สั่นสะเทือนคุกทุกแห่ง หลังเกิดกระแสข่าวพักโทษ-ปล่อยตัวอดีตเจ้าพ่อปากน้ำจนกลายเป็นเรื่องดรามาสนั่นโซเชียลฯ แม้ผบ.เรือนจำสมุทรปราการ ออกมายืนยัน ไม่ใช่การพักโทษ เป็นแค่การลดวันต้องโทษ และล่าสุดให้นอนคุกต่อไปแล้ว แต่ก็ถูกตั้งข้อครหาในประเด็นการใช้อำนาจลดโทษ ร้อนไปถึงเจ้ากระทรวงยุติธรรมต้องสั่งการด่วนให้ปลัดกระทรวงฯ ไตร่ตรองอีกชั้นเกี่ยวกับการพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังทุกราย
สะเทือนเรือนจำทั่วประเทศ
เป็นข่าวครึกโครมไปทั้งประเทศ เมื่อมีกระแสข่าวปล่อยตัวตามเงื่อนไขการ "ลดวันต้องโทษ" ของอดีตเจ้าพ่อปากน้ำ "เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ จุดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกโซเชียลฯ โดยเฉพาะการตั้งข้อสงสัยถึงการใช้ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจในเรือนจำแห่งนี้
ล่าสุด ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสมุทรปราการออกมายืนยันว่า ไม่มีการพักโทษ และปล่อยตัวแต่อย่างใด เป็นเพียงการลดวันต้องโทษจำคุกเท่านั้น ส่วนทางด้านเจ้ากระทรวงที่ดูแลเรือนจำ และนักโทษอย่าง "กระทรวงยุติธรรม" ก็ออกมาบอกว่า ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แค่ทราบในเบื้องต้นว่า "นายชนม์สวัสดิ์" ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่มีรายชื่อเข้าหลักเกณฑ์การปล่อยตัวพักโทษเท่านั้น
อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดกรณีนี้ขึ้นมา ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยถึงหลักการใช้ดุลยพินิจของผู้มีอำนาจในเรือนจำแห่งนี้ สะเทือนไปถึงเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศ ร้อนไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต้องสั่งให้ทบทวน โดยตั้งคำถามถึงการมอบอำนาจให้ผบ.เรือนจำเป็นตรวจสอบนั้นเพียงพอต่อการไว้วางใจของประชาชนหรือไม่ เพราะหลังจากที่เข้ามารับตำแหน่ง ปัญหาการพักโทษยังคงมีอยู่ตลอด
"...บางครั้งมีข้อครหาว่า ผบ.เรือนจำอาจมีส่วนเกี่ยวข้องเพราะส่วนใหญ่จะประจำในพื้นที่นั้นๆ ทำให้เราต้องป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นจึงได้สั่งการให้นำเรื่องนี้มาทบทวนว่าไม่ควรจบที่ ผบ.เรือนจำ แต่ต้องให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม หรืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไตร่ตรองอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้น ยังต้องใช้ดุลพินิจดูว่าการทำกิจกรรมประโยชน์เพื่อสังคมของผู้ต้องขังคนนั้นๆ มีเหตุผลสอดคล้องเหมาะสมกับการปล่อยตัวหรือไม่..." เป็นส่วนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ของพล.อ ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่ย้ำให้เห็นถึงการพักโทษของผู้ต้องขังว่าควรได้รับการไตร่ตรองอย่างละเอียด และเมื่อปล่อยแล้วจะกระทบต่อความรู้สึกของสังคมหรือไม่
ดังนั้น เพื่อกันข้อครหาใช้อำนาจลดโทษ จึงสั่งให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมไตร่ตรองอีกชั้นเกี่ยวกับการพิจารณาพักโทษผู้ต้องขังทุกราย ก่อนจะเน้นย้ำให้เขียนโครงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างชัดเจนว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง และต้องสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม มีระบบตรวจสอบเป็นขั้นตอน และสังคมสามารถตรวจสอบได้
ดูชัดๆ ระเบียบการพักโทษ
จากกรณีกระแสข่าวอดีตเจ้าพ่อเมืองปากน้ำถูกปล่อยตัวเพราะเข้าเกณฑ์เงื่อนไขการพักโทษจนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ ร้อนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงกันให้วุ่น ทำให้เรื่องการพักโทษ หรือลดวันต้องโทษเป็นหัวข้อที่หลายคนสนใจ และมาพร้อมความแคลงใจถึงเงื่อนไขความยากง่ายในเรื่องดังกล่าว
สำหรับการ "พักการลงโทษ" นั้น ในเว็บไซต์กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า คือการปลดปล่อยไปก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติที่กำหนด ซึ่งการพักการลงโทษมิใช่สิทธิของผู้ต้องขัง แต่เป็นประโยชน์ที่
ทางราชการให้แก่นักโทษที่มีความประพฤติดี มีความวิริยะ อุตสาหะ ทำความดีความชอบแก่ราชการเป็นพิเศษ
นอกจากนั้นต้องถูกจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษหรือไม่น้อยกว่า 10 ปีสำหรับโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ต้องมารายงานตัวกับกรมคุมประพฤติตามกำหนดเวลาจนครบกำหนดโทษที่เหลืออยู่ ซึ่งหากระหว่างการพักโทษ ผู้ต้องโทษกระทำผิดจะถูกนำกลับมาคุมขังที่เรือนจำต่อไป
ส่วน "การลดวันต้องโทษจำคุก" คือการลดวันต้องโทษจำคุกแก่นักโทษเด็ดขาดที่มีความประพฤติดีในระหว่างต้องโทษในเรือนจำ ซึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือไม่น้อยกว่า 10 ปี ในกรณีที่ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตที่มีการเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกมีกำหนดระยะเวลา ซึ่งนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไปเท่านั้น
- ชั้นเยี่ยม จะได้รับวันลดโทษเดือนละ 5 วัน
- ชั้นดีมาก จะได้รับวันลดโทษเดือนละ 4 วัน
- ชั้นดี จะได้รับวันลดโทษเดือนละ 3 วัน
(เรือนจำจะแบ่งชั้นของผู้ต้องขังออกเป็น 6 ชั้นคือ ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นเลว และชั้นเลวมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติการปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ)
อย่างไรก็ดี ทางเรือนจำจะรวมวันลดโทษสะสมของผู้ต้องขังทุกรายไว้ให้ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการกรมราชทัณฑ์พิจารณาอนุมัติให้ปล่อยตัวเมื่อมีวันลดโทษสะสมเท่ากับโทษที่เหลือ ซึ่งการพิจารณาจะทำทุกเดือนหากไม่ไปกระทำผิดวินัยเสียก่อน สำหรับผู้ที่จะได้รับการปล่อยตัวลดโทษจำคุกเมื่อออกไปทำงานสาธารณะจะได้รับประโยชน์ลดวันต้องโทษจำคุกให้เท่ากับจำนวนวันที่ออกไปทำงาน คือ ออกไปทำงาน 1 วันก็จะได้รับวันลด 1 วัน
เมื่อกลับมาดูกรณีของอดีตเจ้าพ่อเมืองปากน้ำ ผู้ต้องขังคดีทุจริตเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ ปี 2542 ซึ่งต้องโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 ทางด้านผู้บัญชาการเรือนจำกลาง จ.สมุทรปราการ ออกมาเปิดเผยหลังมีกระแสข่าวการปล่อยตัวผู้ต้องขังรายนี้ว่า ไม่ใช่การพักโทษแต่เป็นการลดวันต้องโทษจำคุก โดยผู้ต้องขังได้ทำการยื่นเอกสารขอลดวันต้องโทษ ซึ่งสามารถทำได้ตามระเบียบ แต่เมื่อได้พิจารณาจากการทำกิจกรรมของผู้ต้องขังและเสนอให้กรมราชทัณฑ์พิจารณาแล้ว มีความเห็นสมควรให้รับโทษต่อไปจนครบกำหนดตามคำพิพากษา
แม้ตอนนี้ "อดีตเจ้าพ่อเมืองปากน้ำ" ยังคงต้องนอนคุกต่อไป แต่อย่างน้อยๆ กรณีนี้ก็ทำให้การใช้อำนาจลดโทษถูกนำมาทบทวนใหม่ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อว่า การให้ผู้มีอำนาจระดับกระทรวง หรือกรมราชทัณฑ์ไตร่ตรองอีกครั้งหนึ่งจะช่วยลดข้อครหาเรื่องการใช้อำนาจลดโทษได้หรือไม่
...แต่ที่แน่ๆ ข่าวดีที่ทำคนไทยเฮลั่นไปทั้งประเทศ คงหนีไม่พ้นประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฉบับใหม่ ที่มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ทั้งคดีข่มขืนแล้วฆ่า คดีโทรมหญิง-ชาย และกระทำชำเราเยาวชนต่ำกว่า 15 ปี ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754