xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แผน K-District บุกค้าปลีกไทยรุกอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากปลุกปั้นกระแสวัฒนธรรม K-Wave นำโดยเหล่าดาราไอดอลคลื่นลูกใหม่ในวงการบันเทิงเกาหลีจนแข็งแกร่ง ล่าสุด รัฐบาลเกาหลีกำลังเร่งต่อยอดแผนการใหม่ เพื่อเปิดยุทธศาสตร์บุกธุรกิจค้าปลีกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยสร้างแพลตฟอร์มระดับโลกที่เรียกว่า The Mall of Korea (MOK) นำเสนอและเผยแพร่วัฒนธรรมผ่านสินค้าแบรนด์ต่างๆ ทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และเจาะทุกทวีปทั่วโลก

ดร.จูเลี่ยน เฮอร์ รองประธานกรรมการ MOK กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 ํ” ว่า รัฐบาลเกาหลีใช้เวลา 1 ปี สร้างแพลตฟอร์ม MOK สนับสนุนภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินงาน โดยเป้าหมายหลัก คือผลักดันสินค้าของเอกชนเกาหลีที่เป็นคลื่นลูกใหม่ หรือกลุ่ม Young Blood ผสมผสานกับสุดยอดผู้เชี่ยวชาญในวงการบันเทิงเกาหลีและเหล่าดาราไอดอล โดย MOK จะทำหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ สรรหาผู้เช่าจากเกาหลี สนับสนุนด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเอสเอ็มอีของเกาหลี เพื่อบุกตลาดต่างประเทศ

ทั้งนี้ ตามแผนระยะแรก MOK เปิดฉากการร่วมทุนกับบริษัท โชว์ดีซี คอร์ป จำกัด ผุดโครงการตามแพลตฟอร์ม The Mall of Korea แห่งแรกใน “โชว์ดีซี” ศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจรย่านพระราม 9 ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2559 และมีแผนขยายสาขาในจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ ของประเทศไทย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่

ดร.จูเลี่ยนกล่าวว่า กระแสวัฒนธรรมเกาหลีได้แผ่อิทธิพลอย่างมากในหลายประเทศในเอเชียและทั่วโลก การเลือกประเทศไทยเป็นจุดแรก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าคนไทยมีศักยภาพมาก ซึมซับวัฒนธรรมเกาหลี และสินค้าที่ MOK เลือกมาจำหน่ายไม่ได้เน้นตลาดระดับบน แต่เน้นตลาดระดับกลาง ลูกค้าคนไทยสามารถเลือกซื้อได้ตั้งแต่ชิ้นละ 200-300 บาท จนถึงหลายพันบาท ซึ่งรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย

ในอนาคต MOK ตั้งเป้าหมายเจาะตลาดอาเซียน เช่น ในศูนย์การค้ากัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รวมถึงขยายสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะปี 2560 คาดว่าจะขยายสาขาในศูนย์การค้าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 17 แห่ง

ต้องยอมรับว่า การปลุกกระแสวัฒนธรรมเกาหลีถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาลที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่ยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลี ช่วงปี ค.ศ. 1945-1980 โดยเกาหลีได้สร้างวัฒนธรรมขึ้นใหม่เพื่อสกัดกั้นวัฒนธรรมอเมริกัน เน้นการค้นหาตัวตนหรือเอกลักษณ์ของชาติและมรดกทางวัฒนธรรม

ปี ค.ศ. 1981-1992 รัฐบาลเริ่มส่งเสริมศิลปะทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย โดยวางแนวนโยบายทางวัฒนธรรม 10 ปี จนปี ค.ศ. 1998 รัฐบาลเกาหลีสร้างแพลตฟอร์มใหม่ เรียกว่า “อุตสาหกรรมวัฒนธรรม” ประกอบด้วยอุตสาหกรรมย่อย ได้แก่ ภาพยนตร์ เพลง วิดีโอ สิ่งพิมพ์ การกระจายเสียง การออกแบบ ตัวการ์ตูน ความบันเทิงที่ให้ความรู้ (Edutainment) และวางวิสัยทัศน์ทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมดิจิตอล ส่งเสริมให้วัฒนธรรมเกาหลีสามารถแข่งขันได้ในกระแสโลกาภิวัตน์ มีภาครัฐเป็นผู้กำหนดแนวนโยบายและสนับสนุนเงินทุนเบื้องต้น ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน

ปี ค.ศ. 1999 รัฐบาลเกาหลีออก พ.ร.บ. ส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เกิดองค์การมหาชนเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้วิสัยทัศน์อุตสาหกรรมเกาหลี ปี ค.ศ. 2020

ประมาณกันว่าในปี ค.ศ. 2030 หรืออีก 14-15 ปีข้างหน้า ประเทศเกาหลีจะสามารถส่งออกสินค้าทางวัฒนธรรมเป็นมูลค่ากว่า 13,761 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 4 แสนล้านบาท

สำหรับ The Mall of Korea แห่งแรกในโชว์ดีซี มีไฮไลต์สำคัญที่ K-District by Mall of Korea เมืองเกาหลีที่ใหญ่ที่สุดในโลกนอกประเทศเกาหลี พื้นที่รวม 18,000 ตร.ม. ใช้งบลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท โดยจำลองแหล่งชอปปิ้งสุดฮิตอย่างย่านมยองดง, ทงแดมุน และฮงแด มีซูเปอร์มาร์เก็ตสไตล์กิมจิขนานแท้ K-Market ถือเป็นแหล่งรวมอาหารสด และสินค้าอาหารนำเข้าจากประเทศเกาหลีที่ใหญ่ที่สุด

นอกจากนี้ จัดโซน Current Seoul แพลตฟอร์มของธุรกิจค้าปลีกที่รวบรวมสินค้านำเข้าจากเกาหลีที่ได้รับความนิยมและฮิตอินเทรนด์ 3 หมวด คือ สินค้าแฟชั่น (Current Fashion Seoul) สินค้าไลฟ์สไตล์ (Current Lifestyle Seoul) และสินค้าเครื่องสำอาง (Current Beauty Seoul)

ขณะเดียวกัน ดึงกลุ่มศิลปินนักร้องเข้ามาเปิดร้านอาหารในโซน Celeb Food & Beverage เช่น ร้าน PSY Noodle House by Psy Gangnam Style ร้านอาหาร After The Rain ของนักร้องหนุ่ม Rain และ BTS' BRICK CAFE ของวงบอยแบนด์สุดฮอต วง BTS หรือบังทันบอย

“ในเมืองเกาหลี K-District ยังจัดสรรพื้นที่ 6,700 ตร.ม. เปิด The MOK Hall ห้อง Convention Hall รองรับการจัดงานนิทรรศการ งานคอนเสิร์ต และเป็นศูนย์ประชุมใหญ่ เพราะในอนาคตจะมีศิลปินเข้ามาจัดงานแสดงคอนเสิร์ต และวางแผนจะเปิดตัวโซนเอ็นเตอร์เทนเมนต์สำหรับเด็กๆ ยิม ที่มีจุดเด่นด้านการนวดบำบัดโรคสไตล์เกาหลี ศัลยกรรมความงาม เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการผสมผสานความหลากหลายไว้ในที่เดียว เป็นต้นแบบการขยายสาขาแห่งใหม่ ซึ่งจะยึดนโยบาย 1 จังหวัด เปิด 1 สาขา อย่างกรุงเทพฯ จะมีเพียงแห่งเดียวในโชว์ดีซีเท่านั้น” ดร.จูเลี่ยนกล่าว

ขณะที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการส่งออกเติบโตติดลบ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา วัยรุ่นไทยหรือแม้กระทั่งผู้บริโภคอีกจำนวนมากโหยหาสินค้าแบรนด์เนมต่างชาติ การเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศอื่นเพื่อปรับใช้น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น