xs
xsm
sm
md
lg

"ทำหมันแมลง" อนาคตไทย แมลงหมดไร่ ยุงหมดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แมลง จัดเป็นสัตว์ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านการเกษตร สร้างความเสียหายต่อพืชผลการเกษตร ส่วนยุงก่อให้เกิดโรคติดต่อ ทั้งไข้เลือดออก มาลาเรีย ส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยในแต่ละปีเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสร้างความรำคาญให้กับชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมากอีกด้วย

เทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ "การทำหมันแมลง" (Sterile Insect Technique, SIT) จึงเป็นทางเลือกของเกษตรกรในการแก้ไขปัญหา เพราะสามารถควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพยั่งยืน มีความเฉพาะเจาะจงต่อศัตรูพืช ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเทคนิคการทำหมันแมลงจะเน้นการควบคุมที่มีผลกระทบเฉพาะการแพร่ขยายพันธุ์ของแมลงศัตรูพืช และยุงในสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นแมลงสายพันธุ์เดียวกัน

"การทำหมันแมลง" (Sterile Insect Technique, SIT) อาศัยหลัก "การคุมกำเนิด" แมลง และยุงทุกตัวทั้งตัวผู้และตัวเมียจะผ่านการฉายรังสีโคบอลต์ -60 ทำให้สเปิร์มหรือเชื้อเพศผู้ถูกทำลาย ไข่และรังไข่ของตัวเมียก็ถูกทำลายหมดเมื่อนำแมลงและยุง ที่เป็นหมันไปปล่อยและเกิดการผสมพันธุ์กับแมลงและยุงในธรรมชาติ ไข่จะไม่ฟักเป็นตัวหนอน หากมีการปล่อยแมลงและยุงที่เป็นหมันอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประชากรแมลงและยุงลดจำนวนลงได้หรือหมดไปในที่สุด



การทำหมันแมลง

โดยวิธีทำหมันด้วยรังสีโคบอลต์ -60 เป็นการควบคุม และกำจัดแมลงเฉพาะชนิด ไม่มีผลต่อแมลงชนิดอื่นที่เป็นประโยชน์ เช่น ผึ้ง ผีเสื้อ และแมลงปอนอกจากนี้ยังเป็นเทคโนโลยีที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดการแมลงศัตรูพืชทั่วโลก นอกจากจะช่วยในการควบคุมปริมาณศัตรูพืชชนิดต่างๆ แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนของสารเคมีที่ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนในการผลิต การส่งออก สุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันตลาดโลกสูงขึ้นทุกวัน จึงต้องเน้นคุณภาพของผลผลิต ดังนั้น กล่าวได้ว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่สำคัญในการพัฒนาการเกษตรของไทยอย่างแท้จริง


สำหรับปัญหาด้านยุงชนิดต่างๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านโรคภัยไข้เจ็บ และสุขภาพ ได้แก่ ไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ที่ยังคงอยู่ในสังคมไทย และคร่าชีวิตจำนวนผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก หากได้มีการนำฉายรังสีโคบอลต์ -60 ในการทำหมันยุง จะเป็นการลดปัญหาโรคติดต่อปัญหาจากยุงได้เป็นอย่างดี ซึ่งการตัดวงจรชีวิตของยุงถือเป็นสิ่งที่จำเป็น และเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ "การทำหมันแมลง" (Sterile Insect Technique, SIT) คือคำตอบ หากได้รับการพัฒนาส่งเสริมอย่างเป็นระบบ และมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง


"การทำหมันแมลง" (Sterile Insect Technique, SIT) ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเพื่อการส่งออก เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อิสราเอล จอร์แดน ซีเรีย เม็กซิโก กัวเตมาลา อาร์เจนตินา ชิลี โมร็อกโก ตูนิเซีย คอสตาริกา ฟิลิปปินส์ อียิปต์ บราซิล แอฟริกาใต้ และสเปน เป็นต้น โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาใต้ และแอฟริกาได้มีการดำเนินการเพื่อขยายขอบเขตการควบคุมแมลงวันผลไม้ด้วย SIT ให้เป็นโครงการระดับภูมิภาค


เครื่องฉายรังสีแกมมา

ปัจจุบันประเทศไทยได้ทำการศึกษา วิจัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ ในรูปแบบของเทคโนโลยีนิวเคลียร์ทำหมันแมลง ให้ตอบโจทย์และเป็นที่ยอมรับในประเทศมากขึ้น เทคโนโลยีนิวเคลียร์จะเข้ามาเป็นตัวเลือกในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผู้ป่วย ชีวิตของประชาชนมากขึ้นในงานด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านการศึกษา ตลอดจนส่งผลต่อภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศในอนาคต

การศึกษา และงานวิจัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์สามารถนำไปปรับให้เข้ากับภาคธุรกิจ การแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเป็นอย่างมาก และในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเป็นเจ้าภาพจากเวทีโลกในการประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หรือ INST 2016


ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากทั้งประเทศไทยและทั่วโลกมารวมตัวกันกว่า 500 คน โดยจะมีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation รวมทั้งสิ้น 133 ผลงาน จากนักวิจัย นักวิชาการ มากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

อาทิ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เมียนมาร์ แอฟริกาใต้ สวีเดน เป็นต้น และเป็นการเปิดโอกาสแสดงถึงศักยภาพของผลงานด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ "การประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ หรือ INST 2016 เน้นด้าน Health and Environment โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 6 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมเซ็นทาราแรโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว” กับการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ไทยให้ตอบโจทย์ประเทศไทยและสังคมโลกในอนาคต




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น