xs
xsm
sm
md
lg

นักโทษชั้นดี “ชนม์สวัสดิ์?”

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา

หลังจากศาลตัดสินจำคุกนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ในความผิดทุจริตการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลจังหวัดสมุทรปราการ ปี 2542 สังคมได้ทำนายไว้ก่อนหน้าแล้วว่า

นักการเมืองผู้กว้างขวางแห่งปากน้ำรายนี้ คงติดคุกไม่ถึง 1 ปี 6 เดือนตามคำตัดสินของศาล และสิ่งที่ทำนายไว้เกือบเป็นจริง เพราะนายวุฒิชัย เจนวิริยะกุล ผู้บัญชาการเรือนจำกลาง จังหวัดสมุทรปราการ มีคำสั่งพักโทษ ทั้งที่เหลือเวลาที่ต้องถูกจำคุกอีก 6 เดือน

นายชนม์สวัสดิ์กำลังจะเดินปร๋อออกจากคุกอยู่แล้ว ถ้าพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่ทักท้วง

การพักโทษเป็นขั้นตอนการปฏิบัติปกติของกรมราชทัณฑ์ แต่การพักโทษให้นายชนม์สวัสดิ์ พล.อ.ไพบูลย์เห็นว่า เป็นขั้นตอนที่ไม่ปกติ จึงชะลอการพักโทษไว้ก่อน

นายชนม์สวัสดิ์ไม่ใช่นักโทษคดีดังคนแรกที่ได้รับการพักโทษ โดยก่อนหน้า ฆาตกรตัวร้ายหลายคนเคยได้รับการลดโทษ พักโทษ หรือแม้แต่ได้รับการขอพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว ทำให้สังคมเกิดความกังขาในหลักเกณฑ์การพิจารณาของกรมราชทัณฑ์

อาชญากรรมใจโหดก่อคดีเหี้ยม นักโทษที่ทำความผิดร้ายแรง ทำไมถูกส่งตัวเข้าคุกแล้วจึงกลายเป็นคนประพฤติดี จนได้รับสิทธิพิเศษติดคุกเพียงไม่กี่ปีก็พ้นโทษ

ผู้พันตึ๋งหรือพ.ต.เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ อดีตผู้นำกลุ่มกระทิงแดง ซึ่งสังหารโหดอดีตผู้ว่าฯ จังหวัดยโสธร ถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษอย่างต่อเนื่อง ในฐานะนักโทษชั้นดี และติดคุกเพียงสิบปีเศษ ก่อนได้รับการพักโทษ

นายศักดิ์ ปากรอ ฆาตกรสังหารครอบครัวบุญทวีอย่างโหดเหี้ยม จับแขวนคอพ่อแม่ลูกรวม 5 ศพเมื่อปี 2540 ถูกศาลตัดสินประหารชีวิต แต่ติดคุกจริงเพียงประมาณ 15 ปี ก่อนพ้นโทษออกมารับใช้ผู้มีอิทธิพลในภาคใต้ และถูกลอบยิงตายเมื่อต้นปี 2558

นายสุรชัย แซ่ด่านหรือด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 7 ปีครึ่ง ในความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรมราชทัณฑ์เสนอขอพระราชทานอภัยโทษ นายสุรชัยจึงติดคุกเพียง 2 ปีเศษ

ความกังขาในการพิจารณาลดโทษหรือพักโทษของกรมราชทัณฑ์เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่เคยมีใครออกมาตั้งคำถาม ไม่เคยมีใครตำหนิ และไม่เคยมีใครเข้าไปตรวจสอบหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์

ข้อสงสัยการรับผลประโยชน์แลกกับการหยิบยื่นอิสรภาพ เป็นคำถามที่ไม่เคยมีใครค้นหาคำตอบจากกรมราชทัณฑ์

พล.อ.ไพบูลย์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนแรกที่ไม่ยอมปล่อยปละละเลย ในความกังขาของกรมราชทัณฑ์ โดยเฉพาะการพักโทษนายชนม์สวัสดิ์ และได้สั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้ดุลพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรปราการแล้ว รวมทั้งจะลดทอนอำนาจผู้บัญชาการเรือนจำในการสั่งพักโทษด้วย

กระบวนการยุติธรรมตามความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ผู้ที่กระทำความผิด เมื่อถูกศาลตัดสินลงโทษ ถือเป็นจุดสิ้นสุด แต่ความเป็นจริงแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายไปจบที่กรมราชทัณฑ์

เพราะศาลทำหน้าที่พิจารณาความถูกผิด และกำหนดบทลงโทษตามความผิดเท่านั้น แต่กรมราชทัณฑ์เป็นผู้บังคับใช้บทลงโทษ

ถ้ากรมราชทัณฑ์ไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา กระบวนการยุติธรรมจะไม่เที่ยงธรรม เพราะผู้กระทำความผิดบางคน ไม่ต้องรับโทษหนักตามคำตัดสินของศาล

โทษประหารชีวิต กรมราชทัณฑ์สามารถปรับลดเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิตได้ และโทษจำคุกตลอดชีวิต ยังลดทอนได้อีก เหลือโทษจำคุก 50 ปี หลังจากนั้นก็ง่ายแล้ว ลดโทษกันต่อไป จนนักโทษที่ก่อคดีร้ายแรงติดคุกกันจริงๆ เพียงไม่กี่ปี

และเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว หลายคนก่อคดีร้ายแรงซ้ำอีก

อาชญากรตัวร้ายๆ ไม่ได้กลัวคุกสักเท่าไหร่ เพราะแม้ถูกตัดสินลงโทษหนัก แต่กรมราชทัณฑ์สามารถช่วยให้โทษหนักกลายเป็นเบาได้

คดีนายชนม์สวัสดิ์เป็นการตอกย้ำถึงข้อสงสัยความไม่โปร่งใสของกรมราชทัณฑ์ จนพล.อ.ไพบูลย์ต้องลงไปผ่าตัดกฎระเบียบภายในคุก เริ่มกันที่คดีนายชนม์สวัสดิ์ โดยหลักเกณฑ์การพักโทษต่อจากนี้ต้องมีความชัดเจน และไม่ปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือ ผบ.เรือนจำเท่านั้น

เพราะจะนำไปสู่การตบทรัพย์นักโทษได้ และเมื่อเงินสามารถซื้ออิสรภาพได้ กระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดจึงล้มเหลวมาตลอด

ต้องช่วยกันส่งกำลังใจให้พล.อ.ไพบูลย์หน่อย เพราะคำสั่งทบทวนการพักโทษนายชนม์สวัสดิ์ เป็นปฏิบัติการชำระล้างความฟอนเฟะที่ซ่อนอยู่ภายในคุก

และจะทำให้คนที่กระทำความผิด ต้องชดใช้กรรมที่ก่อไว้ ไม่สามารถใช้เงินหรืออำนาจฟอกตัวจนกลายเป็นนักโทษชั้นดี ติดคุกไม่กี่ปีก็ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้สังคมอีก

คนกล้าคนตรงอย่างพล.อ.ไพบูลย์ ถ้าได้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาชนคงนอนตาหลับ
กำลังโหลดความคิดเห็น