MGR Online - “พล.อ.ไพบูลย์” ยัน “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” ยังไม่ถูกปล่อยตัว แค่มีชื่อเข้าหลักเกณฑ์การพักโทษ ระบุกรณ๊พักโทษมีปัญหามาตลอด จากนี้ไป ผบ.เรือนจำต้องส่งเรื่องมาให้ปลัดยุติธรรมพิจารณากันข้อครหาใช้อำนาจลดโทษ
วันนี้ (8 ส.ค.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกรณีกระแสข่าวเรือนจำกลางสมุทรปราการปล่อยตัวนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ต้องขังคดีทุจริตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ ปี 2542 ซึ่งต้องโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2558 หลังเข้าเกณฑ์เงื่อนไขการพักโทษว่า สืบเนื่องจากการพักโทษของผู้ต้องขังเป็นขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ราชการ ตนไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง และทราบว่าขณะนี้นายชนสวัสดิ์ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวแต่อย่างใด เพียงแค่มีรายชื่อเข้าหลักเกณฑ์การปล่อยตัวพักโทษเท่านั้น
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า ถ้าจำกันได้ตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม ปัญหาการพักโทษมีมาตลอด โดยทางศาลยุติธรรมอยากให้ทบทวนเรื่องการพักโทษ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมได้ตัดสินคดีความต่างๆ ใช้เวลาค่อนข้างนาน เมื่อตัดสินเรียบร้อยแล้วก็เข้าสู่กรมราชทัณฑ์พร้อมให้อำนาจ ผบ.เรือนจำ พิจารณาลดวันการถูกลงโทษเพื่อให้ผู้กระทำผิดที่อาจไม่ได้ตั้งใจคืนสู่สังคมรวดเร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้อำนาจการปล่อยตัวพักโทษไปสิ้นสุดที่ ผบ.เรือนจำ เพราะมองว่ากระบวนการศาลยุติธรรมที่ไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว
“การมอบอำนาจดังกล่าวให้ ผบ.เรือนจำ ตรวจสอบนั้นเพียงพอต่อการไว้วางใจของประชาชนหรือไม่ บางครั้งมีข้อครหาว่า ผบ.เรือนจำอาจมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะส่วนใหญ่จะประจำในพื้นที่นั้นๆ ทำให้เราต้องป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นจึงได้สั่งการให้นำเรื่องนี้มาทบทวนว่าไม่ควรจบที่ ผบ.เรือนจำ แต่ต้องให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไตร่ตรองอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งต้องใช้ดุลพินิจดูว่าการทำกิจกรรมประโยชน์เพื่อสังคมของผู้ต้องขังคนนั้นๆ มีเหตุผลสอดคล้องเหมาะสมกับการปล่อยตัวหรือไม่ นอกจากนี้ ได้สั่งให้เร่งแก้ไขตัวกฎหมาย พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ให้รอบคอบมากขึ้น“ รมว.ยุติธรรมกล่าว
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตนไม่อยากให้เอาบิ๊กเนมมาเป็นเรื่องที่ไม่ให้ความเป็นธรรมเพราะหากผ่านเกณฑ์ก็ต้องให้โอกาสคืนสู่สังคมและหลังจากนี้จะให้ ปลัดกระทรวงยุติธรรม หรืออธิบดีราชทัณฑ์ ไตร่ตรองอีกชั้นเกี่ยวกับการพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังทุกราย ดังนั้น อยากให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม หรืออธิบดีราชทัณฑ์ เขียนโครงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างชัดเจนว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบ้างและต้องสอดคล้องกัน ปรับให้เหมาะสม มีระบบตรวจสอบเป็นขั้นตอน สังคมสามารถตรวจสอบได้