ว่าด้วยเรื่องของศาสตร์ที่ทำให้มนุษย์เข้าใจถึงโลกภายในของตนเองและผู้อื่น “นพลักษณ์” ถือเป็นศาสตร์แห่งการมองโลกที่แพร่หลายในไทยมาแล้วกว่า 20 ปี “อาจารย์ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ” พร้อมบอกเล่าเรื่องราวของศาสตร์นพลักษณ์และซาเทียร์ที่ช่วยให้ชีวิตได้พบกับความสุขและเกิดสันติสุขในจิตใจ
ผ่านการมองโลก 9 แบบที่ไม่ว่าในใบโลกนี้จะมีประชากรกี่พันล้านคน แต่ในจำนวนที่มากมายเช่นนั้นจะมีคนแค่เพียง 9 ลักษณะเท่านั้นที่ถูกแบ่งบุคลิกภาพผ่านศาสตร์นพลักษณ์ . .
“Traning Of The View”
คงเป็นเรื่องยากหากจะบอกว่าศาสตร์แห่งการเรียนรู้จิตใจมนุษย์ หรือที่เรียกว่า “นพลักษณ์” ใครเป็นผู้คิดค้นคนแรกของโลก ทว่าในแง่ของที่มาที่ไปเราคงศึกษาได้จากเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดกันมาผ่านรูปแบบการฝึกอบรม ในฐานะนักจิตวิทยา “นารานโจ” อาจเรียกได้ว่าเขาคือผู้ขับเคลื่อนศาสตร์นพลักษณ์ให้เป็นที่แพร่หลายสู่สายตาโลก
“ในแง่ของประวัติศาสตร์มันมาจากทางซูฟีย์ มันเป็นเทรนนิ่งออฟเดอะวิว คล้ายๆ การมองโลก ซึ่งบอกยากว่าใครเป็นคนคิดคนแรก แต่ถ้าในแง่ของความเป็นมาที่มีข้อมูลอยู่คือ ความรู้เรื่องนี้ถูกถ่ายทอดกันมา จากนั้นมีการนำเรื่องนี้ขึ้นมาทำเป็นระบบ มีการจัดฝึกอบรม ซึ่งครั้งแรกที่มีการจัด “นารานโจ” เป็นนักจิตวิทยา ต่อมามีสายนักจิตคลีนิค นักจิตแพทย์เข้ามาเรียนกัน
พอมีการมาเรียนเขาก็กลับมาที่อเมริกา เพราะที่นั่นค่อนข้างเป็นฐานใหญ่ มีสถาบันฝึกอบรมหลายๆ สำนัก จนกระทั่งเขาได้นำจิตวิทยาสมัยใหม่มาประกอบการอธิบายด้วย จากนั้นได้จัดฝึกอบรมเพื่อที่จะสร้างคนสอน Enneagram จึงเกิดเป็นสถาบันขึ้นมา”
สำหรับในประเทศไทย ศาสตร์นพลักษณ์มีจุดเริ่มต้นมาจากท่านอาจารย์สันติกโร ซึ่งถูกเพื่อนชาวฟิลิปปินส์ทักว่าท่านเป็นคนลักษณะหนึ่ง (หนึ่งในเก้าลักษณ์) ท่านเองจึงเกิดความสงสัย นั่นจึงเป็นที่มาของการศึกษาและเข้าสู่ศาสตร์แห่งนพลักษณ์อย่างเต็มตัว
“ในเมืองไทยจุดเริ่มต้นคือ อาจารย์สันติกโร เดิมคือชาวอเมริกาที่สนใจในธรรมะจึงมาบวช อาจารย์สันติกโรได้ทำงานด้านสันติภาพที่เชื่อมกับประเทศฟิลิปปินส์ วันหนึ่งเพื่อนฟิลิปปินส์ทักท่านว่า ท่านเป็นลักษณ์หนึ่งจัง ท่านก็งง จึงเป็นที่มาให้ท่านอ่านหนังสือและศึกษาในเรื่องนี้ จากนั้นได้มาถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการขยายตัวของเมืองไทยในการจัดฝึกอบรมต่างๆ”
หากพูดถึงเรื่องราวของศาสตร์นพลักษณ์โดยต้นกำเนิด อ.ชัยยศ ยังขยายความต่อว่าตำราที่ประเทศไทยใช้ในการศึกษาเรื่องนี้ได้รับมาจากสายที่ดูแลโดย “เฮเลน พลัมเมอร์” และ “เดวิด แดเนียล” ซึ่งรวมระยะเวลาที่แพร่หลายในเมืองไทยมานานแล้วกว่า 20 ปี
“ในเมืองไทยสายที่นำมาเรียนรู้ ต้นตอเลยคือสายที่ดูแลโดย เฮเลน พลัมเมอร์ กับ เดวิด แดเนียล อย่างตำรับตำราอินเนียร์แกรมที่แปลมาเป็นภาษาไทยก็จะมาจากสายนี้ ในไทยที่รวมเวลาราวๆ ปี 2540 เกือบ 20 ปีมาแล้ว”
รู้เขา รู้เรา = ชีวิตดี
อย่างที่ทราบกันว่าศาสตร์ของนพลักษณ์คือ การแบ่งบุคลิกภาพของคนออกเป็น 9 ลักษณะ ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์แค่ว่าทำให้เรารู้จักตัวตนข้างในของเราเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้ได้รู้จักลักษณะของผู้อื่นผ่านการมองโลกอย่างเข้าใจ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี
นอกจากการศึกษาเรื่องของนพลักษณ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่ต่างกันคือเรื่องของ “ซาเทียร์” ซึ่ง อ.ชัยยศ กำลังอธิบายให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ลึกลงไปในจิตใจที่มนุษย์ต่างเฝ้าหาคำตอบนั้น เราสามารถหาคำตอบให้กับความสงสัยด้วยการใช้ “ไอซ์เบิร์ก” เป็นแนวทางในการสืบค้นโลกภายในของแต่ละคนได้
“สำหรับผม ผมรู้สึกว่านอกเหนือจาก “นพลักษณ์” อีกอันหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ “ซาเทียร์” ซึ่งมาจากชื่อของ “เวอร์จิเนียร์ ซาเทียร์” พื้นฐานเขาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เสียชีวิตไปแล้วโดยปีนี้เป็นปีที่มีอายุ 100 ปี เขาทำงานกับครอบครัว ผู้ป่วย คนทั่วไปที่มีปัญหาครอบครัวหรือทางจิต เขาทำงานจนสามารถสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ขึ้นมา
โดย “ไอซ์เบิร์ก” คือเครื่องมือจิตวิทยาบำบัดครอบครัว ใช้เป็นแนวทางในการเข้าใจโลกภายใน ในการสืบค้นโลกภายในของแต่ละคนที่แสดงพฤติกรรมแบบนั้น ว่าเวลาที่ทำพฤติกรรมแบบนี้แล้วเบื้องหลังมันมีความรู้สึกอะไรขับเคลื่อนอยู่ มีความคิด ความเชื่ออะไรกำกับอยู่ มีความคาดหวังอะไรซ่อนอยู่ แล้วเบื้องหลังความคาดหวังอันนั้นลึกๆ เราต้องการอะไร”
อย่างไรก็ตาม นพลักษณ์และซาเทียร์ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยดูแลจัดการชีวิตให้ราบเรียบมากขึ้น ทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ มิตรภาพ ชีวิตครอบครัว รวมไปถึงการทำงานและการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การเข้าใจตัวเองและผู้อื่นอาจเป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้โลกเกิดความสันติสุขได้นั่นเอง
“นพลักษณ์กับซาเทียร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยเราในการดูแลชีวิต ดูแลสัมพันธภาพ ดูแลครอบครัว เพราะว่าสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นและก่อปัญหาคือ เวลาที่เกิดอะไรขึ้นเราจะรีแอค ต่อยมาต่อยไป ด่ามาด่าไป แต่นพลักษณ์กับซาเทียร์มันช่วยให้เรามีความสามารถในการโต้ตอบ โดยการเลือกทำในสิ่งที่ต่างออกไป เพื่อให้เกิดผลลัพท์ที่โอเคมากกว่า”
“4 ท่าที” รับมือกับโลก!
แน่นอนว่าทั้งนพลักษณ์และซาเทียร์มีส่วนที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของการทำให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นสันติสุขที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง รวมถึงสามารถเข้าไปเติมเต็มกันและกันได้อย่างลงตัว ซึ่งหากพูดถึงซาเทียร์ที่มีการใช้ไอซ์เบิร์กในการค้นหาสิ่งที่อยู่ก้นบึ้งภายใน ทำให้พบว่ามนุษย์มีวิธีรับมือกับเรื่องต่างๆ ออกมา 4ท่าทีด้วยกัน
“ซาเทียร์ แนวทางของเขาคือมันเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยให้เราได้เข้าถึงสันติสุขภายในตัวเอง หัวใจของเขาคือการใช้ไอซ์เบิร์กในการที่ให้คนแต่ละคนเข้าใจโลกภายใน โจทย์ใหญ่ของคนเราคือข้างในกับข้างนอกไม่ตรงกัน เราค้นพบว่าคนเราเพื่อที่จะอยู่รอดต้องมีวิธีรับมือกับเรื่องราวต่างๆ ที่เข้ามาหลักๆ 4 วิธีด้วยกัน”
สำหรับรูปแบบการรับมือหรือที่เรียกอีกชื่อว่า “Coping Stance” คือสิ่งที่นำมาประเมินตัวเองและผู้อื่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากกว่าเดิม โดยแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ แต่โดยปกติแล้วคนเราใช้กันแค่เพียง 4 ลักษณะ หรือ 4 ท่าทีเท่านั้น
1. ท่าทีสมยอม เราอยู่ต่ำกว่า ยกตัวอย่างท่าทีสมยอมตัวละครเด่นๆ คือ “อีเย็น” เราด้อยกว่า เป็นการกล่าวโทษตัวเอง เล่นบทเหยื่อ เล่นบทคนที่พร้อมจะแบกรับ เหมือนเป็นท่าทีที่เผชิญโลกโดยการยอม ข้อดีคือทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่น ในครอบครัวจะเห็นว่ามีคนหนึ่งเล่นบทนี้ เพื่อให้ครอบครัวราบรื่นได้
สิ่งสำคัญเลยเขาช่วยให้เกิดความปรองดอง ลดทอนความขัดแย้ง มีความอดทน ลึกๆ มีความเข้มแข็งในการที่จะแบกรับ ลึกๆ มีน้ำใจที่มาก มีความแคร์ เพียงแต่ท่าทีเหล่านี้มันถูกใช้โดยการกดตัวเอง
2. ท่าทีกล่าวโทษ อย่าง “เจ้าคุณ” เป็นท่าทีที่ตัดสินความผิดเป็นของคนอื่น เป็นท่าทีที่คนทำอยู่เหนือกว่า ชี้นิ้ว ท่าทีแบบนี้มันเป็นวิธีรับมือกับโลกแบบหนึ่ง โดยการสร้างความเข้มแข็ง สร้างอำนาจ สร้างความมั่นคงเด็ดเดี่ยว
ขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่คือเป็นคนที่มีพลัง มีความเด็ดขาด เพียงแต่ว่าสิ่งนี้ถูกใช้โดยการไปกดคนอื่น ในทางสร้างสรรค์คนเหล่านี้จะพบว่าทำไมเรามีปัญหาเรื่องสัมพันธภาพ รู้สึกถึงความโดดเดี่ยว ไม่มีใครมาคบหา ท่าทีแบบนี้มันจะขับไล่คนอื่นไปด้วย
3. ท่าทีจอมเหตุผล คือท่าทีของคนที่ใช้เหตุผล-หลักการ ท่าทีแบบนี้คืออยู่กับหลักการ-เหตุผล แต่ไม่เชื่อมโยงกับผู้คนครับ มีผลกระทบคือความแห้งแล้ง สิ่งที่เป็นขุมทรัพย์ซ่อนอยู่คือความมีเหตุมีผล ความหนักแน่น ความสุขุม
4. ท่าทีเฉไฉ คือท่าทีของคนที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย เป็นคนที่สนุกสนานเฮฮา หลีกเลี่ยง เช่น ถามว่าไปไหนมาก็จะสามวาสองศอก ใช้ท่าทีหลีกเลี่ยง หลุดจากกรอบ แต่ข้อดีของท่าทีแบบนี้คือเวลาเครียด ไม่สบาย ไปเที่ยวดีกว่า จากเรื่องหนึ่งมูฟไปอีกเรื่องหนึ่ง มีความคิดสร้างสรรค์ อิสระจากกรอบ มีความยืดหยุ่น
ข้อเสียของคนท่าทีแบบนี้คือไม่เชื่อมโยง ไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่เอาอะไรเลย สิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกๆ คือความเปราะบางมากจนถึงขนาดพูดเรื่องเศร้า หรือแตะเรื่องเจ็บๆ ไม่ได้ หนีอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ซาเทียร์ดีในแง่ที่ว่ามันสามารถทำให้อีกฝ่ายได้เห็นด้านบวกของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นแนวทางอย่างหนึ่งในการทำงานที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย หรือใครที่กำลังมองโลกย่ำแย่ได้เห็นว่ามีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่ในตัวเขาด้วยเหมือนกัน แล้วใช้พลังอันนี้ช่วยฟื้นฟูชีวิตเขาต่อไป