xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ป๋าไม่เกี่ยว ก็แค่แรงบันดาลใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้จนถึงนาทีนี้ จะยังไม่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯโปรดเกล้าแต่งตั้งข้าราชการทหารระดับสูงลงมาอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ผู้ที่จะมาทำหน้าที่สืบทอดตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ต่อจาก “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ที่กำลังจะเกษียณอายุราชการในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ คือ “บิ๊กเจี๊ยบ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วย ผบ.ทบ.

พลันที่กระแสข่าวเรื่อง พล.อ.เฉลิมชัยได้รับโปรโมทขึ้นเบอร์ 1 กองทัพบกสะพัดออกมา ก็ไม่แปลกที่จะมีการวิพากษ์พิเคราะห์ถือปัจจัย-เหตุผลที่ทำให้นายทหารสาย "แบเร่ต์แดงรบพิเศษ" เบียดขึ้นมาในตำแหน่งสูงสุดของกองทัพบกไทยได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี เพราะก่อนหน้านั้น ทุกสายทุกสื่อฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า ผบ.ทบ.คนใหม่ จะชื่อ "บิ๊กแกละ” พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก ผู้เติบโตมาตามสาย “บูรพาพยัคฆ์” ที่เรืองอำนาจอยู่ในปัจจุบันต่างหาก

โดย “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ฉบับที่แล้วก็ได้ชำแหละเจาะลึกผ่านท้องเรื่อง พยัคฆ์หักพยัคฆ์ ตอน...ปฏิวัติเงียบ ยึดอำนาจ "ป๋าป้อม" ไปแล้วนั่นเอง

เมื่อกล่าวถึงตัวละครสำคัญที่มีส่วนในการจัดวางตัว “บิ๊กทหาร” ในรอบนี้ ย่อมหนีไม่พ้นผู้มีอำนาจในกระดาน นั่นก็คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อในขั้นสุดท้าย ก่อนที่นายกฯจะลงนามนำขึ้นทูลเกล้าฯตามกระบวนการ

ไม่เพียงแต่ 2 ศรีพี่น้องแห่งบูรพาพยัคฆ์ เท่านั้น งานนี้มีการพาดพิงไปถึง “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ว่ายังคงมีอิทธิพล-บารมีในกองทัพอย่างชัดเจน

ด้วย พล.อ.เฉลิมชัย ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ เป็นนายทหาร "แบเร่ต์แดงรบพิเศษ" สายเดียวกับ “บิ๊กแอ้ด” พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี โดยมีข่าวมาเป็นระยะๆว่า พล.อ.สุรยุทธ์ ผลักดัน พล.อ.เฉลิมชัย เต็มที่ และด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ เป็น “ลูกป๋า” คนสำคัญ ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.เปรม มาอย่างยาวนาน ก็ยิ่งทำให้ “สายมโน” คิดไปว่า พล.อ.เปรม มีส่วนในการร่วมด้วยช่วยกันกับ พล.อ.สุรยุทธ์ในการปั้น “บิ๊กเจี๊ยบ” ขึ้นจ่าฝูง ทบ.

แต่ที่ว่ามโนไปเอง หรือ “เขาเล่าว่า...” ก็ถูกสำทับให้ชัดเจนขึ้น เมื่อ พล.อ.เฉลิมชัย โผล่ไปร่วมเฟรมชักภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับ “ป๋าเปรม” บนเวทีคอนเสิร์ตการกุศล “รักเพลง รักแผ่นดิน ครั้งที่ 10 : เธอคือความสุข" ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อค่ำคืนวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคอนเสิร์ตที่จัด เพื่อหารายได้สนับสนุนกิจการมูลนิธิ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กรมดุริยางค์ทหารบก เพื่อพัฒนาการดนตรี ในโอกาสคล้ายวันเกิดครบของ พล.อ.เปรม เป็นประจำทุกปี

คงไม่แปลกที่จะมี “บิ๊กทหาร” ไปร่วมคอนเสิร์ตที่ว่า แต่ “บิ๊กเจี๊ยบ” เป็นนายทหารเพียงคนเดียวที่ปรากฏในภาพดังกล่าวร่วมกับ “ป๋าเปรม” และศิลปินที่ร่วมแสดงคอนเสิร์ต กลายเป็นการส่ง “สัญลักษณ์” ที่แทบไม่ต้องตีความ

ยิ่งเมื่อภาพดังกล่าวถูกนำมาตีพิมพ์ขึ้นหน้า 1 บนหนังสือพิมพ์หลายฉบับในวันถัดมา ก็เท่ากับคอนเฟิร์มข่าวที่ “บิ๊กเจี๊ยบ” แหกโผแซง “บิ๊กแกละ” เข้าวินว่าที่ ผบ.ทบ.

ตามมาด้วยบรรยากาศอันแช่มชื่น เมื่อรุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีที่ส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ไปร่วมแฮปปี้เบิร์ธเดย์ “ป๋าเปรม” ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบ 96 ปีล่วงหน้า ที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ โดยมี พล.อ.ประวิตรร่วมคณะไปด้วย แม้จะอกหักจากการพลาดหวังส่ง “น้องรัก” อย่าง พล.อ.พิสิทธิ์เข้าวินประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของ “บูรพาพยัคฆ์” ไม่สำเร็จก็ตาม

อย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน จู่ๆ พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ นายทหารคนสนิท ก็ออกมาให้ข่าวว่า พล.อ.เปรม จะไม่ได้เปิดบ้านสี่เสาเทเวศน์ เพื่อให้ ผบ.เหล่าทัพ และคณะบุคคลต่าง ๆ มาอวยพรวันเกิดอย่างที่ปฏิบัติมาทุกปี โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากรบกวน พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีภารกิจบริหารบ้านเมือง และย้ำด้วยว่า “ไม่มีนัยทางการเมือง” ซึ่งขณะนั้นโผทหารที่กะเก็งกันไว้ยังเป็น พล.อ.พิสิทธิ์ ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ทบ.

แต่เมื่อมีการเขย่าโผใหม่และชื่อ พล.อ.เฉลิมชัย พลิกขึ้นมา พล.ท.พิศณุ เจ้าเก่า ก็ออกมาเปิดเผยว่า “ป๋าเปลี่ยนใจ” อนุญาตให้ พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะเข้าอวยพรวันเกิดได้ตามปกติ

มองผิวเผินก็คิดได้ว่าคง “ไม่มีอะไรในกอไผ่” แต่ “ผู้สันทัดกรณี” กลับชี้ตรงกันว่า เหตุการณ์ที่ว่าทั้งหมด เป็นชั้นเชิงการแสดง “สัญลักษณ์” ในทางการเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเรื่องซาไปแล้ว ก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ เองที่ออกมา “เพิ่มน้ำหนัก” ให้เรื่องที่เกิดขึ้นไปอีก หลังจากที่ออกมาปฏิเสธว่า พล.อ.เปรมไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหารเลย ทุกตำแหน่งเป็นไปตามกระบวนการของกองทัพ ที่ผ่านการประชุมของคณะกรรมการ จากนั้นเสนอที่ประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รวมทั้งผบ.เหล่าทัพ ช่วยกัน กลั่นกรอง ถอดรหัสแล้วก็คือ “ป๋าไม่เกี่ยว” นั่นเอง

ทั้งที่เรื่องนี้เกือบจะเงียบหายไปกับสายลมแล้ว การออกมาปฏิเสธ จึงถูกมองว่าเป็น “คำสารภาพ” ไปโดยปริยาย

ตัดภาพกลับไปที่บรรยากาศ การเข้าอวยพรวันเกิด “ป๋าเปรม” ของ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะ มีการสังเกตอากัปกิริยาของตัวละครคนสำคัญแบบจ้องกันตาไม่กระพริบ โดยเฉพาะตัวเจ้าของวันเกิดที่ให้โอวาท พล.อ.ประยุทธ์ แบบยาวเหยียดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนแทบจะลบภาพที่เคยถูกขนานนามว่า “เตมีย์ใบ้” ในอดีตไปเลย

หลักใหญ่ใจความของโอวาทในวันนั้นเป็นการให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์และคณะ ให้มุ่งหมายทำงานตอบแทนคุณแผ่นดิน โดยที่ “ป๋าเปรม” พร้อมที่จะช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ แม้จะแก่แล้วก็ตาม แถมยังชม พล.อ.ประยุทธ์อย่างไม่ขาดปาก ชื่นชมบทบาทของ หัวหน้า คสช.ที่บริหารบ้านเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ขนาดสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ รับเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ก็ไม่เคยได้รับการยกย่องเชิดชูขนาดนี้

จับต้นชนปลายแล้ว “ป๋าเปรม” อาจจะไม่เกี่ยว แต่ก็น่าจะมีส่วนในการสร้าง “แรงบันดาลใจ” ผ่านแอ็กชันที่ออกมาในช่วงหลังๆ

เมื่อนำความจากบ้านสี่เสาฯ มาประสมประเสกับผลการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้เรตติ้งของ “รัฐบาลลุงตู่” หรือโดยเฉพาะตัว “ลุงตู่” เองติดลมบนไปกันใหญ่ เพราะมีทั้งฉันทามติจากประชาชน และเสียงจาก “ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ให้การสนับสนุน

ช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่บรรดา “สายเชลียร์” ออกมาตีปี๊บให้ “บิ๊กตู่” เจริญรอยตามทางเดินของ “ป๋าเปรม” สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว โดยการรับเป็นนายกรัฐมนตรีอีหครั้งหลังการเลือกตั้ง หรือที่ถูกขนานนามว่า “ป๋าเปรมโมเดล”

โดยเฉพาะคู่หูกุมาร “วันชัย สอนศิริ - เสรี สุวรรณภานนท์” สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ดูจะพออกพอใจกับสถานะ “เด็กเดินเกม” ขาประจำของ คสช. ที่ชู “ป๋าเปรมโมเดล” เสียงดังกว่าใครเพื่อน มั่นอกมั่นใจถึงขนาดบอกว่า “บิ๊กตู่ - ป๋าเปรม” มีเคมีคล้ายกันหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนายทหารเฉกเช่นเดียวกัน เป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาในช่วงที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤตเหมือนกัน

องคาพยพ คสช.สอดรับกันเป็นทอดๆ โดยมี “หัวเชื้อ” จากร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ออกแบบให้สามารถมี “นายกฯคนนอก” ได้ ดังนั้น ในภายภาคหน้าต่อให้ “บิ๊กตู่” ไม่ตั้งพรรคการเมือง ไม่ลงสมัครส.ส. แต่ก็สามารถที่จะโผล่ไปเป็น “นายกฯ” กลางสภาได้ไม่ยาก

เหมือนเมื่อครั้งที่ “ป๋าเปรม” ครองตำแหน่งนายกฯตลอดกาล ช่วงปี 2523 - 2531 ที่พรรคการเมืองพร้อมใจกันไปอัญเชิญมาเป็นนายกฯ หลังพรรคการเมืองมีคะแนนเสียงไม่พอในการผลักดันคนของตัวเองให้เป็นนายกฯได้ เฉกเช่นเดียวกับกติกาฉบับนี้ที่มีโอกาสสูงที่พรรคการเมืองจะไม่สามารถเลือกนายกฯกันเองได้ เพราะคะแนนเสียงไม่พอ

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของ “บิ๊กตู่” ก็คล้ายคลึงกับ “ป๋าเปรม” อีกต่างหากในแง่ของความซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่มีมลทินเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น ก็เลยมีคนวาดฝันว่า ผู้นำท็อปบูตยุคปัจจุบันจะเจริญรอยตามผู้ยิ่งใหญ่แห่ง “บ้านสี่เสาเทเวศน์” ได้

นอกเหนือจากร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. แล้วก็ต้องจับตาต่อเนื่องไปถึงกฎหมายลูก 10 ฉบับที่เตรียมทำคลอดออกมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง และกำหนดรูปแบบของการเมืองหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ที่คาดการณ์กันว่า อาจจะมีการ “เซตซีโร” ยุบพรรค-สลายขั้วการเมือง รวมทั้งออกแบบกติกา-เงื่อนไขเพื่อทำให้ ส.ส.กระจายไปในพรรคต่างๆ ไม่กระจุกอยู่ใน 2 พรรคใหญ่เหมือนที่ผ่านมา ลดอำนาจการต่อรอง โดยมี “พรรค ส.ว.ลากตั้ง” ที่มี 250 เสียงยืนพื้นเป็นตัวจักรสำคัญ

เงื่อนไข-กลไกที่แตกแยกย่อยออกมาจากร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีเป้าประสงค์ในการ “บอนไซ” ฝ่ายการเมือง ไม่ให้เติบโตฝังรากเป็นไม้ใหญ่ได้อย่างที่ผ่านมา เพราะผู้ที่อยู่ในกระดานอำนาจตอนนี้มองว่า บริบทในขณะนี้ต่างจากเมื่อสมัยปี 2523 - 2531 ที่ “ป๋าเปรม” นอนมาสำหรับตำแหน่งผู้นำประเทศ

สถานการณ์วันนั้นกับวันนี้ต่างกันริบลับ โดยเฉพาะสถานการณ์ในวันที่ “ป๋าเปรม” เป็นนายกรัฐมนตรี ความขัดแย้งทางการเมือง “ภายใน” ไม่ได้เป็นปัญหาหลัก แต่เป็นปัญหา “ภายนอก” มากกว่า จึงทำให้การเมืองวันนั้นค่อนข้างมีเอกภาพมีอะไรเห็นไม่ตรงไปจบกันที่ “รัฐสภา” แต่ พ.ศ.ฝ่ายการเมืองฟาดฟันกันเอาเป็นเอาตาย แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทำทุกวิถีทางเพื่อโค่นอีกฝั่งให้หล่นจากอำนาจ กระทั่งเอาคนลงมาบนท้องถนนเพื่อประหัตประหารกันก็ยอม เลยเถิดไปถึงขั้นการใช้ความรุนแรงจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมากในช่วงสิบปีมานี้

ด้วยสถานการณ์เช่นนี้เสถียรภาพในกองทัพจึงสำคัญ ในอดีต “นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา” สามารถควบคุมได้แทบจะไม่มีการแตกแถว ด้วย “บารมี” ที่สั่งสมไว้ แม้จะมีความพยายามทำรัฐประหารหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีใครกระทำได้สำเร็จ เพราะส่วนใหญ่คอยให้การสนับสนุนและปกป้องอย่างเต็มพิกัด ทว่ายุคของ “บิ๊กตู่” แม้จะดูเหมือนนิ่งๆ แต่ทุกครั้งที่ถึงฤดูกาลโยกย้ายเกิดขึ้น มักจะเกิดปัญหาอยู่เสมอ โดยเฉพาะการผูกขาดของสายบูรพาพยัคฆ์

ไม่ต้องย้อนไปไกลแค่ปีที่แล้ว ที่ “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ได้เป็น ผบ.ทบ. คนอกหักก็ชื่อ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องหลีกทางไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมแทน ซึ่งก็เป็นรอยร้าวเล็กๆระหว่าง “ป้อม - ตู่” สองศรีพี่น้องบูรพาพยัคฆ์เหมือนกัน

แต่สำหรับการขับเคี่ยวแย่งชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.ของ “บิ๊กเจี๊ยบ - บิ๊กแกละ” งวดนี้ กลับไร้แรงกระเพื่อม เมื่อมีการเชื่อมโยงว่า “ป๋าเปรม” มีส่วนในการตัดสินใจ สะท้อนให้เห็น “บารมี” ของ “ป๋าเปรม” ที่ยังอยู่ยงคงกระพัน และยังทิ้งห่างนายทหารรุ่นน้องอย่าง “บิ๊กตู่ - บิ๊กป้อม” อยู่หลายช่วงตัว

บารมีถึงหรือเปล่า ยังพิสูจน์ยาก แต่ขณะนี้หลายอย่างที่องคาพยพ คสช.กำลังรังสรรค์อยู่ในตอนนี้นั้น เป็นไปตามแนว “ป๋าเปรมโมเดล” เป๊ะๆ โดยเฉพาะการล็อกสเปกเอาไว้ให้มี “นายกฯคนนอก” ซึ่งไม่ใช่ว่าฝ่ายการเมืองโดย ส.ส.จะเลือกนายกฯไม่ได้ หรือหาคนดีไม่เจอ แต่เป็นเพราะกติกามันล็อกเอาไว้ให้ “เลือกไม่ได้”

ฝ่ายการเมืองก็รู้แกว เลยส่งลิ่วล้อออกมายุส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรคการเมืองมาแข่งให้รู้แล้วรู้รอด เพราะเชื่อว่าหากไม่ลาก พล.อ.ประยุทธ์ลงมาคลุกฝุ่นการเมือง คงยากที่จะสกัดโรดแมปนายกฯคนนอกได้ โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เองเป็นเต็งหามในตำแหน่งนี้

แต่ก็อย่าลืมว่าการเข้าสู่อำนาจตามแบบฉบับ “ป๋าเปรมโมเดล” คงไม่ได้เหมือนปูพรมแดง บริหารบ้านเมืองได้อย่างสะดวกโยธินเหมือน 2 ปีที่ผ่านมาในนามรัฐบาล คสช.อย่างแน่นอน อย่าลืมว่าหลังมีนายกฯและรัฐบาลแล้ว คสช.ก็ต้องลงจากหลังเสือ สลัดทิ้งตะบองยักษ์อย่างมาตรา 44 ไว้ข้างหลัง “บิ๊ก คสช.” อาจจะอวตารร่างไปร่วมรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามกติกา และมี 250 ส.ว.ค้ำยันเอาไว้ แต่ก็ต้องเจือสมไปด้วยความไม่สมัครใจของฝ่ายการเมือง และ ส.ส.ที่แม้ตกอยู่ในสภาวะ “จำนน” ต่อกติกา แต่ก็ไม่เต็มใจเหมือนตอนไปเชิญ “ป๋าเปรม” ให้มานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

เกมในสภาของ “นายกฯคนนอก” จะมีความลำบากยิ่ง หากไม่สามารถรวบรวม ส.ส.ได้มากพอที่จะค้ำยันฝ่ายบริหาร เพราะ 250 ส.ว.ไม่สามารถเข้าไปเป็นตัวช่วยได้ในยามนั้น ถึงตอนนั้นไม่มีใครเกรงกลัวชายชื่อ “ประยุทธ์” หรือ ป.ไหนๆ ที่จะมาเป็นนายกฯคนนอกแล้ว “พระเดช” ที่มีในสมัย คสช. อย่างมาตรา 44 จะหายไป การจะไปคำถามใส่ให้ ส.ส.เกรงกลัวเหมือนกับที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นเด็กดีอยู่ในโอวาทไม่แตกแถวจะไม่มีทางเกิดขึ้น

ขณะที่ “พระคุณ” ก็ไม่แน่ใจว่า พวกที่สนับสนุนตอนนี้ถึงตอนนั้นแล้วจะยังให้ความเกรงใจอยู่หรือไม่ เพราะนายกฯคนนอกอาจถูก “เกมการเมือง” เขี่ยออกจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อใดก็ได้หากเกิดความขัดแย้งในประเทศ การปั่นผลงานจะยากยิ่ง เพราะไม่มีมาตรา 44 ไว้คอยเป็นช่วยเพื่อเรียกคะแนนในการทำสิ่งยากๆ ที่รัฐบาลเลือกตั้งไม่สามารถทำได้แล้ว วันดีคืนดีหากกระแสความนิยมในตัวผู้นำร่วง ก็จะอยู่กันลำบากไปใหญ่

จริงๆแล้ว “ป๋าเปรมโมเดล” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งหนึ่ง “บิ๊กป้อม” พยายามทำตัวเองเป็นผู้มากบารมี ในแง่ของการคอนเนกชั่นที่กว้างไกล จนเกิดเครือข่าย “มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” และตั้งเป็นฐานบัญชาการคล้ายบ้านสี่เสาเทเวศน์ จนถูกกระแทกกระทั้นว่าตั้งตัวเป็น “ป๋าป้อม” คิดจะวัดรอยเท้ากับใครหรือเปล่า แต่สุดท้ายภาพลักษณ์ไม่ได้ จนต้องพังครืนลงมา

ภาวการณ์อย่างนี้โอกาสที่จะมี “ป๋าเปรมโมเดล” นั้นเปิดกว้างอยู่แล้ว เพื่อแต่คนที่จะเข้ามารับบทผู้นำจะเป็นใครเท่านั้นเอง มองในกระดานวันนี้ก็คงต้องยอมรับว่า “บิ๊กตู่” เหมาะสมที่สุด เพียงแต่เมื่อถึงเวลานั้น หมดอำนาจหัวหน้าคณะรัฐประหาร ไม่มีดาบมาตรา 44 แล้วจะยังคงกุมสถานการณ์รักษาเสถียรภาพรัฐบาลไว้ได้อย่างที่ พล.อ.เปรมเคยทำได้หรือไม่

หาก พล.อ.ประยุทธ์ เดินตามรอย พล.อ.เปรมได้จริง โอกาสที่จะได้รับการยกย่องถึงขนาด “รัฐบุรุษ คนที่ 2” ก็ไม่ไกลเกินเอื้อม แต่ก็ยังมีการบ้านให้ทบทวนอีกหลายอย่าง โดยเฉพาะการปล่อยให้ “คนข้างตัว” เบ่งกล้ามโชว์ความยิ่งใหญ่คับประเทศอย่างที่ผ่านมา ซึ่งกระทั่ง “ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ก็ไม่พอใจ เพราะเหมือนเป็นความพยายาม “วัดรอยเท้า” กันมาแล้ว สะท้อนได้ดีจากปฏิบัติการ “หักพยัคฆ์” ดัน “แบเร่ต์แดง” ขึ้นคุมทัพบกในครั้งนี้

ผ่านมา 2 ปีกว่า คงไม่มีใครสงสัยในความตั้งใจดีของ “บิ๊กตู่” แล้ว สะท้อนจากทั้งเสียงประชามติ หรือการสนับสนุนจาก “ผู้ใหญ่” หากคิดดีแล้ว่าจะเดินตาม “ป๋า” ก็คงไม่มีใครขัดข้อง และอาจจะเป็นเรื่องดีกับประเทศในยามที่ความขัดแย้งยังไม่จบ แค่ถูกกดทับไว้ชั่วคราวด้วยซ้ำ

แต่ถามว่า ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ งานปฏิรูปไม่แตะ ปล่อยให้ “พี่บางคน” มาค้ำหัวอยู่ ได้ มันพอให้คนครั่นคร้ามใน “พระเดชพระคุณ” หรือยัง!?!


กำลังโหลดความคิดเห็น