xs
xsm
sm
md
lg

วัด : ที่อยู่ของผู้สันโดษและสงบ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

วัดตามนัยแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 มีอยู่สองอย่างคือ

1. วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา

2. สำนักสงฆ์

วัดเป็นนิติบุคคล มีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป

ที่วัดและที่ซึ่งขึ้นต่อวัดตามนัยแห่งพระราชาคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 32 มีอยู่ 3 ประเภทคือ

1. ที่วัดได้แก่ ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น

2. ที่ธรณีสงฆ์ได้แก่ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

3. ที่กัลปนาได้แก่ ซึ่งมีผู้อุทิศผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสดา

อีกนัยหนึ่งวัดในความหมายของธรรมหมายถึงสถานที่อยู่ของผู้มีศีล เคร่งครัดในคำสอนของศาสดา เป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดในพุทธศาสนาเป็นที่อยู่ของนักบวชผู้มีศีล และปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง

ดังนั้น นักบวชในพุทธศาสนาจึงเป็นผู้มักน้อยและสันโดษ ไม่แสวงหาลาภสักการะจนเกินความจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่ เพื่อการปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะนักบวชสายพระป่าหรืออรัญวาสี จะต้องยึดมั่นในสันโดษ 3 ประการคือ

1.ยถาลาภสันโดษคือ ยินดีตามที่ได้ ยินดีตามที่พึงได้หมายถึงตนได้สิ่งใดมา หรือเพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้ หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา

2. ยถาพลสันโดษคือ ยินดีตามกำลังหมายถึงยินดีแต่พอกำลังร่างกาย สุขภาพ และวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังของร่างกาย หรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตแสดงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่าหรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ยอมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะได้ใช้และรับ หรือแลกเอาสิ่งที่ถูกกับโรคของตน แค่เพียงพอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน

3. ยถาสารุปปสันโดษคือ ยินดีตามสมควรได้แก่เหมาะสมกับตน อันควรแก่ภาวะฐานะแนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะหรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยที่มีค่ามาก เห็นว่าสมควรแก่ท่านผู้ทรงคุณสมบัติอันน่านับถือ ก็นำไปมอบแก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมาก็สละให้แก่ภิกษุรูปอื่นๆ ตนเองเลือกหาของที่มีมาใช้ หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่ก็รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดด้านนั้น ก็สละให้แก่ท่านผู้นั้น ตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน

สันโดษ 3 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นธรรมที่นักบวชผู้มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นจะต้องยึดถือปฏิบัติ จึงจะได้ชื่อว่าเกิดแนวทางแห่งความหลุดพ้น

นอกจากสันโดษ 3 ประการแล้ว นักบวชผู้แสวงหาความหลุดพ้นควรจะต้องปฏิบัติตามแนวทางอริยวงศ์ 4 ประการคือ

1. จีวรสันโดษคือ สันโดษด้วยจีวร

2. ปิณฑปาตสันโดษคือ สันโดษด้วยบิณฑบาต

3. เสนาสนะสันโดษคือ สันโดษด้วยเสนาสนะ

4. ภาวนาปหานารามตาคือ ยินดีในการละอกุศลและเจริญกุศล

วัดใดมีนักบวชเพียบพร้อมด้วยศีล และยึดมั่นในสันโดษ 3 และอริยวงศ์ 4 ดังกล่าวแล้วข้างต้น วัดนั้นได้ชื่อว่าเป็นวัดในความหมายที่ว่าเป็นที่วัดความดีและความชั่วของตน ผู้เข้ามาวัดโดยใช้คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องวัด เมื่อวัดแล้วพบว่ามีความชั่วก็ควรละและถ้ามีความดีก็ควรรักษาไว้ และทำให้เพิ่มขึ้น ถ้าเข้าวัดเช่นนี้ได้ชื่อว่าไปวัด และถึงวัด ได้พบพระที่เป็นพระแท้จริง

แต่ถ้าวัดใดมีแต่นักบวชผู้มากไปด้วยกิเลส มีเพียงเพศและภาวะของนักบวช แต่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมมุ่งแสวงหาแต่ลาภสักการะพัฒนาในด้านวัตถุ ไม่พัฒนาคนให้หลุดพ้นจากความโลภมากไปด้วยความงมงายขายสวรรค์ด้วยเงินผ่อน เดินอยู่บนมรรคา เริ่มด้วยมิจฉาทิฏฐิ และมิจฉาสมาธิ ท่านก็จะไม่มีโอกาสได้ถึงวัด และไม่มีโอกาสได้พบพระที่แท้จริง เมื่อไม่พบพระที่ควรแก่การเรียกว่าพระแล้ว ไหนเลยจะได้เห็นธรรมตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ว่า โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ แปลได้ใจความว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา นี่คือธรรมกายในความหมายจริงๆ

เท่าที่เขียนมาแต่ต้นก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปเปรียบเทียบกับวัด และพระที่อยู่ในวัด เฉกเช่นวัดพระธรรมกายที่มุ่งหมายเพียงแค่การแสวงหาโลกแห่งวัตถุแล้ว ถามตนเองว่า วัดและพระที่อยู่ในวัดเยี่ยงวัดพระธรรมกายนี้ ควรแก่การเรียกวัดและเรียกว่าพระได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระในความหมายแห่งบทสวดสรรเสริญพระสังฆคุณ ซึ่งหมายถึงพระอริยบุคคล 4 คู่ และ 8 บุคคลซึ่งเป็นเนื้อนาบุญของโลก

นอกจากการเปรียบเทียบ เพื่อหาคุณค่าแห่งความเป็นวัดและความเป็นพระแล้ว ควรจะได้หาต่อไปว่าแนวทางที่วัดพระธรรมกายเป็นอยู่ในขณะนี้ สอดคล้องกับแนวทางของพระพุทธองค์หรือไม่ ถ้าพบว่าไม่ คำตอบต่อไปก็คือในฐานะเป็นชาวพุทธ เมื่อเห็นนักบวชกลุ่มหนึ่งกับคฤหัสถ์กลุ่มหนึ่งอ้างความเป็นพุทธ แต่คำสอนและแนวทางปฏิบัติสวนทางกับคำสอนที่แท้จริง ท่านจะทำอย่างไร และถ้าคิดไม่ออกก็ลองย้อนไปดูแนวทางการทำสังคายนาครั้งที่ 3 เมื่อพระโมคคัลลีบุตรพบว่า พวกนอกศาสนาปลอมบวช และนำเอาความคิดเห็นของตนเองมาสอน โดยอ้างว่าเป็นของพระพุทธองค์ จึงได้ไปขอความอนุเคราะห์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ช่วยจัดการกำจัดพวกนักบวชจอมปลอมเหล่านี้แล้ว จึงทำสังคายนา นี่คือคำตอบที่อาจได้เห็นในกรณีของการใช้มาตรา 44 กับกรณีของพระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกายในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น