หลังจาก “แทงกั๊ก” มานาน ในที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ประกาศจุดยืนออกมาแล้วว่าจะ “กาโน” ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “ร่างทรงคสช.” ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานยกร่าง
แม้นายอภิสิทธิ์ จะอ้างว่าไม่ใช่เป็นมติพรรค เพราะไม่สามารถประชุมพรรคได้ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดยืนของพรรค เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ จดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่ที่ทำการพรรค แถลงในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และยังบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่า พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยวิถีอันบริสุทธิ์ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตต่อประชาชน พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิถีแห่งเผด็จการ
แน่นอนว่า การประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของนายอภิสิทธิ์ครั้งนี้ ย่อมส่งผลกระทบทางการเมืองในลักษณะสองขั้วชัดเจนขึ้น ทั้งในภาพกว้าง และภายในพรรคประชาธิปัตย์เอง
ในภาพกว้าง เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะถูกเหมารวมไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนเสื้อแดงของระบอบทักษิณ ที่ประกอบไปด้วย นักการเมืองพรรคเพื่อไทย กลุ่มนปช. ที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ยังยกร่างไม่เสร็จ เพราะเห็นว่าเป็น “ผลไม้พิษ” รวมทั้งกลุ่มนักวิชาการ นักศึกษา ที่ออมาเคลื่อนไหวในนามกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่สรุปว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คสช. หนำซ้ำยังใช้ อำนาจเผด็จการ จำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนการลงประชามติ แบบมัดมือชก
ส่วนภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการแบ่งขั้วกันอยู่แล้วในหมู่แกนนำพรรค เป็นสาย “อภิสิทธิ์-ชวน-บัญญัติ” กับสาย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำกลุ่ม กปปส. ซึ่งก่อนหน้านี้ คนในพรรคยังพยายามบอกว่า แม้จะมีความเห็นทางการเมืองต่างกันบ้าง แต่พรรคยังมีความเป็นเอกภาพ
แต่หลังจากนายอภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนเช่นนี้ ขั้วภายในพรรค ก็จะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น นักการเมืองและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะแตกเป็นสองกลุ่ม รวมทั้ง “แฟนคลับ” ของนายอภิสิทธิ์ กับของนายสุเทพ ก็จะแตกเป็นสองกลุ่มเช่นกัน
ต่อไปนี้ เลิกพูดได้เลยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังมีความเป็นเอกภาพ
ขณะเดียวกันใน “ส่วนตัว” ของนายอภิสิทธิ์เอง ก็ต้องบอกว่า งานนี้กระทบกับ “ภาพลักษณ์” และ “คะแนนนิยมทางการเมือง” รวมทั้ง “ความเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” อยู่ไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ประสบความสำเร็จในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เท่าใดนักแม้จะสามารถก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “ภาคใต้” ที่ “เสียงยี้” ดังกระหึ่มทั่วทั้งแผ่นดินด้ามขวานกับท่าทีของนายอภิสิทธิ์ และนั่นย่อมสะเทือนถึงพรรคประชาธิปัตย์ในภาพรวมด้วย
เมื่อนายอภิสิทธิ์ประกาศไม่รับ ก็ย่อมมีคนจำนวนไม่น้อยเหมารวมว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่แตกต่างกับพรรคเพื่อไทย นอกจากจะไม่ได้คะแนนเพิ่มจากมวลชนเสื้อแดงแล้ว ยังต้องเสียคะแนนจากมวลชน กกปส.จำนวนมากที่เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และอาจทำให้หลายคนยิ่งมีความรู้สึกสิ้นหวังกับนักการเมืองและพรรคการเมืองมากขึ้นก็ได้
ที่สำคัญคือ นับจากนี้ไปความสัมพันธ์ระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนายสุเทพก็จะยิ่งเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบกันได้ เพราะในวันรุ่งขึ้นหลัง “เดอะมาร์ค” ยกแม่น้ำทั้ง 5 ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้มีบารมีตัวจริงในพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้เผยแพร่ภาพสดผ่านเฟซบุ๊กตอกย้ำจุดยืนอีกครั้ง ซึ่ง แม้จะไม่ชัดแจ้งว่ามีเจตนากระทบถึงใคร แต่สังคมย่อมรู้ว่า หมายถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“การไปลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค.เป็นการทำหน้าที่ของประชาชนผู้รักชาติ เพราะถือว่าบ้านเมืองนี้ประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่บ้านเมืองของนักการเมือง พรรคการเมือง ไม่ใช่ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ผมยอมรับว่าเห็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้นักการเมืองหลายคนแสดงความเห็นแก่ตัว ใจแคบ คิดเอาแต่ประโยชน์เฉพาะหน้าในทางการเมือง ไม่แสดงความรับผิดชอบถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมืองในวันข้างหน้า แต่ประชาชนอย่างพวกเราไม่ได้สนใจประโยชน์ทางการเมือง เราไม่ได้ทำเพื่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ไม่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมือง พรรคการเมืองไหนทั้งสิ้น
“สิ่งที่เราต้องคำนึงคือประเทศไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เราบอกตัวเองตลอดเวลาเรารักประเทศไทยมากกว่าความรักที่จะมอบให้กับพรรคการเมืองพรรคไหน นักการเมืองคนใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นวันนี้ผมให้คุณค่าความสำคัญกับประเทศไทยมากกว่าที่จะให้ราคากับนักการเมืองคนไหน พรรคไหนทั้งสิ้น การไปลงประชามติ ผมถือว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะได้กำหนดอนาคตกันด้วยมือของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศและเป็นวาระแห่งชาติ ผมจะไปลงประชามติรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะต้องเป็นการตัดสินใจที่สวนทางกับบรรดานักการเมืองหลายพรรค แต่ถือว่าประโยชน์ของชาติเหนือกว่าสิ่งใดทั้งสิ้น”
นายสุเทพประกาศเจตนารมณ์เคียงข้างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ด้วยวาทกรรมที่นายอภิสิทธิ์ต้องเจ็บและจำไปอีกนาน
ในการประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ใช้ความพยายามอย่างมากในการอธิบายถึงเหตุผล และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงเนื้อหาที่เป็นอุปสรรคของนักการเมืองที่จะเข้าสู่อำนาจ โดยเฉพาะเรื่อง กติกาการเลือกตั้ง การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีคนนอก และการที่ให้ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กับ ส.ส. แต่จะเลือกพูดถึงการเสียประโยชน์ของประชาชน ในด้านสิทธิ เสรีภาพ เพื่อรักษาภาพ “หล่อ”
โดยบอกว่า ที่ไม่รับ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่สามารถตอบโจทย์ประเทศไทยได้ ซึ่งโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย ในมุมมองของนายอภิสิทธิ์ มี 3 ข้อ คือ ปัญหาทิศทางการพัฒนาประเทศให้ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และ ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ที่กัดกร่อน ทำลายชาติ
นายอภิสิทธิ์ ได้ขยายความว่า รัฐธรรมนูญ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในปัจจุบัน จะต้องอาศัยหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางประเทศ และได้รับการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการ เพื่อเป็นหลักประกันว่า คนที่อ่อนแอ ด้อยโอกาส และคนยากจน จะได้รับการยกระดับความเป็นอยู่ ซึ่งจะทำให้ประเทศ และเศรษฐกิจในภาพรวมมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน มีการกระจายอำนาจที่แท้จริง รวมทั้งมีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และทางสังคม ป้องกันมิให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจในทางไม่ชอบ โดยเฉพาะการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งเป็นตัวทำลายเศรษฐกิจ สังคม และ การเมืองของไทย
นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า บทบัญญัติในหมวดสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถดถอยไปจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 อีกทั้งยังไปเพิ่มบทบาท และอำนาจ ให้กับระบบราชการ ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลในอนาคต ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศ และประชาชนได้ เรื่องกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล และแก้ไขความขัดแย้งในสังคม ถูกวางน้ำหนักไปที่บทบาทของวุฒิสภา ที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มคู่ขัดแย้งในระบบการเมือง มากกว่าการแก้ปัญหา ยิ่งบทบัญญัติที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้ไขได้ยาก ก็จะยิ่งเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งในอนาคต ที่ไม่ต่างจากความขัดแย้งที่ผ่านมาในอดีต
ส่วนการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน นายอภิสิทธิ์ เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษ และการเข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต แต่ก็ยังเห็นว่า กลไกสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน คือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กลับมีบทบัญญัติที่ทำให้ขาดความเป็นอิสระและอ่อนแอลง โดยเฉพาะการให้อำนาจประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สังกัดพรรครัฐบาลใช้ดุลพินิจในกระบวนการตรวจสอบ ป.ป.ช. และการลดเงื่อนไขให้มีการอุทธรณ์ในคดีทุจริตของนักการเมืองได้ง่ายขึ้น โดยการอุทธรณ์นั้นจะมีการดำเนินการโดยองค์คณะใหม่ แทนที่จะเป็นที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเหมือนในอดีต
กลไกปราบปรามการทุจริตที่อ่อนแอลงนี้ นายอภิสิทธิ์ เห็นว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์ที่เห็นได้ชัดก็คือ พวกจำเลยในคดีทุจริตจำนำข้าว
“ดังนั้นโจทย์ทั้งสามข้อที่ใช้เป็นเกณฑ์ จึงให้คำตอบว่า ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่มีประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้ง หรือพรรคการเมือง แต่ไม่รับเพราะไม่ตอบโจทย์ประเทศ ไม่สามารถเป็นกติกาถาวรให้ประเทศไทยก้าวพ้นปัญหาเดิมๆได้ และไม่อาจรับร่างได้ เพียงเพราะกลัวว่าจะได้สิ่งที่แย่กว่า ผมมองว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ประเทศก็ยังมีโอกาส จึงอยากชักชวนให้พิจารณาเนื้อหา สาระ ไม่ใช่ลงมติเพราะเชียร์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และไม่ยอมให้ใครเอาเงื่อนไขว่า รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แล้วมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ตรงข้ามผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่จะสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำในการจัดทำรรัฐธรรมนูญใหม่ ตามโรดแมปที่กำหนดไว้ เพราะเป็นผู้รับผิดชอบบ้านเมือง โดยเสนอให้นำเอารัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 เป็นหลัก”
นายอภิสิทธิ์ ยังทิ้งทายว่าในเชิงปกป้องตัวเองว่า อย่าได้เหมารวมให้เขาไปอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนในระบอบทักษิณ เพราะการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีความต้องการที่จะขัดแย้งกับใคร ไม่ว่าจะเป็น ทหาร นักการเมือง องค์กรภาคประชาชน หรือนักวิชาการ แต่ยึดอนาคตของประเทศเป็นที่ตั้ง และ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่มีวันไปสมคบกับกลุ่มนักการเมืองที่เคยโกงชาติ หรือคิดที่จะโกงชาติต่อไปในอนาคต โดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ในมุมของของ คสช. คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกลุ่ม กปปส. และแฟนคลับในสายนี้ ที่มีจุดยืน รับร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า พวกเขาไม่ต้องการรัฐธรรมนูญ ที่เป็น “ประชาธิปไตยจ๋า” แบบโลกตะวันตก แต่ต้องการรัฐธรรมนูญ ที่ถอดบทเรียนในอดีต เพื่อแก้ปัญหาของประเทศไทย ที่มีความขัดแย้ง ร้าวลึกในช่วง10 กว่าปีที่ผ่านมา จากปัญหาความฉ้อฉล การใช้อำนาจโดยมิชอบของนักการเมืองเสียงข้างมาก ที่นำประเทศไปสู่หายนะ ทั้งการทุจริตขนาดใหญ่ เช่น การจำนำข้าว การฆ่าตัดตอน การนิรโทษกรรมเหมาเข่ง รวมถึงการก่อความรุนแรงฝ่ายเดียว ทำให้กฎหมายไร้สภาพบังคับ จนรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 กลายเป็นรัฐล้มเหลว จึงต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มองไปที่อนาคตของประเทศ ด้วยการกำหนดการปฏิรูปอย่างรอบด้าน วางขั้นตอน กำหนดวิธีการ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และตราเป็นกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไป บิดพลิ้วไม่ได้
เหนืออื่นใด ก็คือ เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว จะไม่เห็นพวกนักการเมืองโกงชาติ เข้ามามีอำนาจอีกต่อไป
แน่นอน งานนี้ พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดงคงดีใจที่ได้นายอภิสิทธิ์เข้ามาร่วมวง “กาโน” เพราะปรารถนาที่จะคว่ำรัฐบาล คสช.ผ่านการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่แล้ว
กระนั้นก็ดี ก็มิได้หมายความว่า การทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญครั้งจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับรัฐบาล คสช.เลยแม้แต่น้อย เพราะทันทีทีนายอภิสิทธิ์เลือกเป็น “มิสเตอร์กาโน” คะแนนเสียงตีกลับก็พลิกไปอยู่ที่รัฐบาล คสช.ทันที
ตรรกะของผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้จำนวนไม่น้อยมีความเห็นตรงกันว่า ถ้านักการเมืองไม่รับร่าง แสดงว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดี กระแสเกลียดนักการเมืองจึงยิ่งพุ่งสูงขึ้นกระทั่งนำไปสู่การตัดสินใจแบบปัจจุบันทันด่วนว่า วันที่ 7 สิงหาคมนี้จะไป “กาเยส” รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยที่ไม่ต้องอ่านกันเลยทีเดียว ซึ่งก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่
ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า...
“ไม่ต้องเตรียมแผนอะไร ซึ่งหากประชามติไม่ผ่านก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เลือกตั้งได้ ส่วนกลไกจะดำเนินการก็ว่ามา ...คนพวกนี้มีกี่คน 20- 30 -10 แล้วคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไปมีกี่คน เกือบ 30 ล้าน ประชาชนจะให้เขานำผิดนำถูกก็แล้วแต่ ประชาชนเป็นคนเลือกต้องเรียนรู้ เอาอย่างนี้ผมพูดอะไรไม่ได้ เดี๋ยวจะกลายเป็นล็อกนู่นนี่อีก ขอให้ไปดูว่าก่อน 22 พ.ค. 2557 มันมีอะไรอยู่ แล้วจะต้องการให้เกิดขึ้นในเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ไปคิดเอา นั่นล่ะคือคำตอบของผม”
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฟันเปรี้ยงลงไปเช่นกันว่า “คนรักพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่ได้คิดแบบนายอภิสิทธิ์ ทั้งหมด เพราะเรื่องเหล่านี้ไปบังคับใครไม่ได้”
ที่สำคัญคือ ถ้าจะว่าไปแล้ว ผู้คนก็ฟันธงเปรี้ยงไปแล้วว่า ไม่ว่าผลประชามติออกมาทางใด รัฐบาล คสช.ก็จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป และการทำประชามติก็เป็นเพียง “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งซึ่งนอกจากจะไม่ได้เกิดประโยชน์แล้ว ยังทำให้เสียเงินเสียทองที่มาจากภาษีของประชาชนอีกต่างหาก
ส่วนถามว่าจะ “อยู่ยาว” แค่ไหน และเป็นไปตามโรดแมปหรือไม่นั้น คำตอบอยู่ในสายลม
แต่ที่แน่ๆ คงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า ในวันนี้ “พรรคประชาธิปัตย์แตกเป็นเสี่ยงๆ” แล้วละครับพี่น้องเอ๊ย....