xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อประยุทธ์ขัดใจพี่ใหญ่ คสช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หนึ่งความคิด
โดย...สุรวิชช์ วีรวรรณ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 40/2559 กลายเป็นการปลดชนวนความขัดแย้งครั้งใหญ่ เมื่อมีคำสั่งให้งดการสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการสิทธิมนุษยชนแทนคนเก่าที่หมดวาระหรือพ้นจากตำแหน่งไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่

เป้าหมายก็คือ การยับยั้งการเลือกผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่แทน อาจารย์ศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่กำลังหมดวาระและกำลังมีปัญหานั่นเอง

การออกคำสั่งฉบับที่ 40 แสดงว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับรู้ถึงปัญหานี้และรู้ว่าถ้ายังปล่อยให้การสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินคนใหม่เดินหน้าต่อไป ความขัดแย้งก็จะขยายวงงานเดียวอาจทำให้ สนช.แตกดังโพละ จากเรื่องที่สังคมกำลังตั้งคำถามว่าทำไม นพ.เรวัต วิศรุตเวช อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ ที่ได้ สนช.เคยมีมติไม่เห็นชอบในตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินไปแล้วจึงถูกเสนอชื่อกลับมาให้สนช.ลงมติอีกหน

โดยครั้งแรกที่ นพ.เรวัตได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ประชุมสนช.ได้ลงคะแนนลับด้วยการใช้เครื่องลงคะแนนเพื่อให้ความเห็นชอบ ผลการลงคะแนนปรากฏว่า นพ.เรวัต ได้รับคะแนนเห็นชอบ 66 ไม่เห็นชอบ 66 งดออกเสียง 24 ซึ่งทำให้ นพ.เรวัตไม่ได้รับเลือกให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แต่ปรากฏว่านพ.เรวัตกลับมาสมัครใหม่ และได้รับการเสนอชื่ออีกหน โดยคณะกรรมการสรรหาต้องโหวตลงคะแนนถึง 30 รอบ กว่าที่ นพ.เรวัตจะได้คะแนนเสียงครบ 2 ใน 3 หรือ 4 คะแนน ชนะ นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ทำคะแนนเบียดกันมาตลอดโดยเสมอกัน3ต่อ3ใน29รอบ

ทั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินจำนวน 6 คน ประกอบด้วย 1.นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานฯ 2.นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 3.นายปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5.พล.ท.ศิลปชัย สรภักดี บุคคลที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก และ 6.นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ บุคคลที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก เป็นกรรมการ

โดยนายปิยะ นายพรเพชร พล.ท.ศิลป์ชัยทั้ ง3 คนลงคะแนนให้ นพ.เรวัตมาตั้งแต่รอบแรก จนมาถึงรอบที่ 30 นายนุรักษ์เปลี่ยนไปลงคะแนนให้ นพ.เรวัตจนชนะนางเสาวณีย์ด้วยคะแนน4-2 ชื่อของ นพ.เรวัตจึงถูกส่งกลับไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อลงมติในตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้งทั้งที่ก่อนหน้านี้มีมติไม่เห็นชอบมาแล้ว

น่าสังเกตว่าบุคคลที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกมาโหวตไปคนละทางกับประธานศาลฎีกาเช่นเดียวกับบุคลลที่ศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกก็โหวตไปคนละทางกับประธานศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ

การถูกโหวตตกไปแล้วแต่กลับมาใหม่ได้ของ นพ.เรวัตจึงถูกมองว่ามีเส้นสายที่ไม่ธรรมดา

ว่ากันว่า เบื้องหลังก็คือ การผลักดันของพี่ใหญ่ คสช. จากการฝากฝังของนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตรมว.สาธารณสุขซึ่งมีความใกล้ชิดกับ นพ.เรวัต
นพ.เรวัต วิศรุตเวช
อย่าลืมว่าคุณหญิงสุดารัตน์กำลังมีบทบาทสำคัญในการอาสาเดินสายเพื่อพูดคุยกับพรรคการเมืองและนักวิชาการ

แม้คุณหญิงสุดารัตน์จะยืนยันในเวลาต่อมาว่า แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ มีเจตนาที่ดีเพื่อให้นักการเมือง และพรรคการเมืองมีการปฏิรูปตัวเองเพื่อประเทศชาติ ไม่ได้รับใบสั่งหรือรับลูกมาจากใคร และไม่ได้ดำเนินการเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมืองหรือมีนัยอื่นแอบแฝง ก็ยากจะมีใครเชื่อ

ว่ากันว่าคุณหญิงสุดารัตน์นอกจากมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพี่ใหญ่ คสช.แล้วยังได้รับความไว้วางใจจากนายใหญ่ให้เป็นผู้นำพรรคคนต่อไปด้วย

ลองนึกดูว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติพร้อมกับคำถามพ่วง พรรคใหญ่ที่แท้จริงที่จะกำหนดบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็คือ ส.ว.จำนวน250คนที่จะมาจากการคัดสรรของ คสช.

คำถามพ่วงที่ว่า“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

ถามยาวให้ชาวบ้านสับสนเปล่าๆ ถามสั้นๆ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯด้วย

เมื่อเป็นเช่นนั้นถ้า คสช.ไม่เห็นชอบกดปุ่มให้ส.ว.ที่ตั้งมากดับมือหนุนฝ่ายไหนก็ยากจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแม้ว่าพรรคการเมืองนั้นจะได้เสียงข้างมาก

การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร ถ้าผลประโยชน์ลงตัวก็กลับมารวมกันได้

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานที่ยืนยันว่านพ.เรวัตมีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทยโดยเคยเป็นคณะทำงานที่ปรึกษาของนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุขในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา

ประวัติและความเป็นมาของ นพ.เรวัตเป็นอย่างนี้ทำไมพี่ใหญ่ถึงยอมเปลืองตัวขนาดนี้เป็นคำถามที่น่าคิด

อย่างไรก็ตามความพยายามผลักดัน นพ.เรวัตกลับเข้ามาเพื่อขอมติใน สนช.อีกครั้งสร้างความไม่พอใจให้กับ สนช.จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะใน สนช.สายทหารรุ่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ และสายนักวิชาการ เพราะเห็นว่า เมื่อมีมติไปแล้วก็ควรจะตกไปการเสนอกลับมาให้ลงมติใหม่ถ้า สนช.โหวตเห็นชอบ นพ.เรวัตก็เท่ากับ สนช.กลืนน้ำลายตัวเอง เหมือนกับเอาขุนพลที่สู้ศึกกันมาไปแลกกับคนๆเ ดียว เพียงเพื่อสานสัมพันธ์กับนักการเมืองของคนๆเดียว รวมทั้งตั้งคำถามต่อนายพรเพชรที่เป็นประธาน สนช.แต่กลับเลือกคนที่ สนช.ไม่ให้การรับรองกลับมาอีก

มีรายงานข่าวว่านายพรเพชร แม้จะได้รับเลือกมาจากสายของพล.อ.ประยุทธ์ แต่ปัจจุบันมีความใกล้ชิดกับพี่ใหญ่ที่เป็นผู้ผลักดัน นพ.เรวัตเป็นอย่างมาก

ไม่เพียงใกล้ชิดกับนักการเมืองหญิงอย่างคุณหญิงสุดารัตน์และค่ายเพื่อไทย ว่ากันว่านพ.เรวัตยังมีความสนิทกับนักการเมืองค่ายภูมิใจไทยและก๊วนซึ่งแวดล้อมพี่ใหญ่ด้วย

ที่ต้องจับตาก็คือผู้ตรวจการแผ่นดินกำลังตรวจสอบกรณีร้านค้าปลอดภาษีคิงเพาเวอร์ในสนามบินสุวรรณภูมิที่อาจารย์ศรีราชาตั้งแท่นเอาไว้แล้ว และอาจมีมติฟ้องแบบเดียวกับปตท.ที่ถูกฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดกรณีไม่คืนท่อก๊าซ

ไม่รู้เหมือนกันว่านี่คือเป้าหมายที่สำคัญที่สุดที่ต้องการผลักดันให้ นพ.เรวัตเข้ามารับตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ เพราะมติของผู้ตรวจการแผ่นดินต้องเป็นเอกฉันท์ถ้ามีผู้คัดค้านเพียงคนเดียวมติก็ตกไปทันที

ความพยายามผลักดัน นพ.เรวัตจบลงไปแล้วหลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกคำสั่งฉบับที่ 40 รวมถึงการปลดชนวนความขัดแย้งใน สนช. แต่จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับพี่ใหญ่หรือไม่ต้องติดตามดู


กำลังโหลดความคิดเห็น