ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัปดาห์ที่แล้ว ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกฎกระทรวงแรงงาน รวดเดียว 5 ฉบับ ลงนาม โดยพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
เป็นกฎกระทรวงว่าด้วยการ“ปรับโครงสร้างส่วนราชการ ปี 2559”หลังจากไม่มีการปรับโครงสร้างมาตั้งแต่ ปี 2545 หรือ กว่า 15 ปี ถือเป็นกระทรวงแรกๆที่มีการปรับโครงสร้างใหม่ โดยมีเหตุผลว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการและอํานาจหน้าที่ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้น และเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะทําให้การปฏิบัติภารกิจตามอํานาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
การปรับโครงสร้างครั้งนี้ อาศัยอํานาจตามความใน มาตรา 8 ฉ แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศให้ยกเลิกกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กระทรวงแรงงาน พ.ศ. 2545 ทั้ง 5 ฉบับ และประกาศใหม่อีก 5 ฉบับ ดังนี้
ฉบับแรก เป็นการปรับโครงสร้าง “สํานักงานปลัดกระทรวง”โดยให้มีภารกิจเกี่ยวกับการพัฒนายุทธศาสตร์แปลงนโยบายของกระทรวงเป็นแผนปฏิบัติ จัดสรรทรัพยากร และบริหารราชการประจําทั่วไปของกระทรวงเพื่อการบรรลุเป้าหมายและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของกระทรวง โดยมีการปรับโครงสร้าง 10 หน่วยงานเดิม สังกัดสำนักปลัดฯ (ส่วนกลาง) ขณะที่ส่วนภูมิภาค มี “สํานักงานแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด”เช่นเดิม
โครงสร้างใหม่ ให้มีการจัดตั้ง“ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต”เพื่อทําหน้าที่หลักในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในกระทรวง รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อปลัดกระทรวง
มีอํานาจหน้าที่ เสนอแนะแก่ปลัดกระทรวง เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัด รวมทั้งจัดทําแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เสนอต่อปลัดกระทรวง ประสานงาน เร่งรัด และกํากับให้ส่วนราชการในสังกัดดําเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ของเจ้าหน้าที่ในส่วนราชการ และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน ประสานงาน เร่งรัด และติดตามเกี่ยวกับการดําเนินการและร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามประเมินผล และจัดทํารายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการในสังกัดและการคุ้มครองจริยธรรม เสนอต่อปลัดกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ฉบับที่สอง “กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการจัดหางาน”มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมการมีงานทําและคุ้มครองคนหางาน โดยการศึกษา วิเคราะห์สภาวะตลาดแรงงาน และแนวโน้มตลาดแรงงาน เป็นศูนย์กลางข้อมูลตลาดแรงงาน รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมระบบการบริหารด้านการส่งเสริมการมีงานทํา เพื่อให้ประชากรมีงานทําที่เหมาะสมกับความรู้ ความสามารถและความถนัด และไม่ถูกหลอกลวง ตลอดจนได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมและเป็นธรรม
มีการแบ่งส่วนราชการกรมการจัดหางาน ในส่วนกลาง 16 หน่วยงานเดิม รวมสํานักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 และส่วนภูมิภาค มี “สํานักงานจัดหางานจังหวัด 76 จังหวัด”เช่นเดิม โดยมีอํานาจหน้าที่ ปฏิบัติการและประสานงานที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของกรมในเขตพื้นที่จังหวัด รายงานผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย แผนงาน และโครงการต่อกรมและจังหวัด และปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ฉบับที่สาม “กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานและศักยภาพของกําลังแรงงานและผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้กําลังแรงงานมีฝีมือได้มาตรฐานในระดับสากลมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ พัฒนาประสิทธิภาพของผู้ประกอบกิจการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และควบคุมกํากับดูแลการประกอบอาชีพที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องใช้ผู้มีความรู้ความสามารถ
มีหน่วยงานใน กำกับ 33 หน่วยงานเดิม รวมถึง สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1-25 สํานักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก สํานักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน
ฉบับที่สี่ “กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน” มีภารกิจเกี่ยวกับการกําหนดมาตรฐานแรงงานการคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน การแรงงานสัมพันธ์ การแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และการสวัสดิการแรงงานโดยการพัฒนามาตรฐาน รูปแบบ กลไก มาตรการ ส่งเสริม สนับสนุน และแก้ไขปัญหา เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการค้าและพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
โดยส่วนกลาง มีหน่ยวงานในกำกับ 15 หน่วยงานเดิม รวมถึง สํานักพัฒนามาตรฐานแรงงานสํานักแรงงานสัมพันธ์ และสํานักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 และ ส่วนภูมิภาค มี “สํานักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด”
ฉบับที่ห้า “กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสํานักงานประกันสังคม”มีภารกิจเกี่ยวกับการบริหารการประกันสังคมและเงินทดแทนโดยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดํารงชีวิตที่มั่นคง
สํานักงานประกันสังคม ในส่วนกลาง ยังกำกับ 30 หน่วยงานเดิม รวมกับ สํานักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 12 สํานักเงินสมทบ และ สํานักจัดระบบบริการทางการแพทย์
โดยโครงสร้างใหม่ จะมี“ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 1-5” ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด มีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 1. ดําเนินการเกี่ยวกับการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทํางานแก่ผู้ประกันตนและลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน รวมทั้งด้านการแพทย์ สุขภาพจิตอาชีพ และสังคม และ 2. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
นอกจากนี้ ในส่วนภูมิภาค“สํานักงานประกันสังคมจังหวัด”ในโครงสร้างใหม่ ในสํานักงานประกันสังคมจังหวัดอาจให้มี “สํานักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา”ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานของสํานักงานประกันสังคมจังหวัด โดยเป็นส่วนราชการที่ไม่มีฐานะเทียบกอง
ขณะที่“สํานักงานประกันสังคมจังหวัด”ในโครงสร้างใหม่ มีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 1. ดําเนินการเกี่ยวกับการให้บริการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กฎหมายว่าด้วย เงินทดแทน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 2. กํากับดูแล ให้คําปรึกษา และสนับสนุนการปฏิบัติงานของสํานักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา 3. รายงานการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย แผนงาน และโครงการต่อสํานักงานแรงงานจังหวัด 4. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ในกรณีที่มีการจัดตั้ง“สํานักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา”ขึ้นในจังหวัดใด ให้สํานักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา มีอํานาจหน้าที่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้ 1. ดําเนินการเกี่ยวกับการให้บริการตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง 2.รายงานการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย แผนงานและโครงการต่อสํานักงานประกันสังคมจังหวัด 3. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
โดยกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับนี้ เป็นการปรับโครงสร้างใหม่ ของ 4 กรม 1 สำนักปลัดฯ ในสังกัดกระทรวงแรงงานที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 22 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา.