xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเส้นทางของพี่ใหญ่หลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”

นอกจากเราคาดเดากันว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่แล้ว เราต่างคาดหวังกันว่าการเมืองหลังกลับไปสู่การเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราคงจะปฏิเสธวันนั้นไม่ได้ แม้ว่าหลายคนจะเชียร์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาลทหารอยู่ไปนานๆ ก็ตาม

พล.อ.ประยุทธ์ก็รู้ว่าเขาอยู่เกินโรดแมปไปกว่านั้นไม่ได้จึงย้ำเรื่อง โรดแ มปอยู่ ตลอดเวลาว่าถึงเวลานั้นก็จะไป ลักษณะการพูดจาย้ำแล้วย้ำอีกของ เขาชัดเจนว่าไม่มีมีความ ทะเยอทะยานทางการเมืองอยู่อีก แต่ถ้าถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คิดอย่างไร หลายคนต้องเชื่อแน่ว่าเขายังมีความทะเยอทะยานทางการเมืองอยู่

พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ของคสช.วันนี้นั้นเข้าสู่การเมืองมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร แม้จะเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่จริงๆ แล้วพล.อ.ประวิตรมีชื่อจะเป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีมาแล้วตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย เพราะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองกลุ่มเนวิน ชิดชอบ ที่เข้าร่วมรัฐบาลเลือกตั้งมาทุกสมัย

ว่ากันว่าวันนี้บ้านที่ลาดพร้าว 71 ของพล.อ.ประวิตรนั้นคลาคล่ำไปด้วย ผู้คนที่เบียดขับรัศมีของบ้านสี่เสาที่ตะวันกำลังตกดิน

แต่ พล.อ.ประวิตรจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งที่ตัวเองคาดหวังหรือไม่นั้น ต้องดูเส้นทางที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ปูเอาไว้ มาดูกันว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านแล้วจะเป็นอย่างไร

อย่าลืมว่า การทำประชามติครั้งนี้มีคำถามพ่วงซึ่งถือเป็นกลเม็ดสำคัญของการเข้าสู่อำนาจก็คือ การถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

แปลเป็นไทยก็คือว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ ส.ว.มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติคำถามพ่วงก็น่าจะผ่านด้วย

ส่วนที่มาของวุฒิสภานั้นบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เขียนไว้ว่า มาตรา ๒๖๙ ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ ซึ่งถ้า ส.ว.สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ตามคำถามพ่วง เสียงของ ส.ว.250 คนก็จะกลายเป็นพรรคใหญ่ที่แท้จริงในสภาที่จะกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี

เมื่อ ส.ว.250 คนรวมกันส.ส.500 คน เสียงกึ่งหนึ่งต้องมีถึง 375 เสียง ใครจะได้เสียงข้างมากต้องมี 376 เสียงเป็นต้นไป ซึ่งยากมากที่พรรคการเมืองไหนจะทำได้ แม้พรรคเพื่อไทยของทักษิณจะได้เสียงข้างมากมาตลอด แต่ต่อให้ได้เสียงเกินครึ่งของเก้าอี้ส.ส.ก็กำหนดตัวนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ดังนั้นใครจะเป็นนายกฯพรรคไหนจะเป็นรัฐบาลจึงอยู่ที่การยกมือของ ส.ว.เป็นหลัก

ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เป็น 2 ขั้นคือ ขั้นแรกให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อคนที่เห็นควรเป็นนายกรัฐมนตรีได้พรรคละ3ชื่อ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคนที่ถูกเสนอชื่อด้วยตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง แล้วในขั้นแรกให้สภาเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่แต่ละพรรคเสนอขึ้นมาเท่านั้น แต่ต้องเป็นพรรคที่มีเสียงตั้งแต่ 25 เสียงเป็นต้นไปจึงจะมีสิทธิ์

ต้องจับตาดูนะครับว่า ถ้า พล.อ.ประวิตรจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะมีพรรคการเมืองไหนเสนอรายชื่อขึ้นมาตั้งแต่ต้นหรือไม่ แต่อย่าลืมว่า พล.อ.ประวิตรนั้นมีความสนิทสนมกับพรรคของเนวินอยู่แล้ว ยังไม่รวมถึงที่ลือกันว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพล.อ.ประวิตรกำลังเดินสายเพื่อตั้งพรรคการเมืองใหม่

แต่ถ้าไม่มีการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองก็ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีจากช่องทางนี้ได้ต้องเลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนออย่างเดียว

ส่วนถ้าเลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ว่า กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ไม่ว่าด้วยเหตุใด ร่างรัฐธรรมนูญจึงจะเปิดช่องให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตีคนนอกเข้ามาได้

จะเห็นว่า ถ้าจะปิดทางช่องทางแรกของเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้นง่ายมาก แค่ให้ 250 ส.ว.งดออกเสียงก็จบแล้ว เพราะยากที่ใครจะได้เสียงถึง 376 เสียง เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะต้องมาใช้ช่องที่ 2 คือ เสนอนายกฯคนนอกเข้ามาได้

แต่การเสนอนายกฯ คนนอกโดยไม่เอาชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก็มีเงื่อนไขอีกว่า ส.ส.จำนวน 500 คนต้องเข้าชื่อกันเกินกึ่งหนึ่งคือ 251 คนขึ้นไปเสนอขอยกเว้นไม่ต้องเสนอตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ แล้วเมื่อ ส.ส.เข้าชื่อกันเกิน 251 คนแล้ว ประธานรัฐสภาก็จะเรียกประชุมร่วมให้รัฐบาลมีเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3(ของ750คนส.ว. 250+ส.ส.500)ขอให้ยกเว้นให้คนนอกเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ถ้าจะบอกว่าเส้นทางของนายกฯคนนอกไม่ได้มาง่ายๆก็น่าจะใช่ ในกรณีที่เขาไม่เกี้ยเซียะกับพรรคเพื่อไทยคือไม่เอาพรรคเพื่อไทยแน่ แล้วเกิดพรรคเพื่อไทยเขามีเกิน 251 คนก็ผ่านด่านนี้ยากจบข่าวเลย แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยได้ไม่ถึงครึ่งก็ง่ายขึ้นโดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรสำคัญ แต่การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรถึงวันนั้นเขาอาจคุยกันได้หมดแล้วผสมพันธุ์กันลงตัวก็ได้

ซึ่งคงต้องจับตาว่า ถ้า พล.อ.ประวิตรจะก้าวสู่ตำแหน่งนี้ เขาจะยอมให้ถูกเสนอชื่อมาตั้งแต่ช่องทางแรก หรือจะเข้ามาเสียบในช่องทางหลัง

แต่ถามว่าหลังได้อำนาจแล้วจะปกครองได้ไหมนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ แม้จะพึ่งเสียง ส.ว.ให้ได้เก้าอี้นายกฯ แต่ถ้าจะบริหารให้ราบรื่นพี่ใหญ่ต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ข้างมากในสภาให้ได้ ซึ่งเดาว่าพรรคของทักษิณต้องได้เสียงข้างมากแน่ๆแต่จะเกินครึ่งหรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าพรรคของทักษิณได้ไม่เกินครึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาที่รวบรวมพรรคเล็กพรรคน้อยซึ่งหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์น่าจะมาเป็นที่ 2 ต้องเอาด้วย

แล้วถ้าได้เก้าอี้นายกฯโดยพึ่งเสียง ส.ว.แต่ไม่ได้เสียงข้างมากในสภาล่างล่ะ ก็จะปกครองยากเพราะจะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยทันที เวลาถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เป็นเรื่องของสภาล่างไม่สามารถพึ่งเสียง ส.ว.ได้ หรือจะผ่านกฎหมายใดๆในสภาล่างถ้าฝ่ายค้านไม่เอาด้วยก็จะทำได้ยาก เสถียรภาพรัฐบาลก็จะไม่มี

ที่สำคัญ พล.อ.ประวิตรไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แม้แต่ตอนนี้คนที่สนับสนุนรัฐบาลทหารก็เพราะเขาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร นั่นคือพล.อ.ประวิตรแทบจะไม่มีความนิยมและความไว้วางใจเลย แม้ว่าการกุมอำนาจภายในรัฐบาล คสช. พล.อ.ประวิตรจะมีอิทธิพลเหนือ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม

ดูเหมือนเส้นทางสู่อำนาจของพี่ใหญ่หลังเลือกตั้งจะถูกปูไว้แล้ว แต่จะเป็นจริงมั้ยหรือเป็นจริงแล้วจะอยู่ในอำนาจหรือรักษาอำนาจไว้ได้หรือไม่นั้นไม่ง่ายเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น