xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข ณ ตอนนี้มีความ “ไม่รู้” หลายแง่มุม หากนำไปใช้โดยไม่แก้ไขแทนที่จะเป็นการเยียวยาผู้ป่วย อาจจะเป็นพิษร้ายต่อสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: ศาสตราจารย์ ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร

แฟ้มภาพ
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย


นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ได้โพสต์เฟสบุ๊คในวันที่ 2 กันยายน กล่าวถึงความก้าวหน้า ของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ตามร่าง พ.ร.บ.นี้ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา มีสาระสำคัญดังนี้คือ

ผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากการรักษา จะได้รับเงิน 2 ก้อน คือ

1. ก้อนที่หนึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตา ม.41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันฯ โดย ไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด
2. ก้อนที่สองเป็นเงินชดเชย จ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบฯจากการบริการ ยกเว้นผลที่เกิดขึ้นตามปรกติธรรมดาของโรคนั้น

ผู้เขียนเห็นว่า กฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นเพื่อช่วยผู้ที่ต้องพิการหรือตายหรือได้รับความเสียหายหลังจากการไปรับบริการสาธารณสุข โดยหลักการถือว่าเป็นกุศลผลบุญแก่ผู้ออกกฎหมายนี้อย่างยิ่ง อย่างไรก็ดีผู้เขียนจะขอเตือนว่ากฎหมายนี้ยังประกอบด้วยความไม่รู้ทางวิทยาศาสตร์หลายแง่มุม ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องแก้ไขให้เสร็จก่อนที่จะนำมาใช้

ความไม่รู้ที่มีอยู่ได้แก่ 1 “ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อประกาศใช้” 2 “ไม่รู้ว่ารัฐจะต้องใช้เงินเท่าไหร่” 3 “ไม่รู้ว่าผู้ป่วยพิการหรือตายเพราะอะไร” และ 4 “ไม่รู้สถานการณ์ทางการแพทย์ของไทย”

1.“ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อประกาศใช้” สาเหตุสำคัญเพราะกฎหมายในลักษณะนี้โดยเฉพาะในก้อนที่หนึ่งหรือการไม่พิสูจน์ถูกผิด ไม่มีที่อื่นใช้ อันทีจริงการออกกฎหมายนโยบายระดับประเทศเป็นประเทศแรกของโลกนับว่าสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง หากจำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้จริงผู้เขียนเห็นว่าควรมีการศึกษาในลักษณะสภาพเหมือนจริงเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

2.“ไม่รู้ว่ารัฐจะต้องใช้เงินเท่าไหร่” ในกรณีนี้ศึกษาได้ไม่ยาก โดยสามารถประเมินจาก ความพิการและการตายที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ผู้เขียนขอเตือนว่าอย่าประมาท เชื่อหรือไม่ สาหตุการตายอันดับ 3 ในประเทศสหรัฐอเมริกาคือการตายจากการรักษาคลาดเคลื่อน (BMJ 2016;353:i2139) ดังนั้นหากใช้กฎหมายนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เชื่อได้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาคงจะล่มจมเป็นแน่แท้

3.“ไม่รู้ว่าผู้ป่วยพิการหรือตายเพราะอะไร” หากทำตามเงื่อนไข ในก้อนที่ 1 สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดการล่มสลายของวิชาแพทย์เลยทีเดียว การเรียนรู้สาเหตุของความพิการและการตายของผู้ป่วยเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างยิ่งของการสร้างประสบการณ์และความรู้ในวิชาแพทย์ หากปล่อยให้มีการเยียวยาโดยไม่ต้องหาสาเหตุ สาเหตุดังกล่าวก็จะไม่ได้รับการป้องกัน/แก้ไข ผลเสียก็จะเกิดกับผู้ป่วยรายต่อ ๆ ไป ไม่มีที่สิ้นสุด ผลกระทบร้ายแรงที่เกรงว่าจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากมีเรื่องเงินเกี่ยวข้องคืออาจเกิดกรณีคล้ายการฆ่าหรือฆ่าตัวตายเพื่อเอาเงินประกันชีวิต เช่น อาจรอให้ป่วยหนักก็รีบเอามาโรงพยาบาล พอตายก็ไปร้องขอเงินก้อนที่ 1 เพราะไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนไม่อยากจะจินตนาการ แต่หากเกิดขึ้นแทนที่ผู้ออก พ.ร.บ. จะได้เป็นผู้สร้างบุญกุศลเสมือนเป็นพระโพธิสัตว์กลับกลายเป็นผู้สร้างบาปกรรมเยี่ยงมารร้ายโดยไม่รู้ตัว ทั้ง 2 กรณีนี้ ได้แก่ การเกิดความผิดพลาดซ้ำๆ ซาก ๆ และความพยายามคล้ายการฆ่าหรือฆ่าตัวตายเพื่อเอาเงินประกันชีวิต เพื่อเงินก้อนที่ 1 สามารถป้องกันได้อย่างเด็ดขาดหาก ออกกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องศึกษาวิจัยรายงานสาเหตุของความพิการและการตายแบบเป็นวิทยาศาสตร์ และ ห้ามมีการเยียวยาโดยไม่สืบสวนสาเหตุ

ผู้เขียนคาดเดาจากความปรารถนาดีของผู้ออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ “เชื่อว่าน่าจะตั้งใจเยียวยาเมื่อมีความพิการและการตายของผู้ป่วยจากการรักษาอันเป็นเหตุสุดวิสัย” มากกว่า เช่น พิการหรือตายจากการแพ้ยาเมื่อได้รับยานั้นๆ ครั้งแรก หรือกรณีคลอดที่เกิดเหตุสุดวิสัยทั้งที่หมอได้รักษาตามมาตฐานแล้ว แต่ไม่สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายได้ เช่นเกิดน้ำคร่ำรั่วเข้าสู่กระแสเลือดมารดาทำให้มารดาและทารกตายหรือกรณีการคลอดติดไหล่ ทำให้ทารกมีภาวะการขาดออกซิเจนแรกเกิดที่อาจส่งผลให้เด็กสมองพิการ เป็นต้น ในประเทศสหรัฐอเมริกา บางรัฐมีการออกกฎหมายในลักษณะนี้เรียกว่า “การชดเชยโดยปราศจากความผิด (No Fault Compensation)” หากแก้กฎหมายตามนี้จะถือว่าเป็นการออกกฎหมายด้วยความเมตตาและด้วยปัญญาที่รู้และเข้าใจวิชาแพทย์อย่างแท้จริง

4. “ไม่รู้สถานการณ์ทางการแพทย์ของไทย” ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพแพทย์จะต้องได้รับใบอนุญาตที่เรียกว่า ใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมซึ่งในอดีตเรียกว่า “ใบประกอบโรคศิลป์” หมายความว่าการจะดูแลรักษาผู้ป่วยให้ได้ผลดีนั้นทั้งศาสตร์และศิลปะในการบริบาลผู้ป่วยมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น ผู้ป่วยแต่ละรายถึงแม้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเดียวกันแพทย์ก็อาจตัดสินใจรักษาด้วยแนวทางที่ต่างกันได้ แต่หากมีกฎหมายที่เข้มงวดจนเกินไป เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดตามกฎหมายแพทย์อาจจะต้องส่งตรวจพิเศษทุกชนิด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้ละเลยการตรวจพิเศษ ทั้งๆ ที่บางอย่างไม่จำเป็น จนอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาล่าช้าจนเกินไป เช่น ตรวจร่างกายแล้วแพทย์เห็นว่าน่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ แต่เพื่อให้มีหลักฐานยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ต้องส่งไปทำ CT scan แต่ที่ ร.พ.นั้นไม่มีเครื่อง CT Scan ก็เลยต้องส่งผู้ป่วยไปอีก ร.พ.หนึ่ง จนอาจจะทำให้ผู้ป่วยไส้ติ่งแตก อาการหนักขึ้น หรือไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ต้องส่งผู้ป่วยไป ร.พ.จังหวัด ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วย “เสียเวลานาทีทองที่จะรอดชีวิต” เพื่อไม่ให้ “ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดในการรักษาผู้ป่วย”

นอกจากนี้ควรยอมรับความจริงว่า ความพร้อมในการวินิจฉัยและรักษาของแต่ละที่ในประเทศไทยมีความแตกต่างกัน การอนุญาตให้แพทย์ใช้ศาสตร์และศิลปะประกอบด้วยประสบการณ์หรือความชำนาญในการรักษาผู้ป่วยโดยไม่ต้องมีประกาศนียบัตรรับรองความเป็นผู้เชี่ยวชาญ และสร้างให้แพทย์สะสมประสบการณ์ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง หากมีกฎหมายที่เข้มงวดจนเกินไป เชื่อได้ว่าความพิการและการตายของผู้ป่วยจากการเสียเวลาในการตรวจพิเศษ และ ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว ประมาณการณ์เทียบต้นทุนในการบริบาลในประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยสรุป ผู้เขียนเห็นความสำคัญและเข้าใจถึงความหวังดีของผู้ที่ต้องการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่อยากจะขอให้เพิ่มความรอบคอบ ศึกษาความไม่รู้ทั้ง 4 ข้อนี้ให้ถี่ถ้วน แล้ว พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็น พ.ร.บ. ที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งแก่สังคมไทยของเรา
กำลังโหลดความคิดเห็น