. เป็นต้น

ความผยอง ใช้อำนาจในทางที่ผิด มักได้ผลตอบแทนไม่น่าอภิรมย์ ไม่ช้าก็เร็ว ตัวอย่างมีให้เห็นขณะนี้ มาตรา 157 ยังเป็นอำนาจสุดท้ายเพื่อเล่นงานเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือองค์กรอิสระผู้ประพฤติมิชอบ ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจอธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น